วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ก้าวไกล” เปิดรายงานสถานการณ์ไฟป่า-ฝุ่นพิษ'67 พร้อมข้อเสนอถึงรัฐบาล ยก 4 องค์ประกอบแก้ไฟป่า อาสาสมัคร-เทคโนโลยี-งบประมาณเพียงพอทั่วถึง-มาตรการกฎหมายทันการณ์ “พิธา” ยินดีหากรัฐบาลนำไปใช้

 


ก้าวไกล” เปิดรายงานสถานการณ์ไฟป่า-ฝุ่นพิษ'67 พร้อมข้อเสนอถึงรัฐบาล ยก 4 องค์ประกอบแก้ไฟป่า อาสาสมัคร-เทคโนโลยี-งบประมาณเพียงพอทั่วถึง-มาตรการกฎหมายทันการณ์พิธา” ยินดีหากรัฐบาลนำไปใช้

 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ SOL Bar จ.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center, ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8, ฐากูร ยะแสง สส.เชียงราย เขต 3, อรพรรณ จันตาเรือง สส.เชียงใหม่ เขต 6 และ วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สส.ลำพูน เขต 1 ร่วมแถลง "เปิดรายงานก้าวไกล สถานการณ์ไฟป่า-ฝุ่นพิษ'67 และข้อเสนอต่อรัฐบาล" เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ดับไฟป่า แถลงผลการดำเนินงาน และข้อเสนอเชิงนโยบาย

 

พิธากล่าวว่า วันนี้เป็นการมาตามงาน แม้สถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นพิษจะดูเบาบางลง ฟ้าใสมากขึ้น แต่จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าปีหน้าจะไม่แย่กว่าปีนี้ พรรคก้าวไกลไม่ได้ทำงานเพียงเพราะปัญหานี้อยู่ในกระแสข่าว พอหมดกระแสก็เลิกทำ ที่ผ่านมาเราได้ตั้งคำถามกับรัฐบาลว่ารู้อยู่แล้วว่าปัญหาต้องเกิดขึ้น แล้วจะปล่อยให้ประชาชนทรมานไปทุกปีได้อย่างไร รัฐบาลควรมีโรดแมปเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ต้องมีโรดแมปเพื่อเอาไว้เปรียบเทียบเช่นกัน และยินดีถ้ารัฐบาลนำข้อเสนอของเราไปใช้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่วันนี้กลายเป็นทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสาธารณสุข เราหวังว่าการแถลงวันนี้จะเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง

 

หลังจากนั้น เดชรัตเปิดรายงานสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นพิษปี 2567 กล่าวว่า โดยรวมแล้วปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในปีนี้ ยังรุนแรงหลายพื้นที่ นอกจากกรุงเทพฯ และภาคเหนือตอนบน ยังลามไปภาคเหนือตอนล่าง ที่เริ่มได้รับผลกระทบยาวนานมากขึ้น และภาคอีสาน เช่น หนองคาย อุบลราชธานี โดยขณะนี้มีภาคเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบคือภาคใต้

 

สำหรับภาคเหนือ มีหลายจังหวัดที่สถานการณ์รุนแรงกว่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งมักได้รับความสนใจจากรัฐและสื่อมวลชนอยู่แล้ว เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง ยกตัวอย่างพื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นพิษเกิน 4 เท่าของค่ามาตรฐานหรือ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ถึง 30 เมษายน 2567 เช่น แม่ฮ่องสอน อ.เมือง มีวันที่เป็นสีม่วงถึง 14 วัน เชียงราย อ.แม่สาย 12 วัน อ.เชียงของ 8 วัน เป็นต้น

 

ความจริงแล้วตามเกณฑ์ของรัฐบาล ถ้าสีม่วงติดกัน 5 วันต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ แต่ปีนี้แม้มีพื้นที่ที่เข้าข่ายแต่กลับไม่มีการประกาศแต่อย่างใด จึงสังเกตได้ว่าพื้นที่ที่มีความรุนแรงมักติดกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แม้ในช่วงเวลาที่ฝั่งประเทศไทยแทบไม่มีจุดความร้อน แต่เชียงรายก็ยังเป็นสีม่วง ค่อนข้างชัดเจนว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยทำเฉพาะภายในประเทศ จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ที่ก้าวไกลยื่นเข้าสภาฯ แล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ

 

เดชรัตกล่าวต่อว่า สรุปปัญหาในปีนี้ยังหนักและกระจายหลายพื้นที่ บางพื้นที่ที่รัฐบาลดูแล ความรุนแรงอาจลดลง แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับการดูแล จึงอยากให้มีการดูแลที่ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้พรรคก้าวไกลพบว่าเมื่อเทียบ 3 มาตรการที่ต่างกัน คือ (1) การห้ามเผา ถ้าดูแลได้ดีก็ให้ผลดี แต่ต้องระวังว่าจะทำให้จุดความร้อนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนและหลังช่วงเวลาห้ามเผา (2) การชิงเผา มักถูกมองในแง่การจัดการเชื้อเพลิง แต่มีเรื่องที่ต้องระวังคือ บางช่วงการชิงเผาไปเกิดใกล้ช่วงที่มีฝุ่นเยอะ สุดท้ายจึงไม่ได้ลดปริมาณฝุ่น และบางครั้งอาจทำให้เกิดการลุกลาม รวมถึงถ้าทำบ่อยๆ อาจทำให้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ลดลง (3) การทำแนวกันไฟ เรามองว่าคือแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะจะช่วยตีวงการเผาให้อยู่ในขอบเขตที่เล็ก ควบคุมได้ เดินทางเข้าไปง่าย แต่ปัญหาที่เราเจอในช่วงที่ผ่านมาคือมีการเริ่มต้นทำช้า ปีหน้าต้องทำให้เร็วขึ้น จำกัดวงของไฟให้เล็กที่สุด

