วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565

“สภาฯ ผู้บริโภค” จับมือ “พรรคก้าวไกล” ลุยฟ้อง กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ร้องศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน พร้อมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบมติเสียงข้างมากคลุมเครือ ตัดอำนาจตัวเอง พร้อมจี้รัฐบาลแสดงท่าทีหลังประชาชนเสียประโยชน์

 


“สภาฯ ผู้บริโภค” จับมือ “พรรคก้าวไกล” ลุยฟ้อง กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ร้องศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน พร้อมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบมติเสียงข้างมากคลุมเครือ ตัดอำนาจตัวเอง พร้อมจี้รัฐบาลแสดงท่าทีหลังประชาชนเสียประโยชน์

 

วันที่ 21 ต.ค. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดงานแถลงข่าว เตรียมขอคุ้มครองฉุกเฉินกรณีควบรวมทรู-ดีแทค และร้อง ป.ป.ช. เหตุ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สืบเนื่องจากมติเสียงข้างมากของกรรมการ กสทช. รับทราบการควบรวมกิจการดังกล่าว ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนและความพร้อมในการดำเนินการขั้นต่อไปในนามของสภาองค์กรของผู้บริโภค และพรรคก้าวไกล

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า รู้สึกผิดหวังที่ กสทช. ไม่ใช่อำนาจอย่างเต็มที่ ทำได้เพียงรับทราบข้อเสนอของสำนักงานภาคเอกชน ทั้งศาลปกครองและสำนักงานกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยว่ากรณีนี้อยู่ในอำนาจของ กสทช. แต่มติเสียงข้างมาก 2 ท่าน ยังเลือกลงมติดังที่ปรากฏ สะท้อนว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ สภาองค์กรจะเร่งดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ให้ไต่สวนเป็นการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษา และจะยื่นฟ้อง ป.ป.ช. อีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยตรวจสอบ

 

สำหรับความเห็นต่อการที่ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการก่อนการควบรวมนั้น แต่ในด้านโครงสร้างจะเห็นได้ว่า มีการเสนอให้คืนคลื่นบางส่วน เนื่องจากการควบรวมนี้อาจส่งผลให้คลื่นของกลุ่มกิจการที่ควบรวมมีมากกว่ากิจการอื่น แต่ตนเห็นว่าแทนที่จะออกมาตรการแก้ไขปัญหา กสทช. ควรออกมาตรการเพื่อป้องกันปัญหามากกว่า คือไม่ควรพิจารณาให้ควบรวมตั้งแต่แรก

 

"กสทช. อย่างน้อย 2 ท่าน ที่ลงมติเพียงรับทราบ ถือว่าเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่ใช่เพียงสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือพรรคก้าวไกล ผู้เสียหายทั้งหลายสามารถมาร่วมได้ ใครที่เป็นลูกค้าของทั้งทรูหรือดีแทค เพียงมีใบเสร็จก็สามารถมาร่วมฟ้องคดีได้ สามารถติดต่อมาได้เลย เพราะมติของ กสทช. เป็นที่สุด อุทธรณ์ไม่ได้ จึงจะตรงไปที่ศาลปกครองเลย" สารี ระบุ

 

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมการการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมฯ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า กสทช. ปฏิเสธอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด

 

ทั้งนี้ ยังมองว่ากระบวนการลงมติมีความแปลกประหลาด เพราะเป็นมติแบบ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 เสียง แต่ท้ายสุดประธาน กสทช. ได้สิทธิออกเสียงชี้ขาดจนเป็นมติรับทราบการควบรวม รวมถึงประเด็นที่มาของที่ปรึกษาอิสระมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับหรือไม่ เพราะบริษัทที่ปรึกษามีผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทผู้เสนอขอควบรวม เช่นเดียวกับการตีความกฎหมายเพราะเห็นว่า ทรู-ดีแทค เป็นกิจการคนละประเภทกัน ซึ่งตนจะยังไม่ด่วนตัดสินจนกว่าจะได้ทราบความเห็นของ กสทช. เสียงข้างมากอยู่

 

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า แม้ในช่วงนี้รัฐบาลจะสงวนท่าทีเป็นพิเศษ แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยแสดงความเห็นต่อกรณีควบรวมมาแล้ว ในการตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แสดงความเห็นการควบรวมจะไม่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ซึ่งตนมองว่าความเห็นของนายชัยวุฒิ สะท้อนความเห็นของทั้ง ครม. ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรแสดงท่าทีอย่างชัดเจนให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีต กสทช. ระบุว่า จากข่าวที่ปรากฏว่าดีลควบรวมทรู-ดีแทค ไฟเขียว ตนมองว่าไม่ใช่ไฟเขียว แต่เป็นไฟดับ การรับทราบแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การอนุญาต สร้างความคลุมเครือจนเป็นมติสีเทา ส่งผลให้ กสทช. ได้กลายเป็นแดนสนธยาในที่สุด เพราะดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์เอกชนมากกว่าประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งกระบวนการที่สื่อมวลชนเข้าไม่ถึง และมติที่ไม่ชัดเจน ทำให้ขาดความสง่างาม

 

ขัดสามัญสำนึกและข้อเท็จจริง สวนความรู้สึกประชาชน และเกินกว่าเหตุ เพราะจะส่งผลต่อกรณีอื่นๆ ต่อจากนี้ไป หากในอนาคตเกิดการควบรวมอีก กสทช. อาจได้แต่รับทราบไปตลอด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เท่ากับลดอำนาจขององค์กรอิสระไปโดยปริยาย ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง หลังจากนี้ผู้บริโภคจะไปหวังพึ่งใคร เพราะในทางการเมืองประชาชนจะเหลือทางเลือกน้อยลง เรียกร้องให้รัฐบาล และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทรู-ดีแทค แถลงท่าทีและความชัดเจน และแสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียของประชาชน

 

สำหรับกรณีประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด นางสาวสุภิญญา เผยว่า ที่ประชุม กสทช. ในอดีตก็เคยเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นแต่น้อยครั้ง แม้ประธานฯ มีสิทธิออกเสียงชี้ขาดได้ แต่มติจะอ่อน และอาจมีปัญหาในอนาคต หาก 1 เสียงไม่ยอมลงมติ ความจริงควรเลื่อนการประชุมออกไปก่อนจนตัดสินใจได้แล้วค่อยลงมติทีหลัง เพราะหากศาลปกครองวินิจฉัยว่ากระบวนการลงมติไม่ถูกต้อง กลายเป็นโมฆะ ก็กลายเป็นว่าทุกฝ่ายเสียเวลา

 

สำหรับวันเวลาในการยื่นฟ้องคดีนั้น เบื้องต้นสภาองค์กรของผู้บริโภค จะมีการประชะมคณะกรรมการพิจารณาคดี ในวันที่ 26 ต.ค. ที่จะถึงนี้ และมีสิทธิฟ้องคดีอยู่ 2 โอกาส คือเมื่อผู้บริโภคร้องขอเข้ามา ในกรณีนั้นก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่ในการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะอยู่ที่มติของคณะกรรมการพิจารณาคดี ดังนั้น การยื่นฟ้องอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นภายในเดือนหน้า

 

ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็ม และบันทึกความคิดเห็นของกรรมการ กสทช. ทุกท่านให้ครบก่อน เพื่อรวบรวมหลักฐานเพียงพอยื่นเอาผิดต่อ ป.ป.ช. ต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กสทช #ทรู #ดีแทค