วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ธิดา ถาวรเศรษฐ : วาระ 10 ปี การรัฐประหาร 2557 มีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย

 


ธิดา ถาวรเศรษฐ : วาระ 10 ปี การรัฐประหาร 2557 มีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย 


การทำรัฐประหาร 2557 ทำความเสียหายแก่ประเทศไทยทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อย่างสุด ๆ เพื่อดำรงอำนาจของระบอบจารีตอำนาจนิยม ซึ่งนับตั้งแต่หลังยุคสฤษฎ์-ถนอมเป็นต้นมา ไม่เคยมีการทำรัฐประหารครั้งไหนที่ผ่านการวางแผนและสมบูรณ์แบบเท่ากับการทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 อีกแล้ว


ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาความตกต่ำภาคการผลิต, อุตสาหกรรม, เกษตรกรรม, ภาคพาณิชย์, การตลาด, แรงงานฝีมือ ตัวเลข GDP เชิงเปรียบเทียบกับชาติอื่นในอาเซียน การเติบโตเชิงตัวเลข GDP ขีดความสามารถในการแข่งขันล้วนเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ไม่ดีพอที่จะหนุนช่วยภาวะการเศรษฐกิจด้านการตลาด  ดังนั้นทั้งตัวเลข GDP และความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน หนี้ประเทศ ล้วนวิกฤติทั้งสิ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ยากที่จะฟื้นตัวให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ทันสถานการณ์โลกปัจจุบันและอนาคต


ในด้านการเมือง การรัฐประหาร 2557 เป็นการทำรัฐประหารที่ครองอำนาจได้นาน ถ้านับว่ามีการสืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบันก็ถือว่ากว่าสิบปี และไม่แน่ว่าจะกดดันพรรคการเมืองสำคัญ คือพรรคเพื่อไทย ให้เดินตามเส้นทางเดิมที่คณะรัฐประหารวางไว้ เช่นที่กรรมการยุทธศาสตร์ชาติวางไว้ ดิฉันถือว่านี่เป็นการทำรัฐประหารที่ยื้อหยุดเวลาพัฒนาประชาธิปไตยอย่างรุนแรง มีอานุภาพที่สุด ทำให้อำนาจการเมืองการปกครองไปอยู่กับฝ่ายจารีตอำนาจนิยม ที่ใช้การทำรัฐประหาร 2557 ได้ผลมากที่สุดเกินกว่า 1 ทศวรรษ ความต่อเนื่องและบทเรียนของการทำรัฐประหาร 2549 ทำให้มีการวางแผนการทำรัฐประหาร 2557 อย่างรอบคอบ พิถีพิถัน และเล็งผลเลิศมากที่สุด ซึ่งก็คือการถอยหลังทางการเมืองอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษนี้


ตั้งแต่การทำรัฐธรรมนูญฉบับล้าหลังที่สุด การสร้างอำนาจ กอ.รมน. เป็นรัฐความมั่นคงของทหารซ้อนรัฐเบื้องหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง และมีบทเฉพาะกาลที่สร้างอำนาจ สว. ของ คสช. อยู่ได้นาน และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกองค์กรอิสระทั้งหลาย สว.ยังมีอำนาจกำหนดรัฐบาล กำหนดนายกรัฐมนตรี และส่งผลกระทั่งวันนี้ แม้ สว. จะหมดวาระไปแล้ว ก็กำลังจัดการนายกรัฐมนตรีที่ตนเองไว้วางใจไปแล้วก็ตาม และแม้จำต้องให้ “พรรคเพื่อไทย” มาเป็นพรรคนำจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว แต่ก็ยังแสดงออกถึงธาตุแท้ของจารีตอำนาจนิยม ที่จะต้องควบคุม “พรรคเพื่อไทย” ให้อยู่ในอำนาจของฝ่ายจารีตนิยมเดิม รวมทั้งต้องการให้คุณทักษิณจำกัดบทบาทของตน ไม่ให้ล้ำเส้นตามที่คณะรัฐประหารเดิมได้ขีดเส้นไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความมั่นคงและยุทธศาสตร์ชาติ และไม่แย่งอำนาจไปจากฝ่ายจารีตอำนาจนิยม แต่เป็นลูกน้องเชื่อง ๆ ซึ่งคงเป็นไปได้ยากสำหรับคุณทักษิณ ชินวัตร ที่กำหนดภาพเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีภาวะผู้นำสูง นี่จะเป็นโจทย์ต่อไปของรัฐบาลผสมข้ามขั้วตามแผนของฝ่ายจารีตนิยม ว่าจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่? แต่นี่คือผลพวงการทำรัฐประหารที่มีความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ อยู่ในอำนาจยาวนานเป็นทศวรรษ


