ปาฐกถาพิเศษ : นพ.เหวง โตจิราการ : ขบวนการในอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา และความหวังต่อนักศึกษาในอนาคต
ในงานรำลึกนักศึกษามหิดลและวีรชน
6 ตุลา : สานแรงกล้าแห่งเสรีภาพจากพี่สู่น้อง” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ
ลานพระราชบิดา อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จัดโดย สภานักศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล
สวัสดีเพื่อนนักศึกษารุ่นปัจจุบัน
และสวัสดีเพื่อนนักศึกษารุ่นตั้งแต่ก่อน 14ตุลา มาจนถึง 6ตุลา และหลัง 6ตุลา
ทุกท่าน
ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณสภานักศึกษามหิดลรุ่นปัจจุบัน
สโมสรนักศึกษาปัจจุบัน ที่จัดงานนี้ขึ้น และให้เกียรติเชิญผมมาร่วมงานนี้
ผมได้ฟังเพื่อนร่วมต่อสู้ร่วมอุดมการณ์ของผมหลายท่านได้บอกเล่าเรื่องราวของนักศึกษามหิดลในช่วงวิกฤตที่สุดก็คือช่วง
6ตุลา รวมไปถึงหลังจากนั้นก็คือช่วงต่อสู้ด้วยอาวุธในป่าเขาลำเนาไพรมาแล้ว
อันนี้ผมต้องเรียนที่ประชุมนะครับว่า
ส่วนตัวผมถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่รุ่งโรจน์โชติช่วง ช่วงหนึ่งของนักศึกษามหิดล
แม้เราต้องพลีชีพเสียสละชีวิตของนักศึกษามหิดลไปจำนวนหนึ่ง เท่าที่ผมทราบก็คือ 23
ท่าน มี 2 ท่าน ก่อนเหตุการณ์ 5 ท่าน ในระหว่างเหตุการณ์ 15 ท่าน ในป่าเขาลำเนาไพร
และอีก 1 ท่าน โดนอำนาจอำมหิตของเผด็จการเข่นฆ่าอย่างหฤโหด
ผมอยากขออนุญาตที่จะเรียนที่ประชุมนะครับว่า
เราจะมีท่าทีต่อการเสียสละของเพื่อนร่วมอุดมการณ์และเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษาของเราอย่างไร
แน่นอนครับ ทุกคนจะรู้สึกเจ็บปวด รวดร้าว ขมขื่น เศร้า ลึกในหัวใจอย่างไม่มีวันลืมเลือน
แต่ผมขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาในแง่มุมเดียวกับผม
ท่านจะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ เป็นดุลยพินิจวิจารณญาณของท่านทั้งหลาย
ผมถือว่าการเสียสละพลีชีพของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษาของผมและของทุกท่านในที่นี้
เป็นเกียรติอันสูงส่งของมนุษย์คนหนึ่งที่จะพลีชีพได้ ที่จะได้ในการเป็นมนุษย์
ขอทุกท่านปรบมือให้เกียรติกับทุกท่านที่พลีชีพด้วยครับ (เสียบปรบมือดังกึกก้อง) ผมคิดว่าเป็นเกียรติอันสูงส่งนะฮะ
ที่ได้พลีชีพไป ที่ได้เสียสละไป ท่ามกลางเปลวเพลิงของการต่อสู้ที่ดุเดือดแหลมคม
ดังนั้น
ผมจะขอเติมจากสิ่งที่เพื่อนร่วมสถาบัน เพื่อนร่วมอุดมการณ์ผมได้พูดมาแล้ว
ไม่ว่าคุณหมอมิ้ง, คุณเนตร, คุณจุ๊ และอีกหลายคน คุณจิ้น ได้พูดไปแล้ว ผมขอเติม
ส่วนนั้นนี่ผมเห็นด้วยและผมก็เคารพ แต่ผมขอเติมก็คือว่า ข้อแรกผมอยากจะกราบเรียนทุกท่านนะฮะว่า
