แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรื่อง ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัย กับการเสียชีวิตของ'เนติพร เสน่ห์สังคม' และขอเรียกร้องให้ผู้พิพากษามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองโดยเร็วที่สุด
วันนี้ (15 พ.ค. 67) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์
เรื่อง ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยกับการเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม และขอเรียกร้องให้ผู้พิพากษามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองโดยเร็วที่สุด โดยระบุว่า
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของ “บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม” นักกิจกรรมทางการเมืองผู้ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมด้วยการประท้วงอดอาหารและน้ำขณะถูกคุมขังในเรือนจำ จนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.22 น. ที่ผ่านมา
เป็นเวลากว่า 109 วัน นับตั้งแต่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว “บุ้ง-เนติพร”ในคดีข้อหาตามมาตรา 112 จากกรณีการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ส่งผลให้บุ้งต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่ทันฑสถานหญิงกลางกรุงเทพมหานคร และเพียง 2 วันต่อมา บุ้งได้ตัดสินใจอดอดอาหารและน้ำเพื่อเป็นการประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้อง คือ
(1) ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
(2) ต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
(3) ประเทศไทยไม่สมควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
“จนถึงตอนนี้ ทุกอย่างชัดเจน ไม่ต้องเป็นลูกผู้พิพากษาก็คงเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้ล้มเลวขนาดไหน การมีอยู่ของพวกเขาไม่เคยดำเนินไปเพื่อประชาชน แต่กลับตั้งอยู่เพื่อพวกผู้มีอำนาจ และคนไม่กี่กลุ่มในประเทศอย่างหน้าไม่อาย พวกเขาคิด พวกเขาทำกันอย่างโจ่งแจ้ง และไม่อายสายตาประชาชน”
ข้อความส่วนหนึ่งจากจดหมายของบุ้งที่เผยแพร่ผ่านทางเพจเฟสบุ๊กของกลุ่มทะลุวัง
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่า สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ได้มีการรับรองไว้ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกไปร้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตลอดจนผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ให้มีคำสั่งหรือมาตรการในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองโดยเร็วที่สุด และไม่เลือกปฏิบัติ เฉกเช่นเดียวกับกรณีการพักโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้าเข้าหาและตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน
ไม่มีใครสมควรถูกคุมขังและดำเนินคดีเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่มีใครสมควรต้องตายจากความไม่ยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม
ด้วยความเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน