ถอดปาฐกถาฉบับเต็ม : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล
หัวข้อ : นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ทำงานอย่างไรในระบบกฎหมายไทย
งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม”
#10ปีรัฐประหาร57
โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน
26 พฤษภาคม 2567
ผมขอเริ่มจากการวิจารณ์พรรคก้าวไกล
ในงาน Policy
Fest ของพรรคก้าวไกลนั้น มีกลุ่มปัญหาใหญ่ 6 ด้าน แต่ใน 6
ด้านนั้นไม่มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมรวมอยู่ด้วยเลย
มีการพูดถึงกฎหมายในแง่ที่เป็นเครื่องมือในการผลักดันนโยบายสาธารณะ
มีการพูดถึงการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม
มีการพูดถึงผู้คนเดือดร้อนจากความอยุติธรรมของกฎหมาย
แต่จัดปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการ ไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรมเอง
อย่างที่พูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจหลากหลายด้าน อย่างที่พูดถึงปัญหาการศึกษา
หรือปัญหาการเมืองในเชิงโครงสร้าง เพราะฉะนั้นไม่มีการพูดถึงว่าปัญหาเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง
และจะต้องแก้ไขอย่างไร
ดูเหมือนผู้คนในสังคมไทยยังไม่ตระหนักพอว่าประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากกระบวนการยุติธรรมยังล่อแล่
ก็คงทำนองเดียวกันกับผู้คนทั่วไปเข้าใจกันว่าความอยุติธรรมในสังคมไทยเกิดจากการใช้กฎหมายอย่างผิด
ๆ เป็นปัญหาตัวบุคคล เป็นปัญหาการใช้ตัวกฎหมายและระบบไม่ใช่ปัญหา โดยมากโทษอยู่ 2
สาเหตุคือ 1) บุคลากรยังไม่ได้คุณภาพหรือว่าไม่เที่ยงธรรม ก็เพราะเงินหรืออำนาจ
หรือเพราะความกลัว 2) ภาคการเมืองที่มากำหนด บีบบังคับได้
หรือที่เราเรียกว่ามีใบสั่ง
แท้ที่จริงผมเห็นว่าปัญหากระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาเชิงระบบ
มีรากฐานมาจากความคิด และนิติศาสตร์ซึ่งบิดเบี้ยวผิดปกติมาแต่เริ่ม
การบังคับใช้และพฤติกรรมของคน
เป็นผลผลิตอันบิดเบี้ยวอันเนื่องมาจากระบบที่พลาดและผิดมาตั้งแต่รากฐานแต่ต้น
การเมืองที่สามารถเป็นใบสั่งต่อคดีความได้ก็เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้เราเห็น
ในขณะที่ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งผิดปกติกลับซ่อนตัวพ้นจากการจับจ้องของสาธารณชน
เพราะฉะนั้น
ในความเห็นของคนทั่วไปที่เห็นว่าเป็นปัญหาเพราะการบังคับใช้ไม่ดี คนใช้ยังดีไม่พอ
ขณะที่หลายคน ผมคนหนึ่งที่เห็นปัญหามากกว่านั้นนะ ปัญหาเป็นที่ระบบนะ
วันนี้ผมอยากจะย้ำอีกครั้งว่าปัญหายิ่งกว่านั้นอีก
คือระบบที่มันแย่เพราะรากตั้งแต่เริ่มเลย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ถ้าหากต้องรื้อกันจริง ๆ ซึ่งคงไม่มีทางเป็นไปได้ง่าย ๆ
จะต้องรื้อระบบลงไปให้ถึงราก ซึ่งจะบอกในตอนท้ายว่าอะไรคือหัวใจของสิ่งที่จะต้องทำ
ชัดเจนว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาระบบที่แก้เพียงแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ
แต่เป็นปัญหาที่ต้องรื้อกันถึงรากเลย
วันนี้ผมจะเน้นในจุดที่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน
อย่าลืมว่าระบบกระบวนการยุติธรรมในทุกสังคมมีหลายด้าน
ความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน ความขัดแย้งทางอาญา ความขัดแย้งทางแพ่ง
แต่ในที่สุดสิ่งที่ผมจะพูดทำได้เพียงแค่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน
ด้วยเหตุนี้ผมจะเน้นไปถึงปัญหารากฐานระบบนิติศาสตร์ว่าเรากำลังต่อสู้กับความถดถอยที่มีลักษณะเฉพาะในประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมายไทย
ไม่ใช่เพราะความอ่อนแอไร้ความสามารถของผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เพราะมีใบสั่ง
(ถ้ามี) แต่เป็นเพราะการผนึกกำลังจนเข้มแข็งของนิติศาสตร์อำนาจนิยม 2 กระแส
ที่พยายามสถาปนานิติศาสตร์อปกติ ให้กลายเป็นปกติในสังคมไทย
ศูนย์ทนายฯ
เองอาจจะไม่ตระหนักถึงความหนักหน่วงที่ตนกำลังเผชิญอยู่ แต่ศูนย์ทนายฯ
กลับยังได้ยืนปักหลักสู้อย่างน่ายกย่อง
และผมขอภาวนาว่าทุกคนจะยืนหยัดเข้มแข็งเช่นนั้นไปได้อีกนาน ถ้าว่าไปตามภาษาอาจารย์สมชายในวันแรกคือ
จนกว่าจะถึงวันเลี้ยงฉลองความสำเร็จที่เรายุบศูนย์ทนายฯ ได้สำเร็จ
เพราะว่าระบบกระบวนการยุติธรรมเข้าร่องเข้ารอยก็ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ทนายฯ
อีกต่อไป
ภายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีพรรคก้าวไกลครั้งล่าสุด
มีเสียงออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าเป็นคำตัดสินที่ละเมิดหลักกฎหมายจำนวนมาก
เหลือเชื่อว่าศาลที่ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศไม่เคารพหลักกฎหมายเสียเอง
ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้น แต่อีกใจหนึ่งกลับรู้สึกว่าเราประหลาดใจมั้ย? ไม่!
คนจำนวนมากไม่ประหลาดใจ เพราะคนจำนวนมากคาดการณ์ได้
ถ้าหากเราสังเกตให้ดีคำตัดสินที่ผิดเพี้ยนจากหลักกฎหมายและผิดปกติมีมาตั้งแต่ตุลาการภิวัตน์ที่มาควบคู่กับการรัฐประหารปี
2549 เป็นต้นมา แรก ๆ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและนักกฎหมายทั้งหลายก็ประหลาดใจและอธิบายถึงความผิดปกติไปต่าง
ๆ นานา บ่อยครั้งเข้าพวกเราก็เริ่มคาดการณ์ได้ถูกต้องขึ้น ประหลาดใจน้อยลง
ความประหลาดใจหรือคาดการณ์แต่แรกที่รู้สึกว่าคาดการณ์แล้วผิด
ก็เพราะเรายึดหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น
นานวันเข้าดูเหมือนทุกฝ่ายทุกคนจะเริ่มตระหนักว่าก็อย่ายึดหลักกฎหมายเหล่านั้นซิ
แล้วเราจะประหลาดใจน้อยลง
โดยมากเห็นว่าเป็นการยืนยันว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเหล่านั้นถูกกำหนดโดยการเมือง
หรือที่มักเรียกตามทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็นใบสั่ง
แต่ผมไม่ค่อยชอบการอธิบายด้วยทฤษฎีสมคบคิดเท่าไร
คือหมายถึงว่าจะมีใบสั่งหรือไม่ ผมไม่ทราบ
แล้วผมไม่เชื่อว่าจะต้องมีใครมีนั่งสั่งทุกครั้งที่จะต้องให้มีการออกคำพิพากษาเป็นแบบใดแบบหนึ่ง
ผมเชื่อว่าตัวระบบของมันเองต่างหากที่มีปัญหา
และอย่างน้อยที่สุดเอื้ออำนวยให้สามารถเกิดใบสั่งได้ โดยที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งที่เป็นรูปธรรมเป็นครั้ง
ๆ ด้วยซ้ำไป
ถ้าหากว่าเราสังเกตให้ดี
การละเมิดหลักกฎหมายหลายครั้ง คำตัดสินหลายต่อหลายครั้งในรอบ 10 ปี 20 ปีที่ผ่านมา
ดูเหมือนจะอิงกับหลักหรือความเป็นเหตุเป็นผลอีกชุดหนึ่งที่ค่อนข้างคงเส้นคงวา
เป็นไปได้มั้ยว่าการออกคำสั่ง คำตัดสินทั้งหลายซึ่งดูเหมือนจะอ่อนปวกเปียกนี้ยึดหลักกฎหมายและความเป็นเหตุเป็นผลคนละชุดกับที่พวกเราหรือนักกฎหมายทั้งหลายคาดหวัง
ก็คือว่าเขาไม่ได้ยึดหลักนิติศาสตร์ตามหลักกฎหมายตามบรรทัดฐาน (Normative legal
system) ปกติ แต่เขายึดหลักนิติศาสตร์แบบไทย ๆ อีกชุดหนึ่งต่างหาก
เมื่อครั้งปาฐกถา
ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผมเรียกนิติศาสตร์แบบไทยว่า “ราชนิติธรรม” และ “นิติรัฐอภิสิทธิ์”
ในครั้งนั้นมีผู้เข้าใจผิด
บางคนบอกผมว่าผมผลิตคำขึ้นมาเพื่อกระทบกระเทียบเสียดสีระบบกฎหมายไทย ไม่ฮะ
ผมจริงจัง ผมพูดจริง ๆ คำสองคำนี้เป็นความพยายามระบุว่าคุณสมบัติของระบบกฎหมายไทยเป็นอย่างไร
ถ้าหากมันไม่ใช่หลักกฎหมาย Rule of Law นิติธรรมตามที่เราเชื่อกัน
วันนี้ผมขอย้ำว่า “ราชนิติธรรม” ของไทยปัจจุบัน เป็นนิติศาสตร์แบบหนึ่งของ
“นิติรัฐอภิสิทธิ์”
และประการสำคัญที่อยากจะเน้นในวันนี้ด้วยก็คือว่า
ผมคิดว่ากำลังมีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะเปลี่ยนระบบกฎหมายของไทยที่ทำให้
“ราชนิติธรรม” ลงหลักปักฐานตั้งมั่นอย่างมั่นคง ทั้ง ๆ
ที่ขัดกับหลักกฎหมายตามบรรทัดฐาน คำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของความพยายามสถาปนานิติศาสตร์ที่ผิดปกติดังกล่าว
พูดง่าย ๆ ว่าไม่ใช่ความบังเอิญ ไม่ใช่การผิดพลาดชั่วครั้งชั่วคราว
เป็นเพราะระบบคิด ความคิด
และความตั้งใจที่จะสถาปนานิติศาสตร์คนละชนิดกับที่เรายึดถือกันในโลก
รากฐานระบบกฎหมายไทยปัจจุบันมาจากการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยรัชกาลที่
5 มีลักษณะเป็นกฎหมายแบบหลังอาณานิคมหรืออาณานิคม ผมไม่อธิบาย
แต่ประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคม ด้วยเหตุนั้นเราจึงเป็นหลังอาณานิคมก่อนชาวบ้านเขา
คือเรารับอิทธิพลตะวันตกแล้วต้องมาผสมผสานกับความคิดของไทยก่อนที่คนอื่นเขาจะเผชิญภาวะนี้ด้วยซ้ำไป
รากฐานกฎหมายของไทยเป็นการผสมผสานกันระหว่าง
2 ด้าน คือ 1) นิติศาสตร์และธรรมเนียมกฎหมายก่อนสมัยใหม่
หลักสำคัญที่สุดก็คือหลักที่ว่า
พระมหากษัตริย์เป็นต้นธารของกฎหมายและความยุตะรรมทั้งหมด กับ 2)ระบบกฎหมายสมัยใหม่
ซึ่งเน้นความมีระบบระเบียบเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Rationalization)
แต่ในการปฏิรูปตั้งแต่ครั้งนั้นมา
สยามไม่ได้รับเอาหลักการที่เป็นหัวใจของระบบกฎหมายตามบรรทัดฐานสากลมาด้วย นั่นคือ
การปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของพลเมืองให้ปลอดพ้นจากการคุมคามของอำนาจรัฐ
อันนั้นคือหัวใจของ Rule of Law คือหัวใจของนิติรัฐทุกแห่งในทางสากลนับแต่ศตวรรษที่
19 เป็นต้นมา
แต่การปฏิรูปครั้งนั้นมีเชิงอรรถอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนั้นอย่างชัดเจนว่า
ไม่ได้ระบุเรื่องสิทธิพลเมืองไว้ เพราะในสังคมไทยไม่เคยมีความคิดนี้ดำรงอยู่
ทำกับว่าหัวใจของระบบกฎหมายตามมาตรฐานสากลที่ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ไม่ยอมให้รัฐเข้ามารุกล้ำดินแดนในเขตแดนสิทธิเสรีภาพประชาชน สังคมไทยยกออกไปเลย
รับมาอยู่เพียงแค่รับนิติศาสตร์สมัยเก่า แต่มาดัดแปลงให้เป็นสมัยใหม่
ทำให้ระบบกฎหมายสมัยใหม่นั้น มีความเป็นระเบียบมาตรฐานเดียวกันใน 2 ประเด็นหลัก ๆ
ก็คือ 1. สร้างตัวบทขึ้นมา เพราะสมัยก่อนตัวบทไม่มีมาตรฐาน กับ 2.
