ศาลไม่ให้ประกันตัว คทาธร-คงเพชร เป็นครั้งที่ 8 ทำให้ถูกคุมขังมา 177 วันแล้ว ด้านทนายยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อทันที โดยศาลนัดฟังคำสั่ง 5 ต.ค. นี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกัน “คทาธร” และ “คงเพชร” 2 นักกิจกรรมกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นครั้งที่ 8 หลังทั้งสองถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 ระหว่างเดินทางไปร่วมงาน #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม จากเหตุมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นสอบสวนเรื่อยมาถึงชั้นพิจารณาคดี ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 หลังจากยื่นคำร้องขอประกันทั้งสอง ต่อมาศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดิม
ครั้งนี้เป็นการยื่นคำร้องครั้งที่ 8 โดยเนื้อหาของคำร้องระบุความประสงค์ขอยื่นประกันโดยวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 100,000 บาท ยินยอมให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และเสนอให้ศาลแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่มีความน่าเชื่อถือให้เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อกำกับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด
โดยเสนอให้ศาลแต่งตั้ง นายนิเวศน์ (สงวนนามสกุล) ผู้ให้ความช่วยเหลือในการเลี้ยงชีพของคทาธรมาตลอดเป็นผู้กำกับดูแลของคทาธร และเสนอให้แต่งตั้ง นางสาวหนูดอน (สงวนนามสกุล) มารดาของคงเพชร เป็นผู้กำกับดูแลของคงเพชร
ทนายยังได้ระบุในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกว่า ที่ผ่านมาศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวและยกคำร้องเรื่อยมาตลอดทั้ง 7 ครั้งที่ผ่านมา ด้วยเห็นว่า ความผิดที่กล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทนายความจึงได้ระบุเหตุผลที่จำเลยทั้งสองสมควรที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยสรุป ดังนี้
1. หากศาลเห็นว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไปแล้วจำเลยอาจหลบหนี ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสถานที่อยู่ หรือเงื่อนไขที่ป้องกันไม่ให้จำเลยหลบหนีได้
2. การที่ศาลเห็นว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไป จำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งเป็นการคาดการณ์การกระทำในอนาคต ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการที่ศาลเห็นว่าจะเป็นการไปก่อภยันอันตรายเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตาม และหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ศาลสามารถเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้
3. พยานหลักฐานทั้งหมดในคดีนี้ได้ถูกรวบรวมและอยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการโจทก์แล้วทั้งหมด หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไป ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
ต่อมาศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม โดยระบุว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”
หลังจากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ครั้งที่ 8 ของศาลอาญา โดยศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 5 ต.ค. 2565
ทำให้จนถึววันนี้ (4 ต.ค.65) คทาธรและคงเพชรถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลากว่า 177 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 นับเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเป็นระยะเวลานานที่สุดในระลอกนี้ โดยก่อนหน้านี้ ศาลอาญาได้นัดสืบพยานในคดีนี้ในวันที่ 7 มี.ค. 2566 หากไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา ทั้งคู่จะต้องถูกคุมขังต่อไปจนกว่าจะสืบพยานเสร็จและศาลมีคำพิพากษา
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR