วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ธรรมศาสตร์ จัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตัวแทนองค์กรนักศึกษาและภาคส่วนต่าง ๆ พรรคการเมือง นักการเมือง ร่วมวางพวงหรีด รางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” มอบให้ “วาฤทธิ์ สมน้อย” เหยื่อสลายชุมนุมที่ดินแดง เกือบวุ่นเหตุ ครย.112 ขออ่านแถลงการณ์แต่ผู้จัดงานไม่อนุญาต


ธรรมศาสตร์ จัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตัวแทนองค์กรนักศึกษาและภาคส่วนต่าง ๆพรรคการเมือง นักการเมือง ร่วมวางพวงหรีด รางวัล “จารุพงษ์ทองสินธุ์” มอบให้ “วาฤทธิ์ สมน้อย” เหยื่อสลายชุมนุมที่ดินแดง เกือบวุ่นเหตุ ครย.112 ขออ่านแถลงการณ์แต่ผู้จัดงานไม่อนุญาต

 

วันนี้ (6 ต.ค. 2565) ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ที่ มธ.และสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 สำหรับพิธี ประกอบด้วยการทำบุญตักบาตร ยืนสงบนิ่งไว้อาลัยอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิต และวางพวงหรีดช่อดอกไม้ บริเวณประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 19 มีตัวแทนองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมคับคั่ง อาทิ สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษา มธ.ญาติวีรชน 6 ตุลา อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา สหภาพและสหพันธ์แรงงาน เครือข่ายเดือนตุลา กลุ่มทะลุฟ้า นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน กลุ่ม Wevolunteer พรรคโดมปฏิวัติ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร นายสิรวิชญ์ เสรีภิวัฒน์ หรือ จ่านิว อดีตแกนนำต่อต้านคสช.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองที่มาร่วมวางพวงมาลาคำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นพ.ชลนาถ ศรีแก้ว, นายจาตุรงค์ฉายแสง, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.ทศพล เสรีรักษ์,  นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช จากพรรคเพื่อไทย นายพิธา เจริญรัตน์, นางสาวพรรณิการ์ วานิช , นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แกนนำพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า, นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย และสมหมาย บุญเฮง ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ และตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนากล้า

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างพิธีการพวงหรีดดำเนินอยู่ ได้มีคณะรณรงค์ยกเลิก ม.112

นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายเจษฏา ศรีปลั่ง ร่วมกับกลุ่มทะลุวัง นำโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง และ น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ 2 ผู้ต้องหา ม.112 ที่อยู่ระหว่างการประกันตัวสวมกำไลอีเอ็มข้อเท้า นำพวงหวีดที่สร้างเป็นรูปศาลมาวาง ทั้งพยายามจะเข้ามาขออ่านแถลงการณ์ กลุ่มแต่ผู้จัดงานไม่อนุญาต ทั้งหมดจึงได้ร่วมกันแสดงเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการนำเลือดสัตว์สด ๆ มาเทบนลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา แล้วให้ตัวแทนลงมานอนบนกองเลือด มี น.ส.ณัฐนิช จงใจสวมชุดไทยสีน้ำเงินมาแล้วใช้เท้าเหยียบบนหลังผู้ที่กำลังนอนโดยให้ผู้ร่วมงานตีความหมายกันเอาเอง

 

ทั้งนี้หลังจากพิธีวางพวงมาลาแล้วได้มีปาฐกถา รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในหัวข้อ "ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง ใจความสำคัญของปาฐกถาในครั้งนี้ คือการพูถึงเรื่องของการต่อสู้ การชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มเยาวชนนิสิต นักศึกษา ในปัจจุบันที่มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง ผ่านข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ 1)ให้พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก 2)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3)ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้ว่าจะบางกลุ่มจะสลายตัวไปหรือถอยร่นลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และโซเชียลมีเดีย จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย และไม่ว่าจะมีการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมอย่างไร แต่ กลุ่มเยาวชน รวมทั้งประชาขนที่เข้าร่วมก็ยังคงต่อสู้ต่อไป ไม่ยอม และไม่มีวันตาย ตามแนวคิด "การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในโลกนี้เริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม" 

 

ต่อมา สภานักศึกษามธ.มีการมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ให้แก่ ด.ช.วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊ซ และถูกกระสุนปืนที่ศีรษะที่หน้า สน.ดินแดง ในวันที่ 16 ส.ค. 64 จนเสียชีวิต โดยมีนพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตส.ส.เพื่อไทย เป็นผู้รับรางวัลแทน มีการชวนให้ผู้เข้าร่วมยืนไว้อาลัยพร้อมเป่าเม้าท์ออร์แกนเพลงเพื่อมวลชน

 

เวลา 10.05 น. ได้เกิดปรากฏการณ์ครั้งแรกในงานรำลึก 6 ตุลา เมื่อเครือข่ายม็อบราษฎร ประกอบด้วยทะลุฟ้า ทะลุวัง ครย.112 นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ฯลฯ ตั้งโต๊ะกลางงานก่อนอ่านแถลงการณ์ประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวราษฎร

 

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการปราบปรามและประชาทัณฑ์ นิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่เข้ามาชุมนุมต่อต้านเผด็จการ ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยกองกำลังกึ่งทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และประชาชนผู้เห็นต่างกับผู้ชุมนุม ภายใต้ชื่อแนวร่วมกลุ่มนวพล - กระทิงแดง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 45 ราย บาดเจ็บและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ขณะที่ ผู้ก่อเหตุซึ่งมีหลายภาคส่วนไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างไร ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาฯ ทำให้หลายคนตัดสินใจเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา และเหตุการณ์การต่อสู้ดังกล่าวก็ถูกเล่าขาน บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ทียึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยปัจจุบัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #46ปี6ตุลา #สังหารหมู่ธรรมศาสตร์