การต่อสู้ 14ตุลา 6ตุลา เรามองอย่างแยกส่วนไม่ได้ครับ มันเป็นกระแสคลื่นใหญ่
และกระแสคลื่นใหญ่อันนี้ยังไม่ได้หยุด ยังไม่ได้หายไป
มันยังไหลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น
กระแสคลื่นต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์
กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นเผด็จการจารีตนิยม อำนาจนิยม ต้องการที่จะกดขี่ข่มเหงคนอื่น
เหยียบย่ำคนอื่น ลิดรอนสิทธิเสรีภาพคนอื่น กระแสนี้ยังอยู่ ปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่
และกระแสนี้ผมเชื่อว่าอาจจะถาโถมกลายเป็นคลื่นใหญ่รุนแรงต่อไปในอนาคตอีกไม่ยาวไกล
และผมคาดว่านักศึกษามหิดลคงจะปักใจเดินตามรอยวีรชนประชาธิปไตยมหิดลของเราเมื่อปี 16
และ 19 นะครับ
“มหิดล”
เป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของพวกเราทุกคน ที่จริงสมัยที่ผมเข้ามาเป็นนักศึกษามหิดล
ผมเข้ามาก่อนคุณหมอพรหมินทร์นะครับ จริง ๆ อาจจะเข้ามาใกล้เคียงกับคุณหมอเชิดชัยในที่นี้
แต่สมัยที่ผมเข้ามานะครับ ขออนุญาตเรียนที่ประชุมว่าเป็นสมัยที่มืดมิดที่สุดของวงการเมืองประเทศไทย
และเป็นสมัยที่มืดมิดที่สุดของวงการนักศึกษาและการต่อสู้ของนักศึกษา จนคุณสุจิตต์
วงษ์เทศ เขาได้เขียนเป็นบทกลอนไว้ว่า
“กูเป็นนิสิตนักศึกษา
วาสนาสูงส่งสโมสร
ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์
เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี”
ท่านจะได้เห็นภาพเลยนะครับว่าบรรยากาศของนักศึกษาสมัยนั้นเป็นยังไง?
ผมเพิ่งเริ่มแค่นั้นเองนะฮะ เพื่อที่จะกราบเรียนที่ประชุมแห่งนี้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษามหิดลสูงเด่นมาก
ในกระแสการต่อสู้ของนักศึกษาทุกสถาบัน ระยะนั้นมืดมิดฮะ นักศึกษาส่วนใหญ่อย่างที่คุณสุจิตต์ใช้คำพูดที่ว่า
เย็นนี้จะไปงานสโมสรที่ไหน กูเป็นนิสิตนักศึกษา แล้วก็วาสนาสูงส่งสโมสร ค่ำนี้กูจะย่ำไปงานบอลล์
เพื่อเสพเสน่ห์เกสรสุมาลี เพราะฉะนั้นบรรยากาศเป็นอย่างนี้ทั้งหมด
แต่มหิดลค่อย
ๆ ตื่นตัวขึ้นมาครับ แล้วมหิดลมีหน่วยอิสระ มหิดลเอาหนังสือพิมพ์ 1 บาทมาขายนักศึกษา
ผมว่าอย่างน้อยก็สัปดาห์ละครั้ง บาทเดียวทุกคนก็ซื้อ ตอนแรกก็อาจจะไม่อ่าน แต่ต่อไปก็อ่าน
ๆ ๆ ๆ ความตื่นตัวมันขึ้นมาเรื่อย ๆ
ที่ผมเล่านี่ตั้งแต่ปี 10-11-12 ซึ่งคุณหมอมิ้งก็ยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ประมาณนั้น
ขออนุญาตด้วยความเคารพ ค่อย ๆ สะสมขึ้นมาเรื่อย ๆ จนที่สุดแรงกระแสนักศึกษามันขึ้น
ก็คือต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น แล้วก็มาต่อต้านกฎหมายโบว์ดำ นักศึกษามหิดลก็เข้าร่วม แล้วไปจนถึงลบชื่อนักศึกษารามฯ