ปฏิรูปกระบวนการศาลทั้งหมด นั่นคือหัวใจของการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ สมัยรัชกาลที่
5 มีแค่ 2 ประเด็นนี้ เราเข้าใจผิดมาตลอดว่า การทำให้กฎหมายเป็นมาตรฐานเดียวกัน
มีตัวบทชัดเจนและกระบวนการยุติธรรม ระบบศาล
เป็นระบบระเบียบและรวมศูนย์ที่ศูนย์กลางเท่ากับเราเป็น Rule of Law แล้ว ไม่ใช่เลย เราเอาระบบเหล่านั้นมาช่วยให้มัน Rationalization แล้วเราทิ้งหัวใจของ Rule of Law ที่มาตรฐานสากล
ต้องเป็นส่วนหนึ่ง เป็นหัวใจของระบบกฎหมายสมัยใหม่ด้วยซ้ำ เราทิ้งไปตั้งแต่ต้น
กฎหมายสมัยใหม่ของสยามจึงไม่มีหัวใจของระบบกฎหมายตามบรรทัดฐานมาตั้งแต่ต้น
ผลออกมาจึงมิใช่ระบบกฎหมายตามมาตรฐานสากล
แต่เป็นการผสมผสานหลักการและธรรมเนียมหลายอย่างจากจารีตกฎหมายแต่เดิมที่ปรับแปรให้เข้ากันได้
ให้มีระบบระเบียบมาตรฐานแค่นั้นเอง รากฐานของนิติศาสตร์และระบบกฎหมายไทยจึงมีคุณสมบัติ
2 ด้านก็คือ 1) ด้านที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ
ค้ำจุนความมั่นคงของรัฐเป็นจุดหมายสูงสุด ไม่มีสิทธิของปัจเจกชน
เสรีภาพของประชาชนที่กฎหมายมุ่งปกป้องรักษาไว้ไม่ให้รัฐละเมิดอย่างตามแบบฉบับ Rule of Law ไม่มีอยู่ในระบบกฎหมายไทย ผมเรียนสิ่งนี้ว่า “นิติรัฐอภิสิทธิ์”
คือให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ
2)
ด้านที่ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเรียกด้านนี้ว่า “ราชนิติธรรม”
สองด้านนี้ควบคู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แต่ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยกเลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้วนั้น
ความขัดแย้งระหว่างทหารกับวัง ทำให้สองด้านนี้หันออกจากกัน
ถึงขนาดต่อสู้กันต่อมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ รัฐทหารเลือกสืบทอดนิติรัฐอภิสิทธิ์
ไม่เอาราชนิติธรรมมาด้วย ผู้ที่ต่อต้านเผด็จการทหาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จึงโจมตีพวกนั้นว่าเป็นพวกสำนักกฎหมายบ้านเมือง เป็นนิติศาสตร์ที่หนุนเผด็จการ
และเรียกร้องให้ใช้นิติศาสตร์ของไทยควรจะยอมรับนิติศาสตร์ตามสำนักกฎหมายธรรมชาติ
ซึ่งสำนักกฎหมายธรรมชาติในความหมายที่ธรรมศาสตร์พยายาม educate
อยู่หลายสิบปีนั้น
เป็นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความคิดและหลักการตามธรรมเนียมกฎหมายแต่เก่าก่อน
หรือเรียกอีกอย่างก็คือว่า
แนวคิดนี้กลับช่วยเปิดประตูให้ฟื้นพลังของราชนิติธรรมกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
นิติศาสตร์ทั้ง
2 แบบในประวัติศาสตร์แนวคิดทางกฎหมายของไทย
จึงไม่ใช่นิติศาสตร์มาตรฐานหรือแบบฉบับด้วยกันทั้งคู่
เพียงแต่ว่าเขาเป็นจุดร่วมทางมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แยกทางกันเดิน
เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งคู่ เป็นอำนาจนิยมทั้งคู่ ทั้งสองต่อสู้กันบ้าง แล้วค่อย ๆ
กลับมาประสานกันในระยะที่มีการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่มีระบอบทหารที่จงรักภักดี
จนในที่สุดเมื่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Democracy with the
King as the Head of the State หรือย่อว่า DKHS) ถูกสถาปนาอย่างมั่นคงในความเป็นจริง โดยที่วังครองอำนาจนำ
และทหารพระราชาครองกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ในบริบทเช่นนี้เองที่นิติศาสตร์สองกระแสที่มีรากร่วมกันและเคยแยกกันเดินนั้น
กลับมาประสานกันสนิทอีกครั้งหนึ่ง และเปิดเผยตัวเป็นครั้งแรกให้ปรากฎชัดเจน
เมื่อนิติศาสตร์สองกระแสที่รวมกันนี้ถูกคุกคาม ประมาณทศวรรษสองพันกว่า ๆ
แล้วจึงทำให้ต้องเรียกตุลาการภิวัตน์ออกมา
การประสานกันได้สนิทครั้งนี้เห็นได้ชัดนับจากปี
พ.ศ. 2549 เป็นราชนิติธรรม เป็นนิติศาสตร์ที่ค้ำจุนนิติรัฐอภิสิทธิ์แบบ DKHS
ในเมื่อราชนิติธรรมเป็นชนิดหนึ่งของนิติรัฐอภิสิทธิ์
(Prerogative
State)
โดยเริ่มจากการอธิบายว่าโดยทั่วไปของนิติรัฐอภิสิทธิ์ทำงานอย่างไร
นิติรัฐอภิสิทธิ์
เป็นคำรวมที่ครอบคลุมระบบกฎหมายที่มีลักษณะแตกต่างกันพอสมควร
สุดโต่งข้างหนึ่งคือระบอบกฎหมายแบบนาซี
แต่มันครอบคลุมมาจนถึงกฎหมายระบบอย่างประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน ก็เป็น Prerogative State ชนิดหนึ่ง โดยพื้นฐานก็คือ 1) ประกอบด้วยนิติรัฐตามบรรทัดฐาน
คือระบบศาลและการบริหารราชการ การบริหารระบบกฎหมายปกติ อาจจะดีหรืออาจจะด้อยพัฒนา
มีครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำใช้นิติศาสตร์หรือใช้นิติรัฐตามมาตรฐาน
ไม่ว่าจะด้อยพัฒนาหรือพัฒนามากน้อย ไม่ว่าจะมีประสิทธิภาพดีหรือด้อยกว่ากันก็ตาม
2)
นิติรัฐที่ให้อำนาจเกินปกติแก่รัฐ หมายถึงมีอำนาจในแบบภาวะฉุกเฉิน (Emergency Powers) คืออำนาจที่ให้ใช้ในภาวะยกเว้นเท่านั้น เช่น เกิดภัยคุกคาม
เกิดวิกฤตการณ์ เกิดสงคราม เกิดสงครามกลางเมือง
หรือเกิดภัยพิบัติที่รัฐต้องใช้อำนาจพิเศษนั้นอย่างเร่งด่วน ไม่มีเวลาพอให้ใช้
วิ.อาญาตามปกติ ระบบกฎหมายทุกรัฐในโลกมี Emergency Powers ไม่มีข้อยกเว้นเลย
แต่รัฐที่ถือว่าเป็น Prerogative State ก็คือว่าให้อำนาจอภิสิทธิ์แบบนี้มากเกินกว่าปกติอย่างเป็นปกติ
ซึ่งปกติให้ใช้อำนาจสั้น ๆ พื้นที่จำกัด และให้สภาเป็นผู้อนุมัติ
และในรัฐที่ให้อภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด
หมายความว่าในบรรดา Prerogative
State ทั้งหลายมีไม่กี่แห่ง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ให้อภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด
หมายถึงกฎหมายปกติเอาผิดก็ไม่ได้ อันนี้เป็นมหาอภิสิทธิ์ทางกฎหมาย
รัฐอภิสิทธิ์โดยทั่วไปไม่ยอมให้เกิดขึ้น
“ราชนิติธรรม”
รัฐอภิสิทธิ์ของไทยแตกต่างกับที่อื่นส่วนมากตรงที่ว่า
ชนชั้นผุ้มีอำนาจและเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนที่ครองอำนาจนั้น
ไม่ใช่เพียงกลุ่มทหารหรือจอมเผด็จการเท่านั้น แต่ท่ามกลางการต่อสู้นับแต่ปี 2475
เป็นต้นมา ระหว่างพลังของทหารกับพลังของฝ่ายกษัตริย์นิยม
ลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ครองอำนาจนับแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
แม้กระทั่งทหารก็สยบลงเป็นทหารของพระราชา
ชนชั้นอำนาจทั้งสองพลังยิ่งผนึกกำลังด้วยกันอย่างเหนียวแน่นเมื่อถูกพลังประชาธิปไตยแบบบ้านใหญ่ท้าทายอำนาจรัฐราชการ
ซึ่งเป็นรัฐของทหารบวกวังเมื่อกลางทศวรรษ 2000 การรัฐประหารปี 2549 และ 2557
รวมทั้งการเปลี่ยนรัชกาล ทำให้การผนึกกำลังของสองพลังหลัก (ทหาร+วัง)
