วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ทนายด่าง” กฤษฎางค์ นุตจรัส : วันนี้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมน้อยเกินไปแล้ว ต้องปฏิรูปสังคมทั้งหมด

 


“ทนายด่าง” กฤษฎางค์ นุตจรัส : วันนี้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมน้อยเกินไปแล้ว ต้องปฏิรูปสังคมทั้งหมด


งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม” #10ปีรัฐประหาร57

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน

26 พฤษภาคม 2567


เมื่อกลาง ๆ เดือนเมษายนปีนี้ คนจัดงานครั้งนี้ติดต่อผมว่าอยากให้ผมมาพูดในงานวันนี้สัก 10 นาที 7 นาที เป็นคนสุดท้าย ให้พี่เตรียมเรื่องเกี่ยวกับศูนย์ทนายความฯ แล้วก็การเปลี่ยนแปลงทางขบวนการยุติธรรมของไทย ผมก็เตรียมการเป็นอย่างดี


หลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 “บุ้ง” ตาย ผมเปลี่ยนสิ่งที่ผมคิดว่าผมจะพูดในวันที่เตรียมมาทั้งหมด ผมไม่แน่ใจว่าพวกเรารู้จักบุ้งดีหรือไม่ ความจริงแล้วเขาก็เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ข้อเรียกร้องแบบนี้ถ้าในประเทศที่เจริญแล้ว มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ แต่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน


“บุ้ง” เรียกร้องอยู่ 2 เรื่อง คือให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปล่อยตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาทางการเมืองออกมาต่อสู้คดี เรียกร้องแค่นี้เอง หลังจากบุ้งตายแล้ว ผมมาคิดว่าถ้ายังไม่ตายแล้วมีชีวิตอยู่ ผมจะบอกว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของเรามันไม่เพียงพอซะแล้ว เราต้องทำมากกว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


“บุ้ง” พูดกับผมเสมอว่า “พี่ พี่อย่าไปเชื่อมัน มันโกหก” ผมเองไปหลงใหลได้ปลื้มกับกระบวนการยุติธรรม กับหลักกฎหมาย กับตำรับตำรา แล้วเชื่อว่าการต่อสู้บนเวทีของศาลสถิตยุติธรรมจะเป็นหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพ แต่ความจริงไม่ใช่เลย


บุ้งก็ดี ตะวันก็ดี แฟรงค์ หรือว่าผู้ต้องหาทางการเมือง อานนท์ หรือคนอื่น ๆ ที่ติดคุกติดตะรางอยู่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่ความจริงมันเป็นสิทธิที่กฎหมายบอกว่า “ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์” ต้องให้โอกาสเขา การขังไว้ระหว่างการพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้นเท่านั้นเอง ศาลไทยเมินเฉยกับเรื่องพวกนี้


ผมถึงเรียกร้องว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่เพียงพอแล้ว เราจะทำอะไร เราเรียกให้แก้กฎหมาย ถ้ามันไม่ทำล่ะ ถ้ามันไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผมใช้คำว่า “มัน” เพราะว่าศักดิ์ก็เท่ากัน ขบวนการตุลาการ นิติบัญญัติและบริหารเป็นตัวแทนของเราทั้งนั้น


ผมเรียกร้องว่า “บุ้ง” ตายไปในการควบคุมของรัฐ ต้องทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส ผมบอกได้วันนี้ว่า “บุ้ง” ตายที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ การไต่สวนต้องทำที่ศาลอาญา เพราะเขาตายที่โรงพยาบาล ทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ


ในกระบวนการยุติธรรมของเราวันนี้ เด็กผู้หญิง 1 คน 2 คน ความจริงมีคนตายเยอะแยะ ตั้งแต่สมัยผมเด็ก ๆ เพื่อนผมที่ถูกฆ่าตายอย่างทุกข์ทรมานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6ตุลา19 ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม คนที่ถูกฆ่าแขวนค่า แทงตอกอก ยิงและลากไปตามถนน หรือคนที่ตายในเหตุการณ์พฤษภา35 หรือเมษาพฤษภา53 ผมไม่เคยเห็นกระบวนการเหล่านี้ได้ไปสู่การตัดสินคดีความหาตัวคนผิดมาลงโทษ


คดีที่ผมเจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุดอันหนึ่งก็คือคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 27ตุลา หรือ 21ตุลา ปีนี้ ไม่กี่เดือนนี้ รัฐไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหามากเกินกว่าที่จะปฏิรูป ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมที่ศูนย์ทนายความฯ เรียกร้องอยู่ หรือน้อง ๆ เรียกร้องอยู่ มันไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง แต่มันเป็นภาระหน้าที่ของทุกคน เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ ถ้าเราไม่ปฏิรูปสถาบันอื่น


