“อ.ธิดา” เล่าถึงคนในเรือนจำทุกคนสุขภาพดี / ม็อบต่างรุ่น ต่างวัฒนธรรม ต่างยุทธวิธี แต่เป้าหมายอุดมการณ์เดียวกัน อย่างไรเสียชัยชนะต้องเป็นของประชาชนแน่นอน ความงดงามของความต่างวัย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยุทธวิธีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เป็นเรื่องที่ควรจะดีใจ
.
การทำเฟสบุ๊คไลฟ์เล่าข่าวหน้าเรือนจำวันนี้ (5 ส.ค.63) อ.ธิดากล่าวว่า ปกติวันที่ 4–5–6 ส.ค. เราจะต้องไปศาลในคดีปี 52 แกนนำนปช.ซึ่งท่านผู้ชมก็ทราบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคุณณัฐวุฒิ คุณวีระกานต์ คุณหมอเหวง คุณวิภูแถลง คุณพายัพ คุณพงษ์พิเชษฐ์ แล้วก็คุณจตุพร คุณอดิศร เพียงเกษ (สองท่านหลังนี้ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ) แต่ศาลเลื่อนไปเป็นวันที่ 20 ส.ค. ซึ่งสามารถไปพบกันที่ศาลอาญา รัชดาภิเษกได้
.
ส่วนจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 20 ส.ค. จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ดิฉันก็จะมาปรับให้เข้าใจตรงกันตลอดนะคะ ท่านจะได้ไม่พลาดเรื่องราวของคนในเรือนจำ ซึ่งขณะนี้สุขภาพทุกคนก็ดี คุณวีระกานต์ก็ดูดีขึ้น
.
ต่อมาเรามาพูดเรื่องนอกเรือนจำ ซึ่งดิฉันตั้งใจที่จะพูดในประเด็นว่า “ม็อบต่างรุ่น ต่างวัฒนธรรม ต่างยุทธวิธี”
.
เราทุกคนเข้าใจและทราบข้อมูลด้วยกันว่า เหตุการณ์ในช่วงเวลานี้มีม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีการประท้วง มีการแสดงออก มีปรากฏการณ์มากมายของคนที่ต่อต้านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 60 ซึ่งเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร นั่นก็คือต่อต้านการทำรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจนั่นเอง
.
และในขณะนี้เราดูตรงกันว่าเนื้อหาของการนำเสนอยังตรงกันในทุกส่วนของม็อบเยาวชน ก็คือ หยุดคุกคามประชาชน, แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2560 โดยใช้ สสร. ก็คือให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน และประการที่สามก็คือยุบสภา เพราะมีการแลกเปลี่ยนกันว่าถ้ายุบสภาก่อนมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะได้เหตุการณ์แบบเดิม ที่เหลือเป็นรายละเอียด แต่แกนหลัก ๆ ตามที่ดิฉันเข้าใจก็ยังเป็น 3 ประเด็นนี้
.
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าเนื้อหาของการเรียกร้องนั้นค่อนข้างตรงกันเกือบทั้งหมดทางการเมือง อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติม เช่น กลุ่ม LGBT ก็อาจจะมีข้อเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคทางเพศ หรือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็อาจจะมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม แต่ว่าแกนหลักใหญ่ยังเหมือนกันหมด
.
และ 3 ข้อนี้ที่รัฐบาลบอกว่าจะไปฟัง ไม่ต้องไปฟังที่ไหน ม็อบทุกม็อบเขาก็พูดเหมือนกันหมด คือ 3 ประเด็นนี้ คุณก็ตอบนักศึกษามาว่าคุณจะแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไง? จะแก้ไหม? แล้วก็คุณจะหยุดคุกคามพี่น้องประชาชนและนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือเปล่า? อันนี้คุณต้องตอบเขา และไม่ใช่ตอบอย่างเดียว ต้องมีการกระทำที่ปรากฎด้วย แล้วตามมาด้วยยุบสภา นั่นหมายความว่าองค์ประกอบสภาซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ 60 และมาจากการสืบทอดอำนาจนี้ไม่เป็นที่พึงพอใจ เพราะฉะนั้นโดยเนื้อหามันชัดเจน
.