ยิ่งผนึกกันเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ความเข้มแข็งของ
DKHS ปัจจุบันนี้มาถึงขนาดไหน ดูได้จากขนาดไม่กี่ปีมานี้มีผู้บังอาจเสนอว่า
สาระที่แท้จริงของ DKHS ของประเทศไทยควรจะไปให้ถึง
“ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นคำที่หมายถึงระบอบการปกครองก่อน 2475
ที่พระมหากษัตริย์ยอมให้มีรัฐธรรมนูญหรือจะให้มีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
ให้มีรัฐบาลเป็นผู้บริหารประเทศด้วย
แต่อำนาจสูงสุดเหนือรัฐบาลและเหนือรัฐธรรมนูญยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์
อันนี้คือสิ่งที่รัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทาน พระองค์ไม่ได้เตรียมพระราชทานประชาธิปไตย
พระองค์เตรียมที่จะเป็นราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ และในระยะที่ผ่านมามีอุดมการณ์
มีการต่อสู้ มีการเผยแพร่ทางอุดมการณ์เพื่อผลิตความรู้สนับสนุนระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญมากขึ้นกว่าช่วงใด
ๆ นับแต่ 2475 เป็นต้นมา อันนี้คือสภาวการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน
กล่าวได้อีกอย่างก็คือว่า
มีความพยายามทำให้ DKHS ปัจจุบัน เป็นเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเป็น
กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นเอง
นี่เป็นบริบทพื้นฐาน
เป็นเงื่อนไขผลักดันให้นิติศาสตร์แบบอำนาจนิยมสองกระแสนั้นเข้ามาประสานกันได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากแยกทางกันต่อสู้อยู่พักใหญ่
นี่เป็นบริบทพื้นฐานที่ทำให้นิติรัฐอภสิทธิ์ของไทยปัจจุบันเป็นแบบที่ผมเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น
“ราชนิติธรรม” เป็นแบบของไทยซึ่งต่างจากนิติรัฐอภิสิทธิ์ในประเทศอื่น ๆ ในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
มีการผลิตทฤษฎีหรือหลักนิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมขึ้นมาอย่างเป็นระบบระเบียบ
ทฤษฎีของเขาต้องการอธิบายว่า
1)
นิติศาสตร์ของไทยมีที่มาแท้จริงมาจากหลักกฎหมายโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นต้นทางหรือเป็นอำนาจสถาปนาของระบบกฎหมายทั้งหมด
และเป็นต้นธารของความยุติธรรมด้วย เพราะพระมหากษัตริย์ของไทยเปี่ยมด้วยคุณธรรม
ดำรงตนอยู่ในกรอบทศพิธราชธรรมเสมอ และใส่ใจในทุกข์สุขของราษฎรเสมอมา
2)
อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์อย่างเช่นที่เคยเป็นมาตลอด เพียงแต่พระองค์พระราชทานให้ประชาชนไปทดลองประชาธิปไตย
ยามใดที่ล้มเหลว อำนาจอธิปไตยนั้นก็จะถูกส่งกลับคืนไปยังพระมหากษัตริย์
ก่อนที่พระองค์จะพระราชทานให้ประชาชนพยายามทดลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2475 ก็ไม่ได้มีผลเปลี่ยนความจริงข้อนี้
3)
รัฐธรรมนูญที่แท้จริงจึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญกระดาษที่สร้างกันขึ้นมา
แต่คือสถาบันหลักซึ่งดำรงอยู่อย่างมั่นคงถาวรมานานหลายร้อยปีในสังคมไทย
เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้อยู่ในรูปกฎหมายตัวเขียนบนแผ่นกระดาษ
แต่คือสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นเอง
และความชอบธรรมของนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมมาจากไหน?
นิติรัฐอภิสิทธิ์ทุกประเภทแทบจะทั้งโลกที่เป็น
Prerogative
State ถือว่าความมั่นคงของรัฐเป็นเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย
ดังนั้นภัยคุกคามความมั่นคงจึงเป็นเหตุผลของรัฐที่อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจพิเศษเกินกว่ากฎหมายปกติได้
เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐงดหรือระงับใช้กฎหมายปกติได้
การจะสู้กับนิติรัฐอภิสิทธิ์ทุกประเภทในโลก จึงหมายถึงการต่อสู้กับนิยามว่า
ความมั่นคงอะไร? ที่จะต้องไม่ให้มาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและของปัจเจกชน
จะเห็นได้ว่า การต่อสู้กับระบบกฎหมายที่อยุติธรรม ไม่ได้มาด้วยการต่อสู้ในทางคดีหรือในปริมณฑลของกฎหมายเท่านั้น
เพราะรากของกฎหมายที่อยุติธรรมนั้นมักเป็นอย่างอื่น
ในประเทศไทย
คงไม่ต้องกล่าวอีกแล้วว่าความมั่นคงกลายเป็นเหตุผลครอบจักรวาลขนาดไหน
ทั้งเพื่อให้กองทัพแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจได้มากมายและเพื่อทำร้ายผู้คนด้วย
มีประเทศไหนบ้างที่อนุญาตให้กองทัพครอบครองคลื่นวิทยุโทรทัศน์ต่อเนื่องกว่า 70 ปี
ด้วยเหตุผลของความมั่นคง กองทัพสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจได้มากมาย
แจกจ่ายกันนานกว่าชั่วอายุคน กองทัพยังมีธุรกิจที่อาศัยภาษีประชาชนดำเนินการ
แต่เก็บผลประโยชน์เข้ากองทัพหรือเข้าผู้นำกองทัพเอง เช่นที่มีข่าวเร็ว ๆ นี้กรณีสนามกอล์ฟ
กองทัพยังมีที่ดินมหาศาลในครอบครอง
ซึ่งที่ดินเหล่านั้นส่วนมากได้มาด้วยภาษีประชาชน
แต่ยามรัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องการใช้ที่ดินเหล่านั้น กลับต้องขอวิงวอน
ต้องซื้อคืน (ด้วยภาษีประชาชนอีกครั้งหนึ่ง)
และแถมต้องขอบคุณขอบอกขอบใจอีกยกใหญ่ราวกับว่า การที่กองทัพเอาเงินประชาชนไปสองต่อ
เพื่อที่จะเอาที่เหล่านั้นกลับมาทำประโยชน์ต่อสาธารณชนนั้น เป็นบุญคุณที่หนักหนายกใหญ่เหลือเกิน
อันนี้เป็นความสัมพันธ์แบบระบบมาเฟีย กองทัพไทยเป็นระบบศักดินาสมัยใหม่ ความมั่นคงยังคงเป็นเหตุผลสำหรับการทำลาย
ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย ทั้งการปราบปราม อุ้มหาย การขับไล่ผู้คนออกจากบ้าน
ออกจากที่ทำกิน
ความมั่นคงเป็นเหตุผลที่สามารถโกหกต่อประชาชนจนอาจนำไปสู่อาชญากรรมก็ได้
เช่น กรณีผังล้มเจ้า ที่น่าเศร้าที่สุดคือความมั่นคงเป็นเหตุผลให้เอากฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐหลายฉบับมารวมเข้าด้วยกันในสามจังหวัดชายแดนใต้แล้วบังคับใช้มา
20 ปีเต็ม รัฐบาลจากการเลือกตั้งปัจจุบันก็ยังต่ออายุให้อำนาจพิเศษนั้นต่อไปเรื่อย
ๆ ประชาชนทุกคนที่เกิดในเขตนั้น 20 ปีที่ผ่านมา
ไม่รู้จักภาวะปกติของกฎหมายที่เขามีสิทธิ
ก็เพราะว่าภาวะยกเว้นที่พรากเอาสิทธิของเขาไป
กลายเป็นภาวะปกติของเขานับแต่ลืมตาดูโลก
ทำให้ประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในนามของความมั่นคง
นิติรัฐอภิสิทธิ์ที่มีลักษณะเฉพาะของทุกประเทศไม่ว่าแบบใด
จะต้องอ้างอิงประวัติศาสตร์ เช่น สิงคโปร์อ้างอิงประวัติศาสตร์ที่ตนเคยถูกมาเลเซียสลัดทิ้งจนประเทศเกือบเอาตัวไม่รอด
ความที่เป็นประเทศเกาะเล็ก ๆ จึงอยู่กับความไม่มั่นคงตลอดเวลา ราชนิติธรรมหรือนิติรัฐอภิสิทธิ์ที่มีลักษณะเฉพาะของไทยก็เช่นกัน