9 คน เนื่องจากไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร นักศึกษาสมัยนั้นเขาแหลมคมและฉลาด แต่นักศึกษามหิดลก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสถาบันอื่นเลย
รามคำแหงเขามีชมรม
ผมเรียกชื่อชมรมไม่ถูกละ ไปออกวารสารบอกว่า “สภาสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ลงมติเป็นเอกฉันท์ต่ออายุให้สัตว์ป่า”
โอ้โห ทิ่มแทงจอมพลระดับสูง 2-3 คนเลย เขาเลยปลดออก กลายเป็นกระแสสูง
มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พวกเราก็ไปเข้าร่วม
จากนั้นมาก็ยังนัดกันไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพราะว่าจอมพลถนอมสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ
แต่กว่าจะร่างเสร็จปีโน้นยังไม่ได้ร่าง ไม่ได้โผล่อะไรเลย
ก็เลยสลายตัวโดยการชูคำขวัญว่าเราเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แล้วนัดหมายกัน 6ตุลา
มาแจกใบเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
พอพวกเขาจับปุ๊บ
“เสกสรรค์” ก็จัดชุมนุมขึ้นที่ลานโพธิ์เลย ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาแพทย์รามาแล้ว
แล้วความที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม พี่ ๆ ที่เป็นคณะแพทย์ศาสตร์ทั้งหลายเขาไม่ได้อยู่นิ่งดูดายนะ
เขาก็จัดกันเป็นศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย
รวมสถาบันทางการแพทย์ทุกแห่งเข้าด้วยกันเพื่อไปบริการประชาชนโดยใช้วิชาชีพแพทย์
.
เสกสรรค์ก็นัดประชุมที่ลานโพธิ์เลย
ผมก็ไปซิครับ ผมไปเพราะผมไปเกือบจะทุกงาน ไปถึงเสกสรรค์ก็บอก “เหวง
มึงไปจัดหน่วยหมอมา” ผมก็ตกใจนะ ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ตัวเล็ก ๆ คนเดียว
ผมจะไปจัดหน่วยหมออะไร พอไปนั่งคิดกลางคืนนั้น โอ้ ผมมีทางแล้วเพราะผมมีพี่ ๆ
อยู่ในศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล ร่วมกัน
แล้วก็มีเชียงใหม่ด้วยนะฮะ คือเชียงใหม่ใช้วิธีติดต่อทางไกล ผมก็เลยไปหาพี่ ๆ
ทุกคนเลย และไปหาอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษา ก็เลยก่อรูปเป็นนี่แหละ พมช.
ตอนแรกเรียกเป็น “หน่วยแพทย์ดูแลการชุมนุม” จากวันนั้นเป็นต้นมาก็ค่อย ๆ
ก่อรูปเพราะว่าคนเข้ามาเยอะ แพทย์จากศิริราชก็มา แพทย์จากรามาฯ ก็มา แพทย์จากจุฬาฯ
ก็มา
.
ไม่เพียงแต่แพทย์
ผมก็วิ่งไปหาพยาบาลด้วย ขออนุญาตด้วยความเคารพ สมัยโน้นนะประเพณีโบราณมันสาหัสนะ
ผมเข้าไปหอพยาบาลไม่ได้นะ เขาปิดเลย 4 โมง 5
โมงเย็นเขาปิดเลยไม่ให้นักศึกษาชายเข้า แต่ผมก็เล็ดลอดเข้าไปจนได้เพื่อไปติดต่อกับเพื่อน
ๆ ที่เป็นพยาบาลทั้งรามาฯ ด้วย ทั้งศิริราชด้วย ทั้งจุฬาฯ ด้วย ผมไปหมด แล้วจัดตั้งเป็นหน่วยขึ้นมาได้
.