แต่ที่ดิฉันอยากจะพูดเพิ่มเติมเพื่อที่จะทำความเข้าใจในหมู่ประชาชนและในหมู่พวกเราก็คือ ปรากฏการณ์ของม็อบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราเห็นได้ชัดว่าขณะนี้ความไม่พึงพอใจของประชาชนนั้นมี “ต่างรุ่น”
.
ดิฉันขอพูดคำว่า “ต่างรุ่น” ก่อน อย่างตัวดิฉันมาตั้งแต่ 40 กว่าปีมาแล้วในการต่อสู้ ผ่านการต่อสู้ตั้งแต่ 2516 มาจน 2563 นอกจากคนในรุ่นดิฉันซึ่งมีอยู่ไม่ใช่น้อย ก็ยังมีรุ่นที่เราเรียกกันว่า Baby Boomer (อายุ 55–73 ปี) รุ่นนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนอนุรักษ์นิยมก็จริง แต่คนที่ต้องการประชาธิปไตยก็มีเยอะ แล้วถัดมาก็เป็นคนรุ่น Gen X (อายุ 40–45 ปี)
.
ดังนั้นฝ่ายประชาธิปไตยก็มีต่างรุ่น ก็คือ ที่ต่อสู้มาแล้ว 40 กว่าปี หรือที่ต่อสู้มาแล้วอาจจะ 20 กว่าปี คือบางคนผ่านพฤษภา 35 มา บางคนมาผ่านจริง ๆ คือปี 53 (ไม่ทัน 35) ดังนั้นเราก็จะมีคนที่อายุ 60, 70, 50 ขึ้นไป, 30 ขึ้นไปจนถึง 40, 50 แล้วรุ่นในมหาวิทยาลัยที่มักเรียกกันว่า Gen Y ก็ 20 ขึ้นไป และรุ่น Gen Z ที่เราเห็นขณะนี้มากที่สุด บางม็อบที่เห็นเป็นรุ่นนักเรียน 70% ทั่วไป 30% (ทั่วไปหมายถึงคนแก่และคนค่อนข้างแก่)
.
เราจะเห็นว่าขณะนี้มีคำว่า “ผู้รักประชาธิปไตยต่างรุ่น” คำถามคือแล้วจะทำอย่างไร?
.
ในอดีตเมื่อเวลามีการชุมนุมขนาดใหญ่ทุกรุ่นก็รวมกันหมด เขาเรียกว่าช่องว่างระหว่างรุ่นค่อนข้างน้อย คนที่เคยร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ตั้งแต่รุ่นแรก ๆ ปี 35 ก็ยังร้องได้ ปี 53 ก็ยังร้องได้
.
แต่มาตอนนี้คุณจะร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ไม่ใช่ว่าเชยอย่างเดียวนะ คนที่ฟัง 70% เขาไม่getด้วย
.
ดิฉันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าเรามีคนต่างรุ่นมาก เป็นแง่คิดสำหรับคนต่างรุ่นว่า ในม็อบและในการชุมนุมนั้นจะเข้ากันได้แบบไหน จะร่วมกันได้แบบไหน จะสามารถนำพาไปด้วยกันอย่างไร โดยทั่วไปเนื้อหาเป็นเอกภาพ ดิฉันเข้าใจว่าทุกคนเห็นด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครชอบรัฐธรรมนูญ 60 แต่ทำไมตอนลงประชามติจึงเถียงไม่ได้ เราถูกจับ เพราะว่าเวลาเราจะโฆษณาว่ารัฐธรรมนูญ 60 มีข้อเสียอย่างไร เราก็ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ใคร ๆ ก็ไม่รักรัฐธรรมนูญ 60 สภาชุดนี้และมี ส.ว. ใคร ๆ ก็ไม่ชอบ ใคร ๆ ก็ไม่รักเลย ส.ว. นี่ยกตัวอย่างเป็นต้น
.
ดังนั้น เนื้อหาดิฉันดูแล้วว่าเห็นตรงกันไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน แต่พอดิฉันมาดูถึงวัฒนธรรมเหมือนที่เราพูดไปเมื่อกี้เรื่องเพลง แล้วมาพูดถึงยุทธวิธีของคนต่างรุ่น เราจะพบว่ามีความแตกต่างกัน
.