อาศัยเหตุผลหรือความชอบธรรมที่อิงกับประวัติศาสตร์ไทยซึ่งไม่เหมือนใครในโลกเช่นกัน
สังเกตมั้ยครับว่าคำตัดสินคดี 112 จำนวนมากที่มักให้เหตุผลสั้น ๆ
ว่าพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างไร
การกระทำของจำเลยจะกระทบกระเทือนจิตใจของคนไทยทั้งชาติอย่างไร
หรือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีพรรคก้าวไกลเมื่อล่าสุด ก็มีแค่ประโยคสองประโยคแค่นั้นแหละที่พาดพิงถึงว่าเกี่ยวกับความสำคัญของพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย
ข้อความสั้น
ๆ เหล่านี้อิงอยู่กับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมแบบตื้นเขินแต่ว่ากอดเอาไว้แน่นราวกับเป็นคัมภีร์
ราวกับว่าประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่ตายตัว
และไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์ที่ตีความเป็นอย่างอื่นได้ดำรงอยู่เลย
ในแง่นี้ตุลาการจึงสามารถกล่าวประโยคสั้น ๆ
เหล่านี้เป็นเหตุผลประกอบคำตัดสินของตนได้
โดยไม่จำเป็นต้องสาธยายอีกต่อไปว่าทำไมจึงเลือกใช้คำตัดสิน
เลือกใช้เหตุผลอันนั้นมาเป็นหลักฐานประกอบคำตัดสิน
เพียงแค่พูดคำนั้นก็ถือว่ายืนยันในตัวมันเอง ไม่ต้องพิสูจน์อีกต่อไปแล้ว
ทฤษฎีที่ผมกล่าวถึงก็อิงกับประวัติศาสตร์ทั้งสิ้นเช่นกัน
อิงกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมอย่างตื้นเขินเช่นกัน
ไม่มีเหตุผลจากแหล่งอื่นเลยมาประกอบ มีแต่ความเชื่อทางประวัติศาสตร์ซึ่งง่อนแง่น
แต่อำนาจทุกชนิดในสังคมไทยกลับช่วยกันค้ำจุนเอาไว้จนกลายเป็นความจริง
หมายถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นไม่มีความเข้มแข็งทางวิชาการอยู่เลย
แต่อยู่ได้หรือกลายเป็นความจริงได้เพราะอำนาจล้วน ๆ
สถาปนาจนมั่นคงแข็งแรงจนกลายเป็นความจริงยิ่งกว่าความจริงใดทั้งหมด
ความรู้ที่ดิ้นได้ทางประวัติศาสตร์เพราะมีหลายด้านกลับกลายเป็นสัจจะที่ตายตัว
ใช้ตัดสินชีวิตและอนาคตของผู้คนจำนวนมาก หลายครอบครัวได้ ความเชื่อผิด ๆ
ทางประวัติศาสตร์ที่บรรดาผู้นิยมเจ้าอุปโลกน์กันขึ้นมานี้แหละทำให้เกิดคำกล่าวขึ้นมาว่า
ยิ่งจริงยิ่งผิด หมายถึงการต่อสู้ในคดี 112
ถ้าคุณใช้วิธีการแนวทางต่อสู้แบบทนายอานนท์ก็คือ พูดความจริง
คำเตือนก็คือว่าแพ้ทุกราย เพราะยิ่งจริงยิ่งผิด
เหตุผลก็คือการอิงกับประวัติศาสตร์อย่างที่กล่าวมา beyond
การพิสูจน์การท้าทายทั้งสิ้นแล้ว
เท่ากับว่ามีการพยายามละเมิดความเชื่อทางประวัติศาสตร์เช่นนั้น
เพราะว่าไปท้าทายมิจฉาทิฐิของตุลาการ ของราชนิติธรรม วิธีทางต่อสู้ของ อานนท์ นำภา
ด้วยความจริง คงไม่ช่วยให้เขาชนะคดี แต่เป็นการตีเข้าไปตรงหัวใจของราชนิติธรรมอย่างตรงที่สุด
และด้วยเหตุนี้เอง
การต่อสู้ที่เกี่ยวกับความรู้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ 2475
และการต่อสู้ในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยไม่ว่าในยุคสมัยไหน
จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ผมเองก็เคยสงสัยตอนมันฮือฮา อะไรกันนักหนาวะ?
มันก็ประวัติศาสตร์ ก็เถียงไปซิ อะไรกันนักหนาต้องถึงกับคอขาดบาดตาย พอผมพยายามเข้าใจอย่างน้อยเป็นเหตุผลหนึ่ง
ผมไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลทั้งหมดหรือเปล่า รัฐไม่จำเป็นที่เขาจะต้องตระหนักด้วยนะ
แต่ผมคิดว่านี่คือเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ
เพราะราชนิติธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอิงกับ 2475
ที่ทำให้คณะราษฎรไม่มีความสำคัญ ปรีดี เป็นผู้ร้ายราวปลาหมึกยักษ์
ถ้าเมื่อไหร่แอนนิเมชั่นครอบครองหัวใจประชาชน ศูนย์ทนายฯ ไม่มีวันได้ฉลอง ไม่มีทาง
เขาต้องรักษาตรงนี้ไว้ให้ได้ แล้วทำไมถึงได้เป็นตายร้ายดีกันเหลือเกิน
กับหนังสือกับงานของ ณัฐพล ใจจริง รวมถึงผมด้วย เพราะเราพยายามพูดถึงบทบาทที่แท้จริงของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง
ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ราชนิติธรรมยอมให้มีการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้
เพราะอาจจะทำลายราชนิติธรรมทั้งหมดให้พังครืนลงมาก็เป็นไป
ระบบกฎหมายทั้ง
2 ระบบนี้อยู่ด้วยกันได้อย่างไรในทางปฏิบัติ โดยหลัก ๆ ที่ผมจะอธิบายใน 5
ข้อต่อไปนี้มีข้อสรุปอยู่ตรงที่ว่าอยู่ด้วยกันได้เพราะเป็นการปกครองด้วยสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย
(Rule by
Legal Execption : RbLE) ก็คือ
1)
จะแยกแยะคดีที่เกี่ยวกับภัยความมั่นคงหรือภัยที่กระทบผลประโยชน์ต่อรัฐ
ออกจากคดีอาญาสามัญระหว่างประชาชนด้วยกันและคดีอื่น ๆ ซึ่งไม่มีนัยยะต่อเรื่องความมั่นคง
กรณีอย่างหลังให้ใช้กฎหมายตามบรรทัดฐาน กรณีอยากแรกหรือสงสัยว่าอาจเป็นอย่างแรก
ให้ถือเป็นสภาวะยกเว้น ให้งดใช้กฎหมายตามบรรทัดฐาน
แล้วใช้กฎหมายและหลักการที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐแทน
ปัญหาคือว่าเส้นแบ่งระหว่าง
2 โซนนี้มักคลุมเครือ ตามใจผู้มีอำนาจ มีเพียงไม่กี่ประเทศ ถ้ายกตัวอย่างเช่น
สิงคโปร์ เขาระบุชัดเลยนะ มีกฎหมายมากกว่า 4 ฉบับ แต่ 4 area
เท่านั้นที่เขาถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง เขียนไว้ชัด ประชาชนเข้าใจชัด
ซึ่งก็ใช้อำนาจรัฐเกินกว่าอำนาจปกติแล้วนะ
จนหลายคนประท้วงว่าไม่ชอบใจรัฐบาลสิงคโปร์หาว่าเป็นรัฐเผด็จการ
แต่อย่างน้อยเขาเป็น Prerogative State ซึ่งเขียนไว้ชัด คาดการณ์ได้
ประชาชนรู้ดีว่า 4 area นั้นคืออะไร ส่วนใหญ่ Prerogative
State ในโลกนี้ เส้นแบ่งระหว่าง 2 ปริมณฑลนี้ไม่
ยิ่งปล่อยให้ความไม่ชัดเจนกลายเป็นเครื่องมือในการจัดการ
ยิ่งไม่ชัดเจนยิ่งทำให้เราทำอะไรลำบาก ยิ่งทำให้ผู้คนอยู่ในความกลัว
นี่คือปัญหาใหญ่
ความคาดการณ์ของรัฐอภิสิทธิ์ว่าตรงไหนคือเส้นแบ่ง เราคาดการณ์ไม่ได้
ความคลุมเครือแกว่งไปมาไม่คงเส้นคงวา บ่อยครั้งรับใช้การเมืองหรือรับใช้ผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ทรงอำนาจด้วยซ้ำ
ประชาชนเดาไม่ออกว่าตัวเองจะหลุดเข้าไปในแดนที่ถูกแทรกแซงหรือถูกจัดการด้วยอำนาจพิเศษเมื่อไหร่
2)
ให้ถือว่ารัฐมีสถานะหรือมีอำนาจเหนือนิติศาสตร์ตามบรรทัดฐานได้ หมายความว่าถ้ามีความขัดแย้งระหว่างการใช้อำนาจพิเศษกับการใช้อำนาจปกติตามป.วิอาญา
ให้ถือว่าการใช้อำนาจพิเศษนั้นมีสถานะเหนือกว่าการใช้กฎหมายปกติ
3)
อำนาจพิเศษมากับสภาวะยกเว้น เพราะฉะนั้น
หลายรัฐจึงต้องพยายามสร้างสภาวะยกเว้นให้เกิดขึ้น กรณี “บุ้ง” ทนายด่างขอไฟล์กล้องวงจรปิดในวันที่บุ้งเสียชีวิต
ซึ่งทางราชทัณฑ์อ้างเรื่องความมั่นคงเพราะเป็นโรงพยาบาลในเรือนจำของรัฐ นี่ไง!
