วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา : ต่อต้านรัฐประหาร ยกเลิกกฎอัยการศึก


“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา : ต่อต้านรัฐประหาร ยกเลิกกฎอัยการศึก


งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม” #10ปีรัฐประหาร57

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน

26 พฤษภาคม 2567


สวัสดีครับ ผม “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถ้าฉายาก็จะเป็น “ไผ่ ดาวดิน” “ไผ่ ทะลุฟ้า” “ไผ่ สามัญชน” หรืออะไรก็เรียกได้หมด วันนี้ผมจะมาพูดในส่วน 5 ปีแรกของการรัฐประหาร


เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อมีการเกิดรัฐประหารขึ้นมา พวกเราตอนนั้น ผมก็เป็นนักศึกษาอยู่ พอเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นมาเราก็มีการต่อต้าน สิ่งที่เราทำได้ในตอนที่เราเป็นเด็ก ณ วันนั้นคือเราไม่รู้เราจะทำอะไร เราก็เขียนป้ายครับ สิ่งที่เด็กหนุ่มคนนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้น เขากับเพื่อน ๆ ของเขาก็หาวิธีการต่อต้าน ก็เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ตอนนั้นยังไม่โดนคดีนะครับ เราก็แสดงสัญลักษณ์ในเฟซบุ๊กของเรา


หลังจากนั้นพวกเราก็ไม่ได้คุยแค่คนเดียวแล้ว เรากับเพื่อน ๆ ร่วมกันขยับขึ้นมา ตอนนั้นพวกเรามีกันอยู่ 7 คน (แก๊งค์ดาวดิน) ที่ออกมาเคลื่อนไหว ออกมาต่อต้าน ณ วันนั้นเป็นเพียงแค่หยิบมือ ตอนนั้นพวกเราน้อยมาก เราก็ถือหลักปรัชญาที่บอกว่า “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่” พวกเราทั้งหมดก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการต่อต้านเผด็จการทหาร จนเกิดเหตุการณ์นี้


หลังจากที่เราต่อต้านขึ้นมา เราสู้ทุกวิถีทาง ก่อนที่จะมีการชู 3 นิ้วต่อหน้าประยุทธ์ เราพ่นสีอยู่หน้าค่าย ร.8 ค่ายทหาร ต่อต้านเผด็จการทหาร เขาลบ วันต่อมาเราไปพ่น เขาก็ลบ พ่น-ลบ สู้กันอยู่อย่างนี้ จนเขาก็เอาคดีให้กับเรา พอเขาเอาคลิปมาให้ดูว่าพวกคุณไปพ่นสี เขาก็เรียกไปเจรจาต่อรองว่าไม่ให้พ่นอีก ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี เราเริ่มเข้าไปสู่สายตาของเผด็จการทหาร


จนกระทั่งวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 พวกเราก็ไปชู 3 นิ้ว ต่อต้านเผด็จการทหาร ณ วันนั้นเราแทบจะไม่ได้พูดเลย การที่เราไปแสดงสัญลักษณ์หน้าประยุทธ์ เพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น และวันนั้นเองที่ทำให้เรารู้จักศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากเหตุการณ์นี้ เราก็เจอกับทนายความตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เขาเข้าไปหาเราที่ค่ายทหาร ณ วันนั้นทหารจับเราหลังจากชู 3 นิ้ว เอาเข้าไปในค่ายทหาร เขาเรียกว่า “ห้องเย็น” สิ่งที่ทหารตั้งข้อหาเราคือว่า เครื่องมือที่กระทำความผิด เวลาอยู่ในศาลเขาจะบอกว่าคุณมีเครื่องมืออะไรบ้างในการทำความผิด ที่พวกเราโดนคือ 3 นิ้ว เขาเขียนในสำนวนว่าคือ 3 นิ้ว เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ป้ายผ้า, เสื้อ คือเครื่องมือกระทำความผิด แล้วเขาก็ให้เราไปยืนอยู่กำแพง ให้เราถอดเสื้อ เพราะว่าเขาบอกว่าเสื่อคือเครื่องมือกระทำความผิด


วันนั้นสุดท้ายแล้วพวกเราก็ยืน แต่เราบอกว่าเราไม่ถอด ทหารก็มาถอดเสื้อ ยึดเสื้อเราไป ซึ่งวันนั้นเราได้เรียนรู้แล้วว่า การที่เราออกไปชูป้ายผ้า การที่เราใส่เสื้อ มันผิดเหรอ? ทำไมถึงต้องมายึดเสื้อ ยึดป้ายผ้า ทำไมถึงต้องมาจับกุมเรา วันนั้นเรายังเป็นเด็ก และเรารู้สึกว่าอยากจะต่อต้านต่อสู้ และสิ่งที่เราโดนวันนั้นคือ “คำสั่งคสช.” ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และเราขึ้นศาลทหาร