เมื่อกี้เรายกตัวอย่างเรื่องเพลง ในเชิงวัฒนธรรม เพลงของน้อง ๆ ที่ออกมาร้อง ไม่ว่าจะเพลง “แฮมทาโร่” หรือเพลง “Do You Hear the People Sing?” แล้วแปลงมาเป็นเพลงไทย หรือแม้กระทั่งเพลงแร็พก็ยังโอเคนะ “ประเทศกูมี” คือเป็นภาษาไทย พยายามจะฟังให้รู้เรื่อง แต่ถามว่าร้องตามได้มั้ย (ร้องไม่ได้) อย่างเด็กเตรียมอุดม ก็มีเพลงเป๊ปซี่ โค้ก บ้าง แจวเรือ อะไรอย่างนี้ นี่ยังไม่พูดถึงการเต้นนะ เอาแค่เพลงก่อน ก็รู้สึกว่ามันห่างไกล
.
ในทัศนะของดิฉัน คนที่อยู่ในยุคก่อนยังร้อง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ยังรู้จัก “จิตร ภูมิศักดิ์” เด็ก ๆ เขาก็รู้จักนะ แต่เขาไม่ร้องเพลงนั้น เขาร้องเพลงที่เขาอยากร้อง และแม้กระทั่งจะมีวัฒนธรรมเมืองชนบท พูดง่าย ๆ ว่ามีเพลงลูกทุ่งกับเพลงลูกกรุง มันก็ยังร่วมกันได้ เป็นความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทเท่านั้นที่มารวมอยู่ในที่เดียวกัน แกนนำของนปช.ก็สามารถร้องเพลงได้ทั้งลูกกรุงและลูกทุ่ง อันนี้ก็คือพูดถึงวัฒนธรรมของผู้ที่มาร่วม
.
พูดตรง ๆ ว่า วัฒนธรรมของประชาชนซึ่งอยู่เป็นองค์ประกอบของการต่อสู้ยังเห็นกัน ยังใกล้เคียงกัน แต่พอมา Generation ใหม่ เป็น Y เป็น Z เด็กอายุ 10 กว่า หรือผู้ใหญ่อายุ 20 กว่า วัฒนธรรมมันไม่ใช่เมืองกับชนบทแล้ว มีวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาด้วย
.
ตอนนี้ถ้าคุณไปฟังเพลงนักร้องเกาหลีร้อง นักร้องฝรั่งร้อง นักร้องไทยร้อง กลายเป็นร้องคล้ายกันหมดเลย วัฒนธรรมที่ต่างกันตรงนี้มีอิทธิพลมาจากเทคโนโลยี มีอิทธิพลมาจากการสื่อสารซึ่งมีลักษณะโลกาภิวัตน์ (Globalization) เยาวชนของเราสามารถสื่อสารกับเยาวชนต่างประเทศ ร้องเพลงแบบเดียวกันได้ แต่ในขณะเดียวกันกับคนในประเทศมันร้องเพลงเดียวกันไม่ได้
.
นี่จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่า ช่องว่างระหว่างรุ่น หรือ Generation Gap ในยุคนี้ดิฉันมองว่ามันมากกว่ายุคเก่าเพราะเทคโนโลยีช่วย แล้ว Generation Gap ทำให้วิธีคิด วิธีทำงาน แม้กระทั่งวิธีการจ่ายเงินค่าอะไรสักอย่าง คุณลองถามคนที่อายุ 70, 50, 40, 30, 20 จ่ายเงินซื้อของหรือค่าใช้จ่ายอะไรสักอย่างก็ไม่เหมือนกัน อย่างอาจารย์กับลูกก็จ่ายไม่เหมือนกันเพราะลูกชายเขาก็ต้องใช้เทคโนโลยีล้วน ๆ อาจารย์ก็ใช้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ บางอย่างก็ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน
.
หันมาดูในเรื่องม็อบ เพราะฉะนั้นวิธีคิด วิธีทำงาน การพูดจา การนำ มันจึงแตกต่างกัน ในการนำพาคนต่างรุ่น ต่างวัฒนธรรม มันเกิดเป็นโจทย์แล้วว่าคุณจะทำอย่างไร? คุณมีเอกภาพในเรื่องเป้าหมาย แต่การทำให้การชุมนุมนั้นเป็นเอกภาพในทางวัฒนธรรมและในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งดิฉันจะพูดต่อก็คือเรื่องยุทธวิธี มันจึงต้องมาซึ่งยุทธวิธี
.