สภาวะไม่มียกเว้นเลยนะ คุณก็ทำให้เป็นเรื่องความมั่นคง ทำให้กลายเป็นสภาวะยกเว้นซะ
ทำให้คุณหลุดออกจากกฎหมาย ในกรณีนี้หลุดออกมากลายเป็นรัฐอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดอีกแล้ว
ตัวอย่างแบบนี้มีเป็นร้อยเป็นพันในสามจังหวัดภาคใต้
4)
ในกรณีของไทยนั้น กฎหมายไทยให้อำนาจพิเศษในกฎหมายหลายระดับ
ระดับที่
1 อยู่ในกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉิน อันนี้เป็นปกติของทุกรัฐมี
ซึ่งโดยมากจะให้อำนาจรัฐสภา ประกาศใช้เฉพาะจุด เฉพาะชั่วคราว เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ในประเทศไทยสามารถใช้ต่อเนื่องหลายสิบปีในยุคสงครามเย็น
และกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถใช้ในภาคใต้ เป็นเวลาต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว
ไม่ได้ฉุกเฉิน ไม่ได้ชั่วคราวอย่างที่มาตรฐานระบบทั่วไปจะทำ
ระดับที่
2 มีการออกกฎหมายความมั่นคงในราชอาณาจักรที่ให้อำนาจพิเศษโดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎอัยการศึก
ไม่จำเป็นต้องอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีอย่างนี้มีในมาเลเซีย สิงคโปร์
และประเทศไทยก็เอามาใช้ กฎหมาย
พ.ร.ก.ความมั่นคงในราชอาณาจักรฉบับแรกที่เรารู้จักกันดีในชื่ออื่นก็คือ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
พ.ศ. 2495–2543 เว้นไป 8 ปี โดยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีออกมา
ทำให้พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งหมดอายุไปแล้ว เลิกใช้ไปแล้ว
มีผลบังคับใช้แต่ไม่ถึงกับเป็นพ.ร.บ. เป็นคำสั่งนายกฯ
ต่อมาก็ออกพ.ร.บ.ความมั่นคงปี 2551 ปัจจุบันเราก็มีพ.ร.บ.นี้อยู่
ระดับที่
3 มีการระบุข้อยกเว้นไว้กฎหมายปกติสารพันฉบับ เคยได้ยินมั้ยครับ กฎหมายนี้ บลา ๆ ๆ
เว้นแต่เป็นภัยต่อความมั่นคงโดยก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือกระทบกระเทือนศีลธรรมอันดีของประชาชน
เว้นแต่/หรือ นี่แหละมีอยู่ในกฎหมายการพิมพ์ กฎหมายข้อมูลข่าวสาร กฎหมายป่าไม้
กฎหมายความเป็นส่วนตัว กฎหมายจริยธรรมสื่อฯ กฎหมายพ.ร.บ.คอมฯ
และอีกไม่รู้กี่กฎหมาย เท่ากับว่าเขาสามารถจะ “เว้นแต่” เพื่องดใช้กฎหมายเหล่านั้นได้เสมอ
การเว้นแต่อย่างนี้มีอยู่แม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เราถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดคือรัฐธรรมนูญปี
40 คุณไปดูหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพที่เรายกย่องกันนักหนา มี 25 มาตรา 20 มาตรามี “เว้นแต่”
อยู่ด้วย เท่ากับว่าสามารถงดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังได้เลย
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือกฎหมายอาญาภาค
2 หมวด 1 ที่บัญญัติความผิดต่อความมั่นคงต่อราชอาณาจักรไว้ด้วย
ใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2451
ก็คือยาวนานกว่ากฎหมายฉบับใดของไทยและคงทนแทบไม่มีการแก้ไข
ไม่เคยถูกฉีกทิ้งอย่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายหมวดนี้คือหมวดที่รวมมาตรา 112 และ 116
ไว้ด้วย เป็นกฎหมายที่ให้สภาวะยกเว้นอย่างถาวรมาตั้งแต่ปี 2451 แล้ว
เราเองต่างหากดูเหมือนเราจะเข้าใจผิดว่ากฎหมายที่เราใช้ยึดตามหลักนิติธรรมจึงจะได้มีสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐาน
ที่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิด
จึงจะถือว่าภาระพิสูจน์เป็นของผู้กล่าวหา ในความเป็นจริงนั้น
กระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด รวมทั้งศาลในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัวด้วย
ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองด้วยสภาวะยกเว้นของราชนิติธรรม
ซึ่งเป็นนิติรัฐอภิสิทธิ์สยามปกครองด้วยสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย
นั่นหมายความว่าระงับหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดไว้ก่อน
ระงับหลักการที่ว่าด้วยสิทธิการประกันตัว ระงับหลักการที่ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์
ระงับพวกนี้ไว้ก่อน กลับไปใช้หลักการตามแบบโบราณก็คือว่าในความผิดที่เป็นภัยความมั่นคงของรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ต้องถือว่ามีความผิดไว้ก่อน และจำเลยต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์ ถ้าสมัยเก่ากว่านั้นเคยได้ยินมั้ยที่เขาว่าให้ดำน้ำลุยไฟ
อันนั้นคือการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 5 เลิกใช้ไปแล้ว
แต่ว่าหลักการอันนั้นยังอยู่
ผมคิดว่าในสมัยหลังที่เรียกร้องกันแทบตายเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา
เผลอ ๆ เราเข้าใจเขาผิด ไม่ได้หมายถึงจะไม่ให้เรียกร้องนะ
แต่โปรดตระหนักว่าเขาใช้หลักกฎหมายอีกอย่างหนึ่ง
คือใช้หลักกฎหมายซึ่งเรื่องเหล่านี้ “งด” หรือ “ระงับใช้” ไว้ชั่วคราว
ในกรณีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
หมายถึงความผิดอาญาระหว่างประชาชนด้วยกัน และการละเมิดทางแพ่งทั้งหลาย
ก็ปล่อยให้วิธีพิจารณาความอาญาตามปกติดำเนินไปตามปกติ แต่สำหรับสังคมไทยนั้น
ระบบกฎหมายในภาวะปกติหมายถึง ระบบกฎหมายที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์