นี่ก็คือจุดตั้งต้นของ
พมช. และจากนั้นพอมีแพทย์มีรุ่นพี่มาคิดกันก็เลยสามารถที่จะหารูปแบบได้ก็คือหาหน่วยเล็ก
ๆ 3 คน มีร่วมยาแทรกซึมคือกระจายไปยังผู้ชุมนุมทั้งหมด
เสกบอกพรุ่งนี้เขาจะเดินออกจากธรรมศาสตร์นะ คือวันที่ 13ตุลา16 ผมก็เลยมาปรึกษา ก็เลยจัดเป็นแนว
คือรู้ขบวนเพราะเสกเขาบอกผม ขบวนจะเดินยังไง ออกทางไหน ยังไง
ผมก็เลยบอกพวกเราให้จัดเป็นหน่วยเป็นสองแนวเลย คู่ขนานไปกับแนวใหญ่
แล้วก็หน่วยเคลื่อนที่เร็วอยู่ในขบวนใหญ่
.
หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาหลังจากที่จบ
14ตุลา16 ก็มีการประชุมกัน น่าเสียดายหลายคนเขาเปลี่ยนอุดมการณ์ไปแล้ว
ก็เลยคลอดออกมาเป็น พมช. แล้วก็อย่างที่มิ้ง กับจุ๊ กับเนตรนภา
อันนี้เขาเล่าไปแล้ว
.
ผมอยากจะพูดอีก
2 ประเด็น
.
ประเด็นที่
1 ท่านทั้งหลายครับ ท่านต้องเข้าใจนะครับว่านักศึกษามหิดล
เวลาปักใจสู้แล้วนักศึกษามหิดลสู้ใจขาด ไม่มีถอยครับ
เพราะว่านักศึกษามหิดลทุกคนรู้แล้วว่าสิ่งที่เขาสู้นั้นถูกต้อง เขาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ
เสมอภาค ความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ ความเป็นประชาธิปไตย
และชีวิตที่ดีขึ้นของกรรมกร ชาวนา แล้วมันผิดตรงไหนครับ
เมื่อเป็นอย่างนี้เขาก็ปักใจสู้เลยครับ ไม่มีกลัวครับ แต่ว่าทุกคนยืนยัน “สันติวิธี”
นี่คือประการที่ 1
.
ประการที่
2 ก็คือว่า มหิดลเนี่ยนะ ท่านอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยกับผม ผมยินดี! แต่ผมปักธงไปเลยว่ามหิดลเป็นหัวหอกการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดของ
14ตุลา16 มาจนถึง 6ตุลา19
.
เพราะหลัง
14ตุลา16 ขออนุญาตด้วยความเคารพบางท่านอาจจะยังไม่รู้
ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ถูกไล่ครับ
ถูกไล่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เปิดประตูต้อนรับอย่างเต็มที่เลย และเข้ามาอยู่ที่นั่นอย่างอบอุ่น มีการชุมนุมของอะไร
มาที่นั่นตลอด
.
เพราะฉะนั้น
นี่ไง ชนชั้นปกครองเขาถึงเกลียดกลัวมหิดลมาก เขาถึงบอก “มหิดล” ร้ายกาจที่สุด
ไม่เฉพาะแต่คณะเภสัชฯ นะครับ ตอนนั้นผมเป็นนายกสโมสรแล้ว
ศูนย์นักเรียนแห่งประเทศไทยเขามาถามผม เขาถูกไล่ออกจากทุกที่ ขออนุญาตพูด ไม่มีอะไรผิด
เพราะเวลามันผ่านไปแล้ว 46 ปี เตรียมอุดมฯ ก็ไล่ออกมา
เพราะมันมีประมาณว่าชมรมนักเรียนเตรียมอุดม ชมรมนักเรียนสวนกุหลาบ ชมรมนักเรียนนั้นนักเรียนนี้
แล้วก็ก่อรูปเป็นศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ถูกไล่ออกมาหมดเลยครับ
ผมนี่เปิดประตูรับมาเลยครับ นี่ไง! ตึกสันทนาการ แล้วปรากฏว่าน้องนักเรียนทุกคนเอาการเอางานมาก
เพราะสมัยโน้นในการที่จะติดต่อสื่อสารประชาชนต้องใช้กระดาษแล้วติดแป้งเปียกครับ
ดังนั้นตึกสันทนาการเป็นศูนย์กลางของการต้มแป้งเปียก กวนแป้งเปียกจนละเอียด
เริ่มตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่ม ไปเสร็จตี 2 แล้วจากตี 2 ก็ติดจน 6 โมงเช้า
เพราะฉะนั้นพวกขวาจัดกลัวมาก เพราะว่า “มหิดล”
เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของทั้งนักเรียนและของทั้งนิสิตนักศึกษา ต้องเรียกว่าทั่วประเทศ
เพราะศูนย์นิสิตฯ ศนท. เวลาจะประชุมเคลื่อนไหวกันมาประชุมคณะเภสัชฯ ครับ ศูนย์นักเรียนฝ่ายปฏิบัติการทั้งหมดเวลาจะปฏิบัติการอะไรก็มาประชุมกันที่ตึกสันทนาการครับ
.
