วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“สุรเชษฐ์” จี้รัฐหยุดขยายสัมปทานทางด่วนไปเรื่อย เบื้องหน้าอ้างลดค่าทางด่วน เบื้องหลังจงใจเอื้อประโยชน์นายทุน ทำรัฐเสียรายได้ฝ ย้ำหลักการสัมปทานควรหมดแล้วหมดเลย ถ้าจะต่อต้องแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

 


“สุรเชษฐ์” จี้รัฐหยุดขยายสัมปทานทางด่วนไปเรื่อย เบื้องหน้าอ้างลดค่าทางด่วน เบื้องหลังจงใจเอื้อประโยชน์นายทุน ทำรัฐเสียรายได้ฝ ย้ำหลักการสัมปทานควรหมดแล้วหมดเลย ถ้าจะต่อต้องแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม


วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch หัวข้อ “ทวงคืนทางด่วน หยุดหาเรื่องขยายสัมปทาน เอื้อประโยชน์ให้นายทุนไปเรื่อย” โดยกล่าวถึงความพยายามของนายทุนในการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนอย่างแยบยลผ่านการขายนโยบายลดค่าทางด่วนโดยรัฐบาล โดยวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศว่าจะลดค่าทางด่วนให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งฟังเผินๆ อาจเหมือนข่าวดีที่ประชาชนจะจ่ายค่าทางด่วนถูกลง แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด จะพบว่าเป็นการลดแบบมีเงื่อนไข ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นผลดีต่อประเทศในภาพรวมหรือไม่ 


สุรเชษฐ์กล่าวว่า ตนเคยอภิปรายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ขณะนั้นทางด่วนกำลังหมดสัญญาสัมปทาน เอกชนมีความพยายามจะขยายสัญญาสัมปทานออกไป อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาสัมปทาน มีการฟ้องร้องกันตลอด รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมารัฐบาลประยุทธ์ 62 นำข้อพิพาทต่าง ๆ มาเจรจา “ยอมความกัน” โดยให้เอกชนได้สัญญาสัมปทานเพิ่มไปฟรี ๆ 15 ปี 8 เดือน หรือที่เรียกว่า #ค่าแกล้งโง่ ซึ่งขณะนั้น ตนในฐานะ สส. พรรคอนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้านและเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ จึงหยุดเรื่องนี้ไม่สำเร็จ และอีกกรณีคือโครงการ Double Deck หรือทางด่วนชั้นที่ 2 ที่ยกคร่อมจากบริเวณงามวงศ์วานไปถึงพระราม 9 โครงการนี้แม้หยุดสำเร็จ แต่วันนี้กำลังจะกลับมา 


ขณะที่สัญญาสัมปทาน #ค่าแกล้งโง่ กำลังดำเนินไป วันร้ายคืนร้ายรัฐบาลนี้ก็สร้างกระแสผลักดัน “ลดค่าทางด่วน” ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมด้วย 3 เหตุผล (1) การเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นการแข่งขันระหว่างรูปแบบการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวกับระบบขนส่งสาธารณะ การลดค่าทางด่วนจะย้อนแย้งกับนโยบายของรัฐที่บอกว่าอยากให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะเมื่อลดค่าทางด่วน ก็จูงใจให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น


(2) ทางด่วนเป็นสินค้าประเภท Pay per use หรือผู้ใช้เป็นผู้จ่าย ซึ่งยุติธรรม แต่การลดหรือฟรีค่าทางด่วน จะทำให้ความยุติธรรมนี้ลดลง รัฐสูญเสียรายได้ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนา และ (3) ที่สำคัญมาก คือนายทุนมักเอาเปรียบรัฐมากขึ้นเมื่อได้เซ็นสัญญาใหม่​ โดยปัจจุบันนายทุนได้เซ็นสัญญาขยายสัมปทานไปแล้ว 15 ปี 8 เดือน ขอตั้งข้อสังเกตว่าหากเอกชนไม่ได้อะไรมากขึ้นจากสัญญานั้น เขาจะยอมเซ็นหรือ ดังนั้นการลดราคาค่าทางด่วน ไม่มีทางเป็นเพราะเอกชนใจดี แต่แลกมาด้วยการที่รัฐสูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งค่าทางด่วน รวมถึงสูญเสียรายได้ที่รัฐควรจะได้ในอนาคต 


สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ล่าสุดขณะที่ตนกำลังแถลงข่าวอยู่นี้ บอร์ด กทพ. กำลังพิจารณาเรื่องการขยายสัมปทานเพื่อลากยาวไปถึง 31 มีนาคม 2601 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า ดังนั้นวันนี้เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลคืออยากช่วยเอกชนหาเรื่องขยายสัญญาสัมปทาน แต่กลับใช้แนวทางการตลาดอ้างว่าเป็นการลดค่าทางด่วน ซึ่งต้องแลกด้วยส่วนแบ่งรายได้รัฐที่ลดลง พ่วงด้วยโครงการ Double Deck เพื่อให้สามารถขยายสัญญาสัมปทานได้นานขึ้น ซึ่งเป็นการแช่แข็งการพัฒนาและนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเฉพาะรายเป็นพิเศษโดยไม่มีการแข่งขัน  


“หลักการของสัญญาสัมปทานนั้น คือหมดแล้วหมดเลย หากจำเป็นต้องต่อก็ต้องแข่งขันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ดูว่าเจ้าไหนให้ผลตอบแทนแก่รัฐดีที่สุด ไม่ใช่เจรจากับเจ้าเดียวแล้วต่อให้เจ้าเดียวไปเรื่อยๆ แบบนั้นไม่ยุติธรรมกับประชาชน” สุรเชษฐ์กล่าว 


สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาค่าผ่านทางหรือระบบทางด่วนนั้น คล้ายกับปัญหาค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้า ที่ผ่านมาเรามองผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง แต่สิ่งที่ควรจะเป็น หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราอยากเปลี่ยนให้เป็นระบบ Distance-Based คือใครวิ่งใกล้จ่ายน้อย ใครวิ่งไกลจ่ายมาก 


แต่การที่รัฐถูกแช่แข็งด้วยสัญญาสัมปทานเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้เอกชนหาเรื่องขยายสัญญาไปเรื่อยเพื่อให้รัฐหมดภาระผูกพัน พรรคใดมีนโยบายดี ๆ ก็มาแข่งขันกัน ให้ประชาชนเลือกว่าควรพัฒนาระบบขนส่งอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สุด 


สุรเชษฐ์กล่าวว่า สิ่งที่ตนพูดวันนี้ไม่ใช่การค้านหัวชนฝา แต่เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ให้นายทุนผ่านการขยายสัญญาสัมปทาน ตอนปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าแกล้งโง่ เซ็นไปแล้ว 15 ปี 8 เดือน จะสิ้นสุดในปี 2578 แต่วันนี้ยังมีความพยายามจะขอเพิ่มอีก 22 ปี 5 เดือนนับจากปี 2578 ทำให้ไปสิ้นสุดปี 2601 เรื่องนี้ผ่านมติของคณะกรรมการบริหารของ กทพ. มาแล้ว เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าปล่อยผ่านได้อย่างไร แต่ทำแบบนี้นายทุนได้กำไรเกินควร


สิ่งที่ดีต่อประเทศนี้ไม่ใช่การลดค่าทางด่วน แต่ต้องทวงคืนทางด่วน แนวทางที่ควรจะเป็นคือควรหยุดหาเรื่องขยายสัญญาสัมปทานไปเรื่อย กทพ. ควรเน้นการแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ไม่เช่นนั้นจะไม่ตอบโจทย์เรื่องการประหยัดเวลา และไม่จำเป็นต้องรีบทำโครงการ Double Deck เพราะมีโครงการทางเลือกอื่นที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า เช่น โครงการ N1/N2/N3 รวมถึงควรเร่งพิจารณาโครงการตามต่างจังหวัดด้วย ยังมีอีกหลายทางเลือกที่ไม่ต้องเอื้อประโยชน์ให้นายทุนด้วยการขยายสัญญาสัมปทาน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล