วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

"ทนายด่าง" ผิดหวัง ราชทัณฑ์ไม่ให้ไฟล์ภาพวงจรปิด "บุ้ง-เนติพร" ก่อนเสียชีวิต เหตุ เกรงกระทบต่อความมั่นคง จี้ "ทวี สอดส่อง" หากหน่วยงานในสังกัดปิดบัง อาจหมายความว่ารมต.ปิดบังด้วย ขอเดินหน้าหาสาเหตุคาด 2 - 3 วัน ได้ข้อสรุป

 


"ทนายด่าง" ผิดหวัง ราชทัณฑ์ไม่ให้ไฟล์ภาพวงจรปิด "บุ้ง-เนติพร" ก่อนเสียชีวิต เหตุ เกรงกระทบต่อความมั่นคง จี้ "ทวี สอดส่อง" หากหน่วยงานในสังกัดปิดบัง อาจหมายความว่ารมต.ปิดบังด้วย ขอเดินหน้าหาสาเหตุคาด 2-3 วัน ได้ข้อสรุป

 

วันนี้ (24 พฤษภาคม 2567) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อขอไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดในห้วงเวลาการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง ตามที่ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ระบุว่า สามารถให้ไฟล์ภาพได้ แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบลำดับภาพให้เรียบร้อยก่อนว่า ไม่ขัดหรือกระทบต่อสิทธิของผู้ป่วยรายอื่น ๆ ในเหตุการณ์ ซึ่งได้มีการนัดหมายว่า จะมาดูภาพวงจรปิดในวันนี้

 

โดย ทนายกฤษฎางค์ ได้เดินทางมาตั้งแต่ 8.40 น. หลังจากนั้นในเวลาต่อมา นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ เพื่อนนักกิจกรรมร่วมกับบุ้ง ได้เดินทางมาร่วมตรวจสอบขอภาพวงจรปิดกับทนายความด้วย

 

หลังใช้เวลาตรวจสอบภาพวงจรปิดประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เวลา 10.00 น. ทนายกฤษฎางค์ ได้เดินทางออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เปิดเผยว่า ทางกรมราชทัณฑ์ไม่ให้ภาพกล้องวงจรปิด ในเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม ในขณะที่ บุ้ง รักษาตัวจนเกิดอาการป่วยหมดสติแก่ทนายความ โดยอ้างเหตุผล 3 ข้อ คือ

 

1) ในภาพวงจรปิดปรากฏภาพของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย จึงเกรงว่าจะกระทบต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้น

 

2) อ้างว่าจะกระทบต่อความมั่นคง เนื่องจากเป็นการเปิดเผยภาพวงจรปิดภายในสถานคุมขัง

 

3) เกรงว่าจะกระทบต่อความเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต เนื่องจากปรากฏภาพขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ทำการรักษาผู้เสียชีวิต

 

ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เกรงว่า ทีมทนายความจะนำภาพวงจรปิดไปเปิดเผยแก่สื่อสาธารณชน จึงอาจจะกระทบต่อเหตุผล 3 ข้อหลัก ที่ได้กล่าวไปข้างต้น กรมราชทัณฑ์จึงตัดสินใจที่จะไม่มอบไฟล์ภาพวงจรปิดแก่ทนายความ ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ อ้างว่าได้ทำหนังสือส่งไปถึงผู้ปกครองของบุ้ง ให้มาดูภาพวงจรปิด ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมแล้ว และแจ้งเพิ่มเติมอีกว่า ทนายความสามารถที่จะอุทธรณ์คำสั่งการไม่ให้ภาพวงจรปิดต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการและฟ้องศาลปกครองได้

 

ทนายกฤษฎางค์ จึงมองว่า ทั้ง 3 เหตุผลนั้นฟังไม่ขึ้น โดยตนมองว่า เหตุผลข้อแรก หากไม่ต้องการให้ปรากฏภาพของบุคคลอื่น ก็สามารถเบลอหรือใส่สติ๊กเกอร์ปิดบังใบหน้าได้ ส่วนเหตุผลข้อ 2 นั้น ตนมองว่า เรื่องความมั่นคงเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ก็อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์และเผยแพร่แผนผังห้องรักษาพยาบาลต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งกับตนและครอบครัวของบุ้งล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการบันทึกภาพออกมาก็ตาม แต่มองว่า นี่ก็ถือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลภายในโรงพยาบาลออกมาแล้ว จึงมองว่า เรื่องของความมั่นคงจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนเหตุผลข้อสุดท้าย ในเรื่องของการกระทบกับผู้ตายนั้น ตนยืนยันว่า ครอบครัวของบุ้ง รับได้กับภาพการเสียชีวิตของบุ้ง เพราะก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังได้เชิญครอบครัวไปร่วมการผ่าชันสูตรพลิกศพบุ้ง

 

ส่วนข้อกังวลของกรมราชทัณฑ์ที่เกรงว่า ทนายความจะนำไฟล์ภาพวงจรปิดมาเผยแพร่แก่สื่อมวลชนนั้น ตนยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะทำเช่นนั้น และตั้งใจจะไม่ส่งภาพวงจรปิดแก่สื่อมวลชน เพราะก่อนหน้านี้ ตนได้เอกสารเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของบุ้งมา ตนก็ยังไม่เปิดเผยแก่สื่อมวลชนเลย

 

ทนายกฤษฎางค์ ยืนยันว่า ตนและครอบครัวของบุ้ง ต้องการภาพวงจรปิดเพื่อมาตอบคำถามและพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า บุ้งเสียชีวิตได้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของช่วงเวลาตั้งแต่บุ้งเกิดอาการจนหมดสติ และการเข้าให้การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ว่าสอดคล้องกับช่วงเวลาและการปฏิบัติตามที่รายงานของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ ไม่ได้ต้องการที่จ้องจะเอาผิดใด ๆ เพราะเนื่องจากว่าคนตายก็ได้ตายไปแล้ว หากเกิดข้อผิดพลาดด้วยแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ก็อยากให้มีการแก้ไข เพื่อสร้างบรรทัดฐานการดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขังไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองหรือคดีอาญาทั่วไปก็ตาม

 

ทนายกฤษฎางค์ มองว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็รับปากว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การเสียชีวิตของบุ้งเกิดความกระจ่างและคลายข้อสงสัยของประชาชน อีกทั้งตัวรัฐมนตรีเองยังรับปากว่า สามารถนำไฟล์ภาพวงจรปิดมาได้

 

ตนเข้าใจและไม่ถือโทษกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เพราะเนื่องจากว่าพวกเขาก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ผู้ใหญ่สั่งการมาอีกทีหนึ่ง แต