เสื้อชุดนี้ที่สกรีนคำว่า “ไม่เอารัฐประหาร” โดนยึดหลังจากวันนั้น ทหารปลดเสื้อของเรา แล้วเราก็ไปถ่ายรูปหน้าค่ายทหาร ถ้าใครจำได้ว่าหลังจากนั้นเราก็ไปถ่ายรูปหน้าค่ายโดยที่ไม่มีเสื้อ เพราะเสื้อถูกยึดว่าเป็นเครื่องมือกระทำความผิด


พอบริบทปี 57 ผ่านไปแล้ว มันคือการบังคับใช้กฎหมายแบบคำสั่งคสช. ประยุทธ์สั่งอะไรคือกฎหมาย ทหารจับเราขึ้นพิจารณาในศาลทหาร พอปี 58 มันมีบทกวีหนึ่ง มันคือช่วงที่มีหลายกลุ่มออกมาต่อต้านมากขึ้น ช่วงนั้นพวกเราก็รู้สึกว่าบทกวีนี้มันตอบเรา ณ วันนั้น


มึงไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง

และฟ้าก็ไม่ได้อ้างว้างอย่างที่เห็น

ถ้าเธอเลือกเส้นทางอย่างที่เป็น

เธอจะเห็นว่าผองเพื่อนก็เคลื่อนพล


ในปี 58 พวกเราก็เริ่มสรุปบทเรียนว่าการต่อสู้ของแต่ละกลุ่มที่คัดค้านรัฐประหารกระจัดระจาย ไม่มีพลัง ก็เกิดการรวมกันในนาม ประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM มีทั้งกรุงเทพฯ ขอนแก่น 14 นักศึกษาที่รวมกันมาเพื่อที่จะต่อต้านกับเผด็จการทหาร มีการเล่นดนตรี มีการปราศรัยอย่างที่เราเคยทำกัน พวกเราก็โดนคดีอีก เราโดนคดีแรงมากขึ้น จากคำสั่งคสช. เป็นมาตรา 116 ในครั้งนั้นทำให้พวกเรา 14 คน โดยจับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ครั้งแรก นี่คือความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้น การที่เรามารวมกันต่อสู้เรียกร้องนี้เราโดนมาตรา 116 โดนจับที่สวนเงิน แล้วก็เข้าไปถูกฝากขัง 14 นักศึกษา


หลังจากนั้นก็มี “ประชามติ” ปี 59 พวกเราในนาม NDM ก็ร่วมมือกันทำแผ่นพับ ทำข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อที่จะรณรงค์ พวกเราถูกสกัดกั้นทั้งหมดเลย การส่งใบปลิวจากกรุงเทพฯ ไปที่ขอนแก่นโดนสกัดกั้น การรณรงค์แจกใบปลิวทุกที่ โดนจับติดคุก นี่คือช่องทางที่เปิดโอกาสให้สู้ คุณบอกว่าจะเปิดทำประชามติ เราก็ลงไปแสดงความคิดเห็น แต่ว่าสิ่งที่เราได้กลับมาคือเขาก็จับพวกเราอีก


มีคนที่โดนจับที่ภูเขียว โรมโดนจับที่กรุงเทพฯ ทีมรามฯ โดยจับหลายคน คนที่ออกมารณรงค์ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดนจับ! ติดคุก! ส่วนนั้นก็คือส่วนที่การใช้กฎหมายเริ่มแรงขึ้น ในเมื่อผู้ปกครองมองว่าเด็กพวกนี้เจอคำสั่งคสช. ไม่หลาบไม่จำ เอา 116 มาใส่อีก ไม่หลาบไม่จำ สุดท้ายสิ่งที่เขาใช้มาเป็นเครื่องมือคือ มาตรา 112


ในปี 2559 มีการแชร์ข่าว BBC มีการเปลี่ยนรัชกาล มีการออกข่าวประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีคนแชร์ข่าวเยอะมาก และหนึ่งในนั้นผมก็เป็นคนแชร์ด้วย แต่ว่าคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและไปแชร์ตอนนั้นโดนคดี 112 ผมกับตูนเป็นคนที่โดน 112 ณ วันนั้น ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่อยู่ในสังคมนี้ ในสังคมบรรยากาศเผด็จการ เขาอนุญาตให้ผมอยู่ข้างนอกได้เพียงแค่ 2 ปี อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในคุก


กระบวนการที่พิจารณามาตรา 112 ของผม แตกต่างจากมาตรา 116 แตกต่างจากคำสั่งคสช.อย่างสิ้นเชิง วันที่ผมโดนประทับตราว่าโดน 112 ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด กระบวนการทางกฎหมายพอเป็นเรื่องนี้เขาก็จะเปลี่ยนท่าทีการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง จนสุดท้ายแล้วการพิจารณาคดีนี้ผมได้เข้าเรือนจำไปวันที่ 2 ธันวาคม แล้วหลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ออกมาอีกเลย