ผมขออนุญาตกราบเรียนเป็นหัวข้อสุดท้ายว่า
ท่านที่เคารพทุกท่านโปรดประเมินการเสียสละของเพื่อนนักศึกษามหิดล
ของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของทุกท่านและของผมด้วยว่า การเสียสละของพวกเขานั้นเป็นการเสียสละเยี่ยงวีรชนประชาธิปไตยครับ
การเสียสละของเขานั้นเราสามารถพูดได้ว่าวีรชนประชาธิปไตยมหิดลของเราทุกคนนั้นมีชีวิตอยู่อย่างยิ่งใหญ่
ตายอย่างมีเกียรติ เพราะเวลามีชีวิตอยู่ก็ทุ่มโถมชีวิตของเขาเลยนะ
ให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเท่าเทียมกันของประชาชน ทุ่มโถมชีวิตเลยนะ
ถ้าท่านสมมุติถ้าย้อนเวลาหาอดีตได้ให้ท่านไปดูซิครับ เขาทำงาน 24 ชั่วโมงเลยนะ
บางทีสัปดาห์หนึ่งไม่ได้นอนเลย มีครับ ทุ่มเข้าไปเลย
เพราะฉะนั้นพวกนี้อยู่อย่างยิ่งใหญ่ เพราะเวลามีชีวิตอยู่ ชีวิตเขาอุทิศให้กับการต่อสู้ของประชาชน
ตายอย่างมีเกียรติ เพราะว่าเขาตายเพื่อการต่อสู้ของประชาชนครับ
.
ดังนั้นผมขออนุญาตที่จะทิ้งท้ายว่า
ผมอยากจะกราบเรียนให้ทุกท่านได้ถือเอาวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษานี้เป็นแบบอย่าง
แล้วเดินตามรอยไปบนเส้นทางนี้ เพราะว่าท่านครับ วันนี้ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยครับ
ประเทศไทยยังไม่มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคและความเท่าเทียมกันครับ ไม่มีครับ
ยังเป็นเผด็จการที่ร้ายกาจที่สุด เพราะมันเป็นเผด็จการซ่อนรูปครับ ข้างนอกมันแต่งตัวประชาธิปไตย
แต่แก่นของมันคือเผด็จการ เพราะฉะนั้นพวกเรายังต้องสู้ต่อครับ พวกเราจะสู้ต่อมั้ยครับ?
.
ผมขอฝากบทกวีสุดท้ายของ
“จิตร ภูมิศักดิ์” ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ท่านจำ! ผมชอบมาก
แต่จิตรไม่ได้แต่งเองนะ จิตรไปเอามาจากอาร์ เมเนีย ชื่อ อาเวตีก อีสากยัน (Awetik
Issaakjan)
.
“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”
.
ขอบพระคุณมากครับ
สวัสดีครับ
.
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #เหวงโตจิราการ
#มหิดล #46ปี6ตุลา #สังหารหมู่ธรรมศาสตร์