เต็มไปด้วยเส้นสายอภิสิทธิ์สารพัดเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ของสังคมไทย
เราพบเห็นเป็นข่าวอยู่ประจำ ผมขอกล่าวให้ชัดว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์
ไม่จำเป็นต้องเกิดในสังคมที่เป็นเส้นสาย สิงคโปร์ก็ไม่ใช่
แต่นิติรัฐอภิสิทธิ์ของไทยนั้น ในคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
บังคับใช้วิอาญา วิแพ่งตามปกติ เราต้องไปสู้รบกับระบบอภิสิทธิ์เส้นสายอีกทอดหนึ่ง
เพราะมันเป็นภาวะปกติของสังคมไทย
ในส่วนนี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน
ผมขอเว้นไว้เพราะมันมากเหลือเกิน ถ้าหากคุณสนใจนะ
แนะนำให้อ่านซีรีย์เกี่ยวกับระบบความยุติธรรมไทยว่ามีปัญหาอย่างไร
อ่านได้จากเว็ปไซต์ 101.world ที่ผ่านมามี 6-8 ชิ้น ค่อนข้างดีมาก มีสถิติ มีรูปธรรมชัดเจน
เวลาผมเหลือไม่มาก
ผมขอสั้น ๆ ว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์เป็น “นิติศาสตร์อปกติ” ที่มุ่งสยบให้เรายอมจำนน
เพราะเชื่อว่าพวกเราขลาดและพวกเราเขลา เชื่อว่าประชาชนจะยอมศิโรราบ
เพราะราชนิติธรรมเป็นระบบนิติศาสตร์ที่ใช้ปกครองประชาชนที่ยังไม่พร้อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
จำเป็นต้องมีรัฐผู้รู้ดีเป็นผู้นำทาง
ความมั่นคงของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำพาประชาชนทั้งหมดไปด้วยกัน ในกรณีของไทยนั้นหมายถึงความมั่นคงของรัฐที่มีชนชั้นนำเป็นผู้นิยมเจ้า
ความคิดทำนองนี้มีมาอย่างแต่เนื่องและยังไม่เคยหายไปไหน
หลายร้อยปีแล้ว ระเบียบกกต.ที่ออกมาเป็นปัญหามากมาย คุณรู้สึกมั้ยว่าเทียบเราเป็นเด็ก
ป.1 ราวกับว่าเท่ากับจับมือเราเขียน ก, ข ประชาชนทำอะไรเองไม่เป็นเลย จะสมัคร สว.
ยังต้องจับมือ แล้วบอกขีดเส้นใต้ 1 เส้น ขีดเส้นใต้ 2 เส้นตรงไหนบ้าง การถกเถียงเกี่ยวกับความรู้
2475 ก็เช่นกัน อนิเมชั่นที่ออกมาบอกว่าเป็นความรู้ใหม่
นักวิชาการบางคนออกมาป่าวร้องเช่นนั้นก็เพราะเขาเชื่อว่าประชาชนไม่รู้เรื่องรู้ราว
โง่พอที่จะจับโกหกเขาไม่ได้ ว่าความรู้ในชุดอนิเมชั่นนั้นเก่า คร่ำครึ
เป็นความรู้ชุดเดียวกับที่พยายามกลบฝังคณะราษฎร 2475 และให้ร้าย ปรีดี พนมยงค์
มาแล้วหลายสิบปีนับแต่ 2490 ถึง 2520
เป็นความรู้ชุดที่ถูกตอบโต้โดยนักวิชาการประวัติศาสตร์ไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 20
มาจนถึงปัจจุบัน
คนสำคัญคนหนึ่งที่ตอบโต้ความรู้ชุดดังกล่าวคือตุลาการรัฐธรรมนูญที่ชื่อ
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ถึงขนาดว่าให้ ปรีดีและคณะราษฎรเป็นอสูรกาย เป็นปลาหมึกยักษ์
นี่ผมไม่รู้ว่าคิดว่าเราโง่ขนาดไม่รู้จักว่าอสูรกายผู้ร้ายหน้าตาเป็นยังไง
กรณี
“ณัฐพล ใจจริง” ผมขอกล่าวเพียงสั้น ๆ เป็นการใช้วิธีสกปรก
คือณัฐพลเขาทำพลาดในวิทยานิพนธ์ถูกต้อง แต่ในหนังสือของเขาซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เอาส่วนที่ผิดพลาดออกไปหมดแล้ว แต่ความรับรู้ของคนทั่วไปโดยเฉพาะฝ่ายนิยมเจ้า
กลับเชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นก็ยังมีข้อความที่ผิดพลาด ทั้งที่เขาเอาออกไปหมดแล้ว
การที่มันขายดีเป็นเทน้ำเทท่ามันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า
สิ่งที่หนังสือเล่มนั้นเสนอยังใช้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อความที่เป็นปัญหาอยู่เลย
ผู้นิยมเจ้าก็มักจะตีขลุม รวมถึงคนที่พยายามจะสนับสนุน
พยายามส่งเสริมการเล่นงานณัฐพล
ก็พยายามทำให้เข้าใจผิดว่าหนังสือเล่มนั้นก็มีข้อความที่ผิด
อันนี้ผู้นิยมเจ้าเหล่านั้นคงไม่ได้อ่าน
ความรู้นิติศาสตร์ที่อิงอยู่กับประวัติศาสตร์คนละระบบ
คนละชนิด ควรจะมีโอกาสที่จะมีพลวัตเติบโตเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าหากระบบกฎหมายไทยมีลักษณะเฉพาะที่ต้องอิงกับประวัติศาสตร์
ผมได้กล่าวแล้วว่าลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายทั้งโลกต้องอิงกับประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยการที่นักกฎหมายไม่เรียนประวัติศาสตร์จึงเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง
ในประเทศที่พัฒนาผมเคยถามว่าคุณมาเรียนประวัติศาสตร์แล้วคุณจะไปประกอบอาชีพอะไร
นักเรียนผมจำนวนมากเขาตอบว่า ต่อ Law school เพราะเขารู้ว่าประวัติศาสตร์และวรรณคดีเป็นฐานของนักนิติศาสตร์
ประเทศไทยไม่ เราเรียนแค่เทคนิค การที่มีฐานที่ไม่ใช่แค่เทคนิคเพื่อจะรู้จักตีความ
เอาบริบทเข้ามา เอาเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ ประมวลเข้ามาเพื่อให้เข้าใจหลักเหตุและผลของการร่างกฎหมายและการใช้กฎหมายเหล่านั้น
ประเทศไทยนั้นความรู้นิติศาสตร์
ถ้าหากเราต้องการความรู้นิติศาสตร์ที่มาเป็นฐานของระบบกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะของไทย
ต้องยอมให้ความรู้ประวัติศาสตร์ซึ่งมีพลวัตเข้ามาเติบโตและเปลี่ยนแปลงให้ระบบกฎหมายไทยเกิดเป็นพลวัตได้ด้วยเช่นกัน
นี่ฝากเอาไว้สำหรับฝ่ายโน้น โดยเฉพาะนักวิชาการฝ่ายโน้นที่ฟังอยู่
กรุณาเข้าใจหลักง่าย ๆ ทางวิชาการข้อนี้ด้วย
การใช้กฎหมายกำราบนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เพราะเชื่อว่าประชาชนนอกจากเขลาแล้ว ยังขลาดเกินกว่าจะตอบโต้
การคุกคามของรัฐนั้นทำให้เราทุกคนอึดอัด แต่เราไม่ได้หัวหด
เราพยายามต่อสู้ด้วยช่องทางของระบบ ถึงแม้จะไม่แฟร์ แต่ดูซิ!
พยายามแก้รัฐธรรมนูญ พยายามสมัครสว. ทั้ง ๆ ที่ทุกขั้นตอนนั้นมันไม่แฟร์เลย
คนที่ขลาดอย่างแท้จริงคือคนในระบบทั้งหลายที่ไม่กล้าทำตามวิชาชีพของตนอย่างรับผิดชอบ
ทุกระดับ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์
คนเหล่านี้หวาดกลัวต่อการสูญเสียตำแหน่ง ผลประโยชน์ สถานะ และหน้าตา
คนเหล่านี้ต่างหากที่ขลาดกลัวที่สุด
น่าเสียดายว่ารัฐบาลปัจจุบันก็ยังเพิกเฉยทั้งที่รับปากระหว่างหาเสียงว่าจะให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องเหล่านี้
แต่ยังคงปล่อยให้กฎหมายพิเศษ 3 จังหวัด ดำเนินต่อไป ๆ ๆ ทุก ๆ 3 เดือน
ยังไม่มีความคิดที่จะยกเลิกการตีตรวน กำไลข้อมือข้อเท้า
ยังไม่ยกเลิกการที่สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามนักกิจกรรมในที่ต่าง ๆ
และไม่ต้องพูดถึงพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับเรื่องที่กล่าวมาแต่แรก 3-4
ประเด็นนั้นง่ายกว่า ยังไม่ทำเลย เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย
ราชนิติธรรมเป็น
“นิติอปกติ” ที่มุ่งสยบให้เรายอมจำนน แล้วเราเขลาหรือ? เราขลาดหรือ
หากรัฐบาลมีความกล้าหาญ พยายามผลักประตูให้เปิดออกสักบาน สองบาน
ผมเชื่อว่าความหวังของผู้คนจะกลับมามากโข
ประตูบานหนึ่งคือให้ความยุติธรรมกับคนเสื้อแดงและผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ
ประตูอีกบานหนึ่งก็คือนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาทางการเมืองทุกคน
10
ปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายฯ เกิดขึ้นในบริบทดังกล่าว
คุณกำลังเผชิญกับสิ่งที่หนักกว่าที่คุณคิด บริบทของมันคือกฎหมายอำนาจนิยม 2 กระแส
ผนึกกำลังกันเข้ามาภายใต้ฉันทามติของภูมิพล ผนึกกำลังกันเข้ามานับแต่ตุลาการภิวัตน์
2549 ศูนย์ทนายเกิดขึ้นเพื่อพยายามต่อสู้ความถดถอยที่มีลักษณะเฉพาะในประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมายอย่างนี้แหละ
เรากำลังต่อสู้เพื่อแก้ไขระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ของไทยที่ผิดพลาดมาแต่ต้น
ภารกิจสำคัญที่สุดที่ผมบอกแต่แรกว่าเป็นนามธรรม
เอาหัวใจของ Rule
of Law กลับลงไปในกฎหมาย หัวใจนั้นคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ซึ่งจะต้องไม่ปล่อยให้รัฐใช้อำนาจมารุกล้ำ อันนี้เป็นหัวใจของ Rule of Law ทั้งโลก สังคมไทยรู้จักการใช้ปัญญาแค่พอเพียงแค่นั้นแหละ ไม่ต้องใช้มาก
อย่าถกเถียงกันมาก การบอกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่มีนักคิดที่มีความสามารถนั้น
ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ผิดเสียทั้งหมด
เพราะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับเขาเพื่อบรรลุเป้าประสงค์เพื่อรักษาระบอบอำนาจของอภิสิทธิ์ชนไว้
เขาใช้อำนาจ เขาไม่ได้ใช้ความเหนือกว่าทางปัญญา
ทั้งหมดนี้คือบริบทและเงื่อนไขการเมืองที่ศูนย์ทนายฯ
และทนายผู้รักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ ผมเองทำได้เพียงศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมาย
ว่าความไม่เป็น ผมตระหนักในสิ่งนี้จึงรู้สึกว่า ภารกิจอันนี้หนักยิ่งกว่าทนาย, นักสิทธิมนุษยชนยุคก่อนหน้านี้เผชิญมาทั้งหมด
ไม่ประหลาดใจเลยถ้าคุณจะเหนื่อย 10 ปีที่ผ่านมาคุณทำได้ขนาดนี้
เป็นเรื่องน่ายกย่องมาก
จิตร
ภูมิศักดิ์ ตอนเขาเขียน แสงดาวแห่งศรัทธา คุณคิดว่าเขาเขียนขณะที่มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม
หรือเขียนขณะที่ท้ออย่างที่สุด เขาเขียนว่า “พายุฟ้า ครืนข่ม คุกคาม เดือนลับยาม
แผ่นดิน มืดมน” เขาเขียนตอนที่กำลังมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม หรือหดหู่อย่างมากเลย
นึกดูซิ “ดาวศรัทธา ยังส่องแสง เบื้องบน ปลุกหัวใจ ปลกคนอยู่มิวาย”
ผมถามว่าดาวศรัทธาหรืออะไรก็แล้วแต่ โผล่มาให้เขาเห็นตรงไหน มันคือความมืดมนที่สุด
ดาวศรัทธามีอยู่ที่เดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าดาวศรัทธา
ดาวศรัทธาอยู่ในใจเราเอง
จงมีศรัทธาที่จะต่อสู้กับความทุกข์ยากลำเค็ญที่มาท้าทายอย่างร้ายกาจที่สุด ความทุกข์ยากลำเค็ญที่ร้ายกาจที่สุดคือความสิ้นหวัง
ไม่ใช่ปืน ไม่ใช่อาวุธ ไม่ใช่กฎหมาย คือความสิ้นหวัง
และความสิ้นหวังนั้นอาวุธที่สู้ได้ดีที่สุดก็คือศรัทธาที่เรายังมี
มีความเชื่อมั่นว่าเราบอกตัวเองได้ว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่าง
ซึ่งมีคุณค่าและทำต่อไป ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่แคร์ว่ามันจะจบในรุ่นเราหรือไม่
ทำมันจนเป็นชีวิตปกติ ผมเชื่อว่า จิตร ภูมิศักดิ์
เห็นดาวศรัทธาดวงนี้ในตัวของเขาเอง ดาวศรัทธาดวงนี้เราพบได้ทั่ว ๆ ไป
เอาเข้าจริงไม่ใช่คุณสมบัติพิเศษของ จิตร ภูมิศักดิ์
อยู่ในตัวนักโทษการเมืองในที่คุมขังทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าแทบทุกคน อยู่ในตัวของ “บุ้ง”
ผมเชื่อว่าจนวาระสุดท้าย ผมเชื่อว่าอยู่ในใจพวกเราทุกคนที่ศูนย์ทนายฯ
และทนายสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย
ขอขอบคุณครับ
ไม่ใช่ขอบคุณที่เชิญผมมาพูด แต่ขอบคุณศูนย์ทนายฯ และขอบคุณทนายสิทธิมนุษยชนทุกคน
ขอบคุณ อานนท์ นำภาและครอบครัว ขอบคุณนักโทษการเมืองทุกคนที่แบกรับความยากลำบากด้วยศรัทธาที่มั่นคงกว่าพวกเราในที่นี้หลายเท่า
ขอบคุณครับ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