ครั้งที่แล้วดิฉันพูดชื่นชมว่าเขามีครีเอทีฟไอเดียเก่งมากและแตกต่างจากประเทศอื่นด้วย ดิฉันบอกได้เลยว่า ถามว่าทำไมต้องคิดแตกต่าง เพราะประเทศอื่นเขาไม่ต้องมาสู้กันด้วยเรื่องโง่ ๆ เรื่องแบบนี้เขาเลิกสู้กันแล้ว เขาไปสู้เรื่องอื่น แต่ของเรามันต้องมาสู้ด้วยอำนาจรัฐที่แข็งกล้าที่อนุรักษ์นิยมสูง ดังนั้นความคิดครีเอทีฟของเด็ก ๆ มันจึงสร้างสรรค์มาก และไม่เหมือนใครในโลกด้วยซ้ำ
.
ตรงนี้ก็จะนำมาสู่ว่า ยุทธวิธีของม็อบรุ่นใหม่ก็จะไม่เหมือนเดิม เมื่อยุทธวิธีจะไม่เหมือนเดิม เราจึงเห็นไม่ว่าจะเป็นเด็กเตรียมฯ หรือเด็กมัธยมที่วงเวียนใหญ่ หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือล่าสุด ดิฉันก็ตั้งข้อสังเกต “แฮรี่พอตเตอร์” นี่ไม่ใช่ของเด็กมัธยมรุ่นนี้นะ “แฮรี่พอตเตอร์” มันควรจะเป็นเรื่องของคนอายุ 30 กว่าปีขึ้นไป เพราะจำได้ว่าลูกชายลูกสาวบอกให้แม่ซื้อ “แฮรี่พอตเตอร์” นี่ยกตัวอย่าง ดิฉันเข้าใจว่าเด็กอายุ 10 กว่าปีเขาไม่สนใจเท่าไหร่แล้วกับ “แฮรี่พอตเตอร์”
.
พอเวลาเราเห็นกระบวนการร้องเพลง
เราเห็นกระบวนการนำเสนอรูปแบบต่าง ๆ
เราพอจะรู้ได้เลยว่าคนที่เอามาเป็นคนรุ่นไหน
อย่าง “แฮมทาโร่” คนแก่คิดไม่ได้หรอก ก็ต้องเป็นเด็ก ๆ แล้วเขาเต็มใจจะทำ หรือการแจวเรือของนักเรียนเตรียมอุดมฯ
.
นั่นก็คือคนต่างรุ่น ต่างวัฒนธรรม แล้วก็ต่างยุทธวิธี โดยที่มีเป้าหมายเดียวกัน “เป้าหมายอุดมการณ์” อาจารย์เชื่อว่าเหมือนกัน และอาจารย์ก็ยังยกย่องว่าสิ่งที่เยาวชนปลดแอกเสนอมาและได้รับการยอมรับนั้น เป็นสิ่งที่ตกผลึกในสังคมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นแก่ รุ่นเด็ก รุ่นอะไร เขาตกผลึกแล้วเหมือนกัน
.
ถามว่าได้ยินไหม ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ท่านบอกให้ไปเที่ยวฟังเด็ก ๆ ตอนนี้ไม่ต้องไปถามเด็กมัธยม อาจารย์ไม่แน่ใจนะว่าถ้าไปถามเด็กประถม เขาอาจจะตอบเหมือนกันนะ (3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก) แต่ถ้าถามเด็กมัธยมขึ้นไป เขาตกผลึกเป็นเอกภาพแล้ว “นายกรัฐมนตรี” ได้ยินหรือไม่?
.
เขาบอกมีเพลง Do You Hear the People Sing?
Do You Hear the People Cry? คือบอกได้ทุกอย่าง
ทุกอย่างเนื้อหาเหมือนกัน แต่ยุทธวิธี และวัฒนธรรม การนำเสนอ อาจจะแตกต่างกัน นี่จึงเป็นข้อดีมาก
.
ดังนั้นอาจารย์อยากจะให้พวกเราซึ่งต่างรุ่น ต่างวัฒนธรรม จะปรับตัวกันอย่างไร เช่น เวทีเด็กเขาวิ่ง “แฮมทาโร่” อาจารย์ก็ถามทีมงานว่าเป็นยังไง เขาบอกว่าพวกที่สูงอายุหน่อยอยากจะไปวิ่งกับเด็กเหมือนกัน แต่ติดว่าจะไปได้หรือ ไปยังไง จะเหมาะมั้ย แล้วก็ไม่รู้จะวิ่งไหวมั้ย ก็แปลว่าเขาเข้าใจว่ามันคนละงานกัน แต่ก็ไปยืนเชียร์ให้กำลังใจกัน
.
เราต้องไม่มาคิดเสียใจว่าทำไมเราถึงไปวิ่งกับเด็กไม่ได้ เพราะว่าเราต่างรุ่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ต้องเข้าใจว่าเราต่างรุ่น ดังนั้น วิธีคิด วิธีทำงาน และการนำเสนอทางวัฒนธรรม มันอาจจะแตกต่างกัน แต่ก็ทำได้หลายอย่างเช่น อาจจะเป็นกองเชียร์ หรือคิดแคมเปญอะไรในการหนุนช่วยนักศึกษา บางคนง่าย ๆ ก็แจกของกิน นี่ยกตัวอย่าง
.
หรือแบบหนึ่ง คุณก็อาจจมีเวทีต่างหากก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) เขาไป “กินแมค” ซึ่งท่วงทำนอง “กินแมค” มันไล่มาตั้งแต่ปี 54 คุณสมบัติแกก็ยังใช้มุกเดิม “กินแมค” ส่วนคนไปกินก็ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่นะ นี่ก็แปลว่าเป็นกิจกรรมของคนรุ่นนั้น (53-54) ซึ่งในยุคปี 53-54 การไป “กินแมค” การไป “ผูกผ้าแดง” ที่กลางถนน ถือว่าฉีกแนวแล้วนะ มาถึงตอนนี้พอมาเห็นเด็กวิ่ง “แฮมทาโร่” คุณสมบัติก็ต้องอึ้ง!
.
ถ้าเราเข้าใจว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน เราอาจจะต่างรุ่น อาจจะต่างวัฒนธรรม จึงทำให้ต่างยุทธวิธี แต่ถ้าเป้าหมายเราเป็นเป้าหมายของการที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แล้วตรงนี้อาจารย์ก็อยากจะเติมไปนิดเพราะวันก่อนคุณไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ที่เขาได้คุยกับอาจารย์ และคุณปุ้ยได้สัมภาษณ์คุณไอดา อาจารย์อยากจะเติมว่า อาจารย์พูดถึงคำพูดของอาจารย์ป๋วยว่า “สำหรับพวกเราและคนรุ่นเรา อุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือเป้าหมายประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การที่เราจะยึดถือและต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นี้ต่อไป แม้เรายังไม่ประสบชัยชนะก็ตาม”
.
อาจารย์จะไม่พูดคำว่าพ่ายแพ้ เพราะว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่ออุดมการณ์ ทำให้เกิดภราดรภาพในอนาคต เกิดความสุขในหมู่ประชาชนและความเท่าเทียม อย่างไรเสียมันต้องชนะ จะไม่มีคำว่าพ่ายแพ้ออกจากปากอาจารย์เป็นอันขาด แม้นชัยชนะที่แท้จริงยังมาไม่ถึงก็ตาม
.
เพราะฉะนั้น เราต่างรุ่นกัน เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ในรุ่นเราอาจจะยังไม่ประสบชัยชนะ แต่ว่าบนถนนสายนี้ อย่างไรเสียมันต้องชนะแน่นอน แต่อย่าลืมว่าอาจจะรู้สึกขัดเขินที่มันต่างวัฒนธรรม บางคนร้องเพลงฝรั่งกับเขาไม่ได้ หรือต่างยุทธวิธี วิ่งกับเขาไม่ได้ หรือแจวเรือ พายเรือกับเขาไม่ได้ ไม่เป็นไร ร่วมไปด้วยกันบนถนนสายนี้ มันเหมือนดอกไม้ ที่มีทั้งดอกไม้ตูมที่พร้อมจะเบ่งบาน และดอกไม้บานที่พร้อมจะร่วงโรย แต่ถนนสายนี้ไม่เคยขาดดอกไม้ และอย่างไรเสียชัยชนะต้องเป็นของประชาชนแน่นอน ความงดงามของความต่างวัย และความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยุทธวิธีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เป็นเรื่องที่ควรจะดีใจค่ะ