ผมเชื่อว่า คำพูดที่ว่าจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องน้อยที่สุด ในขณะที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ มีการใช้อำนาจ มีการโกหกตอแหลมดเท็จ กรมราชทัณฑ์แถลงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของนักโทษทางการเมือง หรือผู้ต้องขังคดีอื่นก็ตามที่ยากไร้ ท่านเชื่อมั้ย? คือมันสามารถแถลงให้คนป่วยเป็นคนไม่ป่วยได้ เช่น “ทานตะวัน” ทุกวันนี้มีอาการหนักหนาสาหัส จะเป็นไปแบบ “บุ้ง” หรือเปล่าเราไม่รู้ ในขณะเดียวกันก็แถลงให้คนไม่ป่วยเป็นคนป่วยได้ ไม่ใช่คนเดียวด้วยนะ ฟ้ามีตา เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมเข้าไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่งไปโรงพยายาลตำรวจอีกคนหนึ่ง ไปหาชื่อเอาเองก็แล้วกัน ในห้องเดอลุกซ์ ห้อง VIP เขาขู่ว่าเขาจะดำเนินคดีฐานที่ทนายความทำให้กรมราชทัณฑ์เสียศักดิ์ศรี หมิ่นประมาท ดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้ายต่อเขา ไม่ใช่มาตรา 112 นะ ผมถามว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจำเป็น ผมอยากจะบอกพวกเราทุกคนว่า 10 ปีของศูนย์ทนายความฯ ทำมา ผมเองไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง น้อง ๆ เด็กช่วยกันทำขึ้นมาและผมเองในฐานะทนายความที่อายุมากหน่อยก็มาช่วยน้อง ผมเห็นความยากลำบากของเขาในการทำงาน


ผมเชื่ออย่างที่อาจารย์สมชายพูดในวันที่เปิดงานครั้งนี้ว่า ความจริงถ้าในประเทศที่เจริญแล้วไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ทนายความฯ เราคงต้องทำงานกันอีกมากมาย แต่ผมว่าการต่อสู้ของเราครั้งนี้จะเริ่มเข้มข้น กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่สมัยที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมบอกให้ท่านทั้งหลายฟังว่าเราทำงานยากกว่าสมัยประยุทธ์ด้วยซ้ำไป วาทกรรมต่าง ๆ ที่เคยพูดไว้ในตอนหาเสียงเลือกตั้งไม่ใช่ความจริง ทั้งหมดที่พูดไม่ใช่ปัญหาการเมือง แต่เป็นปัญหายกตัวอย่างว่าทำไมเด็ก ๆ นักโทษที่เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองยังต้องอยู่ในคุกโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ให้สิทธิเขาออกมาต่อสู้คดี ทำไมลูกท่านหลานเธอได้ ทำไมนักการเมือง อดีตนักการเมืองผู้มีอิทธิพลสามารถไปไหนมาไหนก็ได้ ทำไมคนที่ทุจริตตัดไม้ทำลายป่าได้รับการประกันตัว ทำไมคนที่ค้ายาเสพติดแต่บังเอิญมีฐานะอำนาจได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว


ผมคิดว่าผมยังพูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า มาถึงวันนี้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมน้อยเกินไปแล้ว มันต้องปฏิรูปสังคมทั้งหมด ปฏิรูปตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบการเมือง แต่อย่างว่าครับ อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความฯ ก็คงยังต้องทำงานต่อไป ผมเองในฐานะว่าเป็นทนายความอาวุโสช่วยเหลือน้องอยู่ ขอให้กำลังใจและขอคิดว่าอยากให้พวกเราทุกคนช่วยกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เหมือนกับที่ไผ่พูดเมื่อกี้ คือพวกคุณต้องลุกขึ้นต่อสู้ คนที่ฟังอยู่ทางบ้านหรือฟังการถ่ายทอด ผมอยากจะบอกเลยว่า ถ้าเราไม่ทำการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป วันหนึ่งลูกหลานของท่านจะต้องเป็นอย่างรุ้ง เป็นอย่างตะวัน เป็นอย่างบุ้ง


อย่างไรก็ตามผมก็ยังเชื่อว่าสังคมไทยจะต้องดีขึ้นกว่านี้ อย่าเพิ่งหมดหวัง ผมเชื่อว่าในชีวิตผม ในชีวิตของคนรุ่นผมคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ขอบคุณครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