กระบวนการต่อสู้ ผมอยู่ในคุก 8 เดือน เพิ่งจะมาสืบพยาน และในวันนั้นเองที่ผู้พิพากษาไปกล่อมกับครอบครัวผม ไปกล่อมแม่ผมว่าให้ลูกรับสารภาพ ถ้าสู้ต่อไปยังไงก็ไม่ชนะแน่ สู้ต่อไปติดยาวแน่ ทำอย่างไรที่จะให้ออกมาเร็วที่สุด สุดท้ายกระบวนการก็บีบให้ผมรับสารภาพ เขาบอกกับผมว่าถ้ารับสารภาพจะยกขึ้นมา 3 ปี ลดให้เหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งตอนนั้นผมติดมาแล้ว 8 เดือน พอผมรับสารภาพเขาตัดสินมา 3 ปี ไม่เหมือนอย่างที่คุยกันไว้


นี่คือกระบวนการที่มันเกิดขึ้น ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่คำสั่งคสช. สิ่งเหล่านี้เราเห็นได้ว่าเขาไม่อนุญาตให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว ได้คิด ได้เชื่อ ได้เฉิดฉายในความฝันของเขา เขาปิดกั้นเราทุกอย่าง ผมกลับไปดูนะครับว่าความผิดมันไม่ได้แค่ 3 นิ้วหรอก มันไม่ใช่แค่ป้ายผ้าหรอก


ถ้า 3 นิ้วนั้นมันเป็น 3 นิ้วรักสถาบัน เขาอนุญาตมั้ยครับสังคมนี้

ถ้าป้ายผ้านั้นเป็นป้ายบอกว่าทรงพระเจริญ อนุญาตมั้ยครับ

ถ้าสนับสนุนเผด็จการทหาร อนุญาตมั้ยครับ


ประเด็นคือเขาไม่ให้ความคิดเหล่านี้อยู่ในสังคมนี้เลย ไม่ว่าจะเป็น 3 นิ้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ หรืออะไรต่าง ๆ เขาไม่อนุญาตให้เราคิด ดังนั้นแล้วใน 5 ปี ที่ความอยุติธรรมมันเกิดขึ้น แน่นอนครับว่ามันมีคนที่หล่นหายจากขบวนการต่อสู้นี้ แน่นอนเครื่องมือที่ฝ่ายขวาใช้มันสำเร็จ แน่นอนว่าเขาไปบีบครอบครัว เขาใช้กฎหมายมันสำเร็จ มันกด มันปราบคนได้


แต่ความอยุติธรรมที่มันอยู่ทุกวันนี้ มันสร้างคนที่ออกมาต่อสู้เหมือนกัน จากวันนั้นมาก็มีคนมาต่อสู้อีก แล้วความอยุติธรรมที่มันยังอยู่ทุกวันนี้ มันจะมีคนที่ออกมาต่อต้านและต่อสู้เรื่อย ๆ ดังนั้นแล้วนี่คือภาพสุดท้ายที่ 5 ปีแรกที่ผมอยู่ในสังคมนี้ อยู่ได้เพียงแค่นี้ครับ จากนั้นผมก็ติดคุกจนกระทั่งรับปริญญาก็รับจากคุก


นี่คือชีวิตของคนหนุ่มสาวที่อยู่ในบรรยากาศของเผด็จการทหาร ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เมื่อเขาใช้ช่องทางต่าง ๆ เขาโดนกฎหมายทุกอย่างปราบปรามเขา และวันหนึ่งวันที่คำสั่งคสช.หมดไป คดีนั้นไม่มีความผิดแล้ว แต่ ณ วันนั้นเราถูกตราหน้าว่าผิด เราติดคุก ความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นนี้มันจะมีคนที่จะจดจำ ผมเองเป็นหนึ่งในนั้นที่จากนี้ไปเราก็จะไม่ยอม เราจะหาวิธีต่อสู้จนกว่าประเทศนี้มันจะเปลี่ยน ความอยุติธรรมนี้จะเปลี่ยน


วันนี้ก็ 10 ปีรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ก็ยังอยู่กับเราตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ก็อยากจะขอเสียงปรบมือให้กับศูนย์ทนายฯ ที่ช่วยเหลือพวกเราและขอประณามกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น กับการใช้กฎหมาย กับการวิสามัญกระบวนการยุติธรรม ขอประณามสิ่งเหล่านี้อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก และถ้ามันเกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกคนช่วยกันออกมาต่อต้านให้มากกว่านี้


ผมเชื่อว่าวันนี้สิ่งที่เราต้องยืนยันต่อไปคือ ประเทศนี้อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ขอบคุณครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