วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

รุ้ง ปนัสยา : ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไข...เขียนใหม่เท่านั้น!


ยูดีดีนิวส์ : เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 63 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไข...เขียนใหม่เท่านั้น" ที่ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนาและเป็นตัวแทนจากกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยคือ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งได้แสดงทัศนะต่อรัฐธรรมนูญ 60 ไว้อย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดดังนี้

รุ้งกล่าวว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธออยู่ในสภานักศึกษาด้วย ซึ่งพรรคของเธอได้ทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,410 คน และส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60

รุ้งแสดงทัศนะว่า เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วมันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผิดปกติและผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น สิ่งที่สังคมน่าจะยอมรับไม่ได้แต่กลายเป็นว่ายอมรับได้ในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น การที่นายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ แต่ว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญทั้ง ๆ ที่ในรัฐธรรมนูญเองบอกว่าต้องพูดให้ครบ แต่ทำไมมีผิด?

จึงเป็นคำถามต่อในแบบสำรวจว่า แล้วอย่างนี้ควรยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไปเลยไหม? ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามบอกว่า “ใช่” เนื่องจากว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวกับตัวรัฐธรรมนูญเองได้อย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ดังนั้นเราจะมีศาลรัฐธรรมนูญไปทำไมคะ?

อีกคำถามในแบบสำรวจถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านกระบวนการประชามติ

รุ้งกล่าวว่า จริง ๆ แล้วมันควรเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วด้วยซ้ำถ้าจะทำโครงการขนาดใหญ่ เช่น ที่จะนะ โครงการขนาดใหญ่ขนาดนั้น แต่รัฐไม่ถามคนในชุมชนก่อนเลยว่า โอเคไหม? อยากได้ไหม? ทำแล้วจะมีผลกระทบอะไรกับพวกเขาไหม? รัฐไม่ถาม แต่ทำไปเลย แล้วค่อยมาเปิดประชามติทีหลังตอนที่มันเป็นกระแสไปแล้ว ตอนที่มีคนไม่พอใจมาก ๆ มีคนออกมาประท้วงมาก ๆ จึงจัดประชาพิจารณ์

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดปกติ เพียงมองแค่ว่าที่ของของรัฐธรรมนูญมาจากการ “ฉีก” แล้ว “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” โดยใช้คนของตัวเองซึ่งเขียนทุกอย่างให้เอื้อประโยชน์กับตัวเองเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจได้ต่อไปยาว ๆ

ในเรื่องของ LGBT รัฐธรรมนูญมาตรา 27 เขียนไว้เรื่องความเท่าเทียมของบุคคลว่า “ชายและหญิง” มีสิทธิเท่ากัน ทำไมไม่เขียนว่า “บุคคล” ทุกคนเท่ากัน เรื่องของการสมรสเท่าเทียมจะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าเขียนว่า “บุคคล” ทั้งหลายเท่ากัน ไม่ต้องแบ่งเพศชายหญิง เพราะในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่สองเพศ ตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว โลกพัฒนาไปไกลแล้ว ในประเทศไทย LGBT มีเยอะเหลือเกินและเห็นได้ชัดมาก ทุกคนสามารถยอมรับได้ แต่ทำไมในรัฐธรรมนูญถึงยอมรับไม่ได้

ในเรื่องของการศึกษา ในรัฐธรรมนูญบอกว่าให้มีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ได้บอกว่าให้ฟรี ทั้ง ๆ ที่นี่ควรจะเป็นสวัสดิการที่ทุกคนควรได้รับอยู่แล้วในเรื่องของการศึกษา คุณบอกว่าต้องการบุคคลที่จะมาพัฒนาประเทศ ต้องการบุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้มีการศึกษา แต่คุณไม่ให้กระทั่งการศึกษาที่ฟรี! ซึ่งงบประมาณอันดับหนึ่งในประเทศอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่สามารถให้การศึกษาที่ฟรีได้เพราะอะไร?

เรื่องเกณฑ์ทหารก็ควรยกเลิก เพราะทำไมเราต้องเสียเวลา 2 ปีในการที่เรียนและพัฒนาตัวเอง หรือคนทำงานต้องเสียเวลา 2 ปี กับการไปเกณฑ์ทหารที่เราไม่ได้มีสงครามด้วยซ้ำ!

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ได้มาจากประชาชน โครงสร้างประเทศเรามันถึงมีปัญหาอยู่อย่างนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาในตัวเองอยู่ นี่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และเราไม่ควรทนอยู่กับการที่มีกฎหมายที่ผิดเพี้ยนขนาดนี้ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแก้และแก้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้มันมาจากประชาชนโดยแท้จริง โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไม่ใช่แต่งตั้ง!

มีอีกข้อหนึ่งในแบบสำรวจที่ไม่เคยอยู่ในข้อเสนอที่ไหนเลย เป็นข้อเสนอที่ตนกับเพื่อน ๆ ตั้งมาว่า ถ้ามีข้อนี้เกิดขึ้นจริง การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกก็ได้ ซึ่งคำถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารได้ในทุกรูปแบบโดยไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย” รุ้งกล่าวว่า ถ้าการรัฐประหารคือปัญหา ประชาชนต้องออกมาแก้ปัญหา เหมือนที่เราพูดว่า “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่”

และนี่คือหน้าที่ของเราในการออกมาพูด ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ออกมาสิ่งที่ผิดปกติในสังคมไทยตอนนี้ นี่คือหน้าที่ของเราทุกคน และขอให้ทุกคนแสดงความกล้าตรงนั้นในการพูดออกมา สิ่งที่เราไม่พอใจ สิ่งที่ผิดปกติในชีวิตประจำวันที่เราเห็น

"ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ" รุ้งกล่าวทิ้งท้ายการเสวนา