วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ปิยรัฐ” เผยอนุ กมธ.ศึกษาการปฏิรูปตำรวจ เล็งแก้ ป.วิอาญา ให้อัยการออกความเห็นร่วมก่อนศาลออกหมาย ตั้งใจปฏิรูปกระบวนการสอบสวนให้โปร่งใสตั้งแต่ต้นน้ำ

 


“ปิยรัฐ” เผยอนุ กมธ.ศึกษาการปฏิรูปตำรวจ เล็งแก้ ป.วิอาญา ให้อัยการออกความเห็นร่วมก่อนศาลออกหมาย ตั้งใจปฏิรูปกระบวนการสอบสวนให้โปร่งใสตั้งแต่ต้นน้ำ


วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่รัฐสภา ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ เขต 23 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูประบบราชการตำรวจ ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมอนุฯ เพื่อพิจารณา 2 วาระสำคัญในวันนี้ว่า วาระแรกคือการพิจารณาสภาพปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย กมธ. เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี และผู้กำกับการ สภ.เมืองพัทลุง ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนและหัวหน้าสถานีตำรวจ


ปิยรัฐกล่าวว่า เหตุผลที่เชิญ สภ. เนื่องจากใน กมธ. มีตำรวจที่เติบโตมาจากตำรวจนครบาลอยู่มาก จึงต้องการรับฟังความเห็นจากตำรวจฝั่ง สภ. ให้เกิดความรอบด้าน เพราะงานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำซึ่งคือตำรวจ หากการสอบสวนมิชอบตั้งแต่ต้น อาจทำให้คนที่ทำถูกต้องกลายเป็นคนผิดหรือเกิด ‘คดีแพะ’ จำนวนมาก จึงต้องการให้กระบวนการต้นน้ำตรวจสอบได้อย่างที่ควรเป็น


ในอดีตการเลื่อนชั้นยศของพนักงานสอบสวนจะเกิดขึ้นในสายของพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่สามารถโยกย้ายข้ามสายได้ แต่ปัจจุบันทำได้ ส่งผลให้ตำรวจหลายคน ต้องการย้ายตำแหน่งมาเพื่อรอเติบโต ไม่ได้มาเพื่องานสอบสวนจริงๆ จึงเกิดปัญหาตามมา โดยผู้กำกับ สภ.ตระการพืชผล เล่าว่าเคยมีคดีสำคัญคือการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้วิกลจริต จากกรณีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ภายหลังมีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นบุคคลวิกลจริต ซึ่งความเป็นจริงต้องมีบทละเว้นโทษหรือต้องไม่สั่งฟ้องตั้งแต่ต้นเพื่อให้บุคคลเข้ารับการรักษาตามกฎหมาย แต่ตำรวจกลับสั่งฟ้องและจับกุม


ที่ประชุมอนุฯ จึงตั้งคำถามว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวนได้มีการสืบหาข้อเท็จจริงเพียงพอหรือไม่ ว่าผู้ต้องหามีอาการวิกลจริต มีประวัติในการรักษา ท้ายที่สุด กระบวนการสอบสวนก็มีปัญหาภายในตัวเองหรือไม่ เนื่องจากบางครั้งเมื่อมีคดีสำคัญเช่นนี้ ก็กลายเป็นเผือกร้อน เกิดการเร่งรัดเร่งรีบในการสั่งฟ้อง กลายเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในขณะที่ถูกคุมขัง นี่เป็นเรื่องที่เราพยายามหาทางออก  


ปิยรัฐกล่าวว่า วาระที่ 2 มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อตรวจสอบและร่างกฎหมาย ให้ทันสมัย อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยข้อที่อนุ กมธ. เสนอให้แก้ไขปรับปรุงคือมาตรา 57 เดิมตำรวจหรือพนักงานสอบสวนสามารถขอออกหมายจับหรือหมายเรียกได้ ส่วนศาลก็ใช้ความเชื่อมั่นในกระบวนการของตำรวจ อนุญาตออกหมายตามที่ตำรวจขอ อาจไม่ได้ใช้เวลามากนักในการตรวจสอบพยานหลักฐานที่ตำรวจทำไป ทั้งที่ควรให้อัยการกลั่นกรองเสียก่อน


ในร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาที่ กมธ. เสนอแก้ไข ได้เพิ่มข้อความว่า คดีอุกฉกรรจ์ ฆาตกรรม หรือคดีที่มีความสำคัญ ก่อนดำเนินการขอหมาย ต้องให้อัยการมีความเห็นด้วย ไม่ใช่ให้เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจดุลพินิจเท่านั้น เหมือนเป็นการตรวจสอบกันและกัน ป้องกันบางครั้งอาจเกิดการกลั่นแกล้ง อัยการจะสามารถแย้งได้


#UDDnews #UDDnews #กมธ #ปฏิรูปตำรวจ