 

นอกจากนี้ สส. ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ เช่น วิทวิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับ จ.ลำพูน สถิติการเกิดจุดความร้อนอยู่ในพื้นที่เขตป่า 2,546 จุด นอกเขตป่า 274 จุด อุปกรณ์ที่จำเป็นมากเช่นโดรน วิทยุสื่อสาร เครื่องเป่าลม สำหรับพื้นที่ที่เกิดไฟป่าแบ่งเป็น 3 จุด คือไฟใต้ดิน ไฟผิวดิน และไฟเล็มยอด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีป่าไผ่และเถาวัลย์จำนวนมาก ทำให้เกิดไฟป่าที่มีความสูงและเป็นอันตราย ไม่สามารถที่จะเข้าดับไฟได้ ทั้งนี้ข้อสังเกตระหว่างการทำงาน คือเนินธรรมชาติเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำแนวกันไฟมีประสิทธิภาพ

 

หลังจากนี้ จ.ลำพูน จะเดินหน้าทำงานต่อ แบ่งเป็น 7 ส่วนคือ (1) เลือกพื้นที่เป้าหมายและสำรวจเส้นทาง (2) ทำแคมเปญรับบริจาค (3) รับสมัครอาสาสมัคร (4) ทำแนวกันไฟอย่างมีประสิทธิภาพ (5) ส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาป่า (6) การจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีอื่นๆ เป็นการใช้กลยุทธ์ย่อยสลายใบไม้ และ (7) ตั้งศูนย์อำนวยการเฝ้าระวังไฟป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

 

ด้านภัทรพงษ์กล่าวถึงความล่าช้าในการจัดการปัญหา PM 2.5 ทั้งในและนอกประเทศ ว่าปัญหาอย่างแรกคือการขาดแคลนงบประมาณ เช่นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จัดออกมาไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา นายกฯ บอกว่าจะใช้งบกลาง แต่จนถึงวันนี้ มีการจัดสรรน้อยมากและล่าช้า ทั้งที่ถ้ารัฐบาลเห็นปัญหาอยู่แล้ว งบกลางไม่จำเป็นต้องมารอในเดือนมีนาคม ควรทำได้เร็วกว่านั้น จึงสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าใจปัญหานี้อย่างถ่องแท้

 

ปัญหาต่อมาคือการจัดซื้ออุปกรณ์ ที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าซื้ออะไรได้หรือไม่ได้ ที่ซื้อได้เช่นถุงมือดับไฟ ถังฉีดน้ำ หน้ากากป้องกันควัน แต่ห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ เช่น เครื่องเป่าลม ทั้งที่บางอุทยานมีแค่ 4 เครื่องแต่ต้องรับผิดชอบพื้นที่เป็นแสนไร่ แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่เข้าใจสภาพปัญหาหน้างานและการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้เงินท้องถิ่นแต่กลับกำหนดกรอบทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

 

ภัทรพงษ์กล่าวว่าปัญหาฝุ่นพิษไม่มีพรมแดน พรรคก้าวไกลได้เสนอแนะมาตลอดเรื่องประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลอดภาษี เราเสนอไว้ชัดเจนว่าประกาศต้องมีอะไรบ้าง เช่น แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้นำเข้าต้องระบุละติจูดลองจิจูดว่ามาจากที่ไหน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดาวเทียมมาตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีที่มาจากการเผาหรือไม่ และเรายังเสนอว่าสามารถห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวได้ ทำได้ทันที ไม่ต้องกฎหมายอากาศสะอาด แต่ทุกอย่างกลับถูกรัฐบาลเพิกเฉยอย่างน่าผิดหวัง ดังนั้นปีนี้ เราหวังว่าจะได้เห็นความคืบหน้าในประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 68 หวังว่ารัฐบาลจะนำสิ่งที่พรรคก้าวไกลสะท้อนไปแก้ไข

 

ช่วงท้ายเดชรัตสรุปว่า บทเรียนที่พรรคก้าวไกลได้รับจากปี 2567 สิ่งที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาไฟป่าประกอบด้วย 4 อย่าง หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วทันการณ์ คือ (1) อาสาสมัคร เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ต้องมีทักษะ ความรู้ ความชำนาญ และสวัสดิการ (2) อุปกรณ์เทคโนโลยี (3) งบประมาณต้องกระจายทั่วถึงทุกจุดที่มีปัญหาและมีความเพียงพอ และ (4) มาตรการและกฎหมายต้องออกมาอย่างทันการณ์

 

ส่วนสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การรับมือไฟป่าฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2568 มีประสิทธิผลเพียงพอ ประกอบด้วย (1) Economy of Scale คือทำให้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวน ต้องมีแรงจูงใจที่เพิ่มขึ้นสำหรับเกษตรกรที่ไม่เผา (2) Economy of Scope ทำในทุกมิติและหารือทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เช่น การดูแลฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และ (3) Economy of Speed ทำให้รวดเร็วยิ่งขึ้น งบประมาณเร็วขึ้น กำหนดมาตรการเร็วขึ้น

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ฝุ่นพิษเชียงใหม่ #ก้าวไกล #ไฟป่า