“เซีย” หวัง “พิพัฒน์” ชัดเจนเรื่องขึ้นค่าแรงในวันแรงงาน หยุดให้ความหวังลมๆแล้งๆ กระทบคนทำงาน หลังพบบางโรงงานไม่เปิดให้ทำโอที พร้อมหวังหนุนร่างสหภาพแรงงาน รับรองสิทธิรวมตัวเจรจาต่อรอง
วันที่ 30 เมษายน 2567 เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความชัดเจนของรัฐบาลต่อการขับเคลื่อนนโยบายแรงงาน ก่อนถึงวันแรงงานสากลในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ว่านายกรัฐมนตรีเคยแถลงว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำโดยเร็วที่สุด และในปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็รับลูกว่าจะพิจารณาปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ตนในฐานะ สส. กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ก็มีความหวังอย่างมากว่าจะมีการปรับตามที่นายกฯ แถลงไว้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม รมว.แรงงานพูดในหลายเวทีและให้ความหวังว่าจะปรับขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่เมื่อเสนอเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. นายกฯ กลับให้มาทบทวนใหม่ และมีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการไตรภาคียืนยันว่าจะปรับขึ้นค่าแรง 2-16 บาท นายกฯ ก็ไม่ได้โต้แย้งอะไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่าขึ้นเพียงเท่านี้ ไม่พอซื้อไข่ไก่ด้วยซ้ำ
จากนั้นก็มีกระแสข่าวอีกครั้ง โดยปรับขึ้น 400 บาท ใน 10 จังหวัด เงื่อนไขคือปรับขึ้นในโรงแรมระดับ 4 ดาวและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ใน 10 จังหวัดนั้นก็มีเพียงภูเก็ตที่ปรับขึ้นเต็มทุกพื้นที่ ขณะที่กรุงเทพฯ ปรับขึ้นเพียง 3 เขต หรือจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ก็ปรับขึ้นเฉพาะเกาะสมุยเท่านั้น การปรับขึ้นเป็นจุดๆ แบบนี้ ทำให้การตรวจสอบทำได้ยากกว่าการปรับขึ้นทั้งจังหวัด
จึงต้องการเห็นความชัดเจนของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ว่าจะมีมาตรการหรือวิธีการอย่างไรในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหาเสียงไว้ที่ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ รมว.แรงงาน กล่าวว่าจะพิจารณาปรับค่าแรงในวันที่ 1 พฤษภาคม ตนก็รอดูและหวังว่าจะไม่ใช่การให้ความหวังลมๆ แล้งๆ แบบที่ผ่านมาอีก อย่างไรก็ตาม ตนสงสัยว่าหากทำได้รัฐบาลจะอ้างเป็นผลงานของตน แต่หากทำไม่ได้ จะโยนบาปให้คณะกรรมการไตรภาคีอีกหรือไม่
เซียกล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบจากความไม่ชัดเจนไม่แน่นอนทำให้สถานประกอบการหลายแห่งเกิดความกังวล ตนได้พูดคุยกับแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในสมุทรปราการบางแห่ง ทราบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เปิดให้ทำโอที เนื่องจากความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นค่าแรง ดังนั้นรัฐบาลควรชัดเจนเสียที ทั้งการขึ้นค่าแรงและการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SME ซึ่งที่ผ่านมาตนและพรรคก้าวไกลเสนอมาตลอดว่าการขึ้นค่าแรงต้องมาพร้อมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นอกจากนี้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะประเด็นคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งซึ่งรับงานประมูลจากรัฐ เช่น อิตาเลียนไทย ปัจจุบันยังค้างจ่ายค่าจ้างแรงงาน รวมถึงเรื่องขยะอุตสาหกรรม เช่นกรณีกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานที่รัฐบาลต้องดำเนินการโดยด่วน
ทิ้งท้าย เซียกล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมทำกิจกรรมวันแรงงานสากลในวันพรุ่งนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและ สส. จะร่วมเดินขบวนรณรงค์ เน้นที่กฎหมาย 2 ฉบับของพรรค คือร่างกฎหมายลาคลอด 180 วัน ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ และร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน ที่คาดว่าสภาฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเร็ว ๆ นี้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่าหากกฎหมายเหล่านี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลดีต่อประชาชนอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญา ILO แรงงานมีสิทธิรวมตัวและเจรจาต่อรอง จึงฝากไปถึงพรรครัฐบาลที่เคยให้คำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงว่าจะส่งเสริมสิทธิของพี่น้องแรงงาน วันนี้เป็นรัฐบาลแล้ว ขอให้ร่วมผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #วันแรงงาน #ค่าแรง #กระทรวงแรงงาน