จึงกล่าวได้ว่า ผลพวงทางการเมืองของประเทศไทยทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ล้าหลัง ยังไม่คืนอำนาจให้ประชาชนจริง ซึ่งอันที่จริงถ้าไม่มีการหนุนช่วยของ กกต. พรรคพลังประชารัฐก็ไม่สามารถส่งให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผลการคำนวณสูตรพิสดาร ผิดทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ผิดรัฐธรรมนูญ และผิดหลักการคณิตศาสตร์ ก็ทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาแทนที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเสียงหายไ 7-8 เสียง แล้วทำให้เผด็จการสามารถสืบทอดอำนาจได้มาจนถึงการเลือกตั้งปี 2566 ทำให้จำใจต้องจับมือกับเสือตัวเก่า เพื่อไม่ให้เสือตัวใหม่ได้อำนาจการปกครอง นี่จึงเป็นที่มาของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว


ในทางสังคมและอุดมการณ์ ยังขานรับและใช้วาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างผิด ๆ ไม่รู้ความหมายของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจต้องเป็นของประชาชน แต่ใช้คำขวัญนี้ประดุจยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ล้าหลัง และสร้างความแตกแยกรุนแรง ปราบปราม จับกุมคุมขังเด็กรุ่นใหม่ ที่เกือบ 100% ไม่เอาอุดมการณ์จารีตอำนาจนิยม


ความขัดแย้งในสังคมหลังรัฐประหาร 2557 ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และปัญหาความยุติธรรม


โดยเฉพาะกรณีคนเสื้อแดง คดีความที่การฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อาวุธกระสุนจริงยิงประชาชน ถูกแช่แข็งบิดเบือน มีผู้ยังไม่ได้รับการไต่สวนชันสูตรพลิกศพถึง 62 ราย ส่วนกรณีที่ศาลไต่สวนไปแล้วระบุว่าเป็นการตายจากเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร) ก็ไปจบที่อัยการศาลทหาร ไปต่อไม่ได้ เท่ากับยุติการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร) ฝ่ายนักการเมือง ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ถูกยุติคดีความที่ ป.ป.ช. ไม่ส่งฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


ดูเสมือนว่า ส่วนหนึ่งของความจำเป็นในการทำรัฐประหาร 2557 มีความเกี่ยวข้องกับคดีความที่กำลังลามลุกเป็นไฟไปถึงหัวหน้าใหญ่ทั้งทหารและพลเรือนได้ จึงจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพื่อยุติคดีเหล่านี้ แต่กลับทำคดีชายชุดดำ คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คดีก่อการร้าย กับ นปช. คนเสื้อแดง เพื่ออ้างความชอบธรรมในการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนปี 2553 แล้วยุติคดีที่ประชาชนฟ้องร้องกลุ่มตน


ดังนั้น รัฐประหารปี 2557 จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันตนเองจากคดีความกรณี 2553 และลงหลักปักฐานทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งองค์กรอิสระ วุฒิสมาชิก และกฎหมายความมั่นคง เพื่อความมั่นคงของ คณะชนชั้นนำจารีตอำนาจนิยมให้อยู่ได้นานที่สุด ใช้กลยุทธ์มากที่สุด เพื่ออนาคตของกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งสวนทางกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการอำนาจการปกครองคืนมาจากชนชั้นนำที่ร่วมกับคณะรัฐประหาร


ประชาชนตาสว่างขึ้น มีพลเมืองที่ตื่นรุ้มากขึ้นเป็นลำดับ แม้ฝ่ายทำรัฐประหารยังสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาและมีฐานแข็งแรงเพียงใด ก็ไม่อาจยิ่งใหญ่กว่าอำนาจประชาชนแน่นอน ดังนั้น รัฐประหาร 2557 แม้จะวางหมากกลแยบยลเพียงใด และเป็นคุณกับฝ่ายจารีตอำนาจนิยมเพียงใด แต่ถ้ามันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ประชาชนทวงอำนาจคืนมากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันก็เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว เที่ยวหน้าถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปอาจจะถึง 70-80% แล้ว คุณจะทำรัฐประหารใหม่อีกหรือ เพราะจารีตอำนาจนิยมมาสุดทางแล้ว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #10ปีรัฐประหาร2557