วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565

"ธนาธร-ศิริกัญญา" ร่วมจับตา กสทช. จ่อเคาะควบรวม 'ทรู-ดีแทค' หรือไม่ ย้ำขอต้านทุนผูกขาด ชี้ กระทบประชาชน พิสูจน์ไม่ได้ว่าควบรวมแล้วคุณภาพดีขึ้น

 


"ธนาธร-ศิริกัญญา" ร่วมจับตา กสทช. จ่อเคาะควบรวม 'ทรู-ดีแทค' หรือไม่ ย้ำขอต้านทุนผูกขาด ชี้ กระทบประชาชน พิสูจน์ไม่ได้ว่าควบรวมแล้วคุณภาพดีขึ้น


วันนี้ (20 ต ค. 2565) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเดินทางเข้าสังเกตการณ์กรณี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดประชุมวาระพิเศษลงมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค พร้อมกับมวลชนที่มาปักหลักเฝ้ารอผลที่สำนักงานเช่นกัน


โดย ธนาธร กล่าวว่า มวลชนที่มาติดตามการประชุมในวันนี้มีจุดยืนชัดเจน คือไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ เพราะจะทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดคมนาคมในประเทศไทยจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ซึ่งอาจทำให้ค่าบริการแพงขึ้น คุณภาพต่ำลง การแข่งขันลดลง จะไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคและการพัฒนาอุตสาหกรรมคมนาคมของประเทศไทย 


พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าพร้อมยืนเคียงข้างประชาชนเพื่อส่งเสียงว่าไม่ต้องการการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม อยากเห็นการแข่งขันที่นำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ราคาที่ถูกลงสำหรับการเข้าถึงทั้งโทรศัพท์และการเข้าถึงข้อมูล


ธนาธร ยังระบุว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า หากมีการควบรวมจะทำให้ราคาสูงขึ้น และแนวโน้มคุณภาพต่ำลง มีโอกาสที่เงินในกระเป๋าประชาชนจะลดน้อยลง เนื่องจากค่าบริการแพงขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราบริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านระบบโทรคมนาคมมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นผลกระทบที่ชัดที่สุดคือภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่วันนี้ใครเข้าถึงข้อมูล คือการเข้าถึงโอกาส เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนจนก็มีโอกาสเข้าถึงความรู้ เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้น้อยลง


ส่วนกรณีที่มีการมองว่าหากมีผู้ให้บริการเพียง 2 รายจะทำให้มีศักยภาพทางการแข่งขันสูงขึ้น ราคาถูกลงนั้น ธนาธร ได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศว่าหากเหลือผู้แข่งขันน้อยลง ผลส่วนใหญ่ออกมาว่าราคาแพงขึ้น แม้มีบางกรณีที่ราคาถูกลง แต่สิ่งที่สำคัญคือในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเท่าหรือใหญ่กว่าประเทศไทย ไม่มีประเทศไหนมีผู้ให้บริการ 2 ราย 


และหากผู้แข่งขัน 2 รายไม่แข็งแกร่ง อาจทำให้ธุรกิจตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนเหลือรายเดียวและเกิดการผูกขาดนั้น ธนาธร มองว่า ประเทศไทยมีทางออกอื่น ซึ่ง ศิริกัญญา ก็เคยเสนอในสภาฯ ให้ฝ่ายบริหารหาผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่ากิจการโทรคมนาคมมีความสำคัญ ก็สามารถเข้ามามีส่วนในการหาผู้ซื้อรายใหม่ สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือเดินทางไปทั่วโลก หาผู้ซื้อ ผลักดันให้เกิดการเจรจา ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้โดยไม่ต้องพึ่งกสทช. 


"มติที่ประชุมวันนี้มีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่กระเป๋าเงินของผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงการพัฒนาโทรคมนาคมในอนาคต รวมถึงสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลด้วย หากมีการอนุญาตให้เกิดการควบรวม ต้องมีมาตรการที่ป้องกันไม่ให้เกิดฮั้วราคากัน ป้องกันการผูกตลาด เช่น การบังคับให้ต้องมี MVNO ที่สัดส่วนนัยสำคัญในตลาดให้ได้ภายในกี่ปี หรือการคายคลื่นความถี่ออกมาเพื่อให้เกิดการประมูลใหม่ นี่เป็นมาตรการเชิงโครงสร้างที่จะป้องกันการผูกขาดในอนาคตได้ แต่ตนเชื่อว่าเมื่อผูกขาดได้ จะทำให้กลับมาเป็น 3 เจ้ายากมาก โดยหากมีการควบรวมจริง ก็จะเกาะติดมาตรการที่ กสทช.วางไว้"


ธนาธร ยังย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ ส่วนกรณีที่มีการมองว่าเป็นการประลองกำลังกันของกลุ่มทุนยักษ์ว่าเป็นเรื่องปกติที่องค์กรธุรกิจต้องการกำไรสูงสุด แต่การมีผู้เล่นในตลาดเพียง 2 เจ้ากำไรสูงสุดไม่ได้มาจากการแข่งขัน แต่มาจากการไม่ลดราคา ส่วนกรณีที่มีการมองว่าการควบรวมกิจการจะทำให้ได้คุณภาพการบริการดีขึ้นนั้น นายธนาธรถามกลับว่าพิสูจน์ได้อย่างไร ว่าหากควบรวมแล้วจะทำให้ดีขึ้นได้จริง


นอกจากนี้ ยังฝากถึงบอร์ด กสทช.ว่า ให้คำนึงถึงประชาชน พร้อมฝากช่วยติดตามกรณี สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ถูกฟ้องร้องกรณีเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาผลการศึกษาเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค เพราะข้อมูลภาครัฐควรเปิดเผยได้ และคนที่นำมาเปิดเผยควรได้รับการปกป้องจากสังคม


จากนั้น ได้เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนประธาน และเลขาธิการสำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้สำนักงาน กสทช. ลงมติกรณีควบรวมทรู-ดีแทค อย่างเป็นอิสระ คำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หยุดผูกขาดมือถือ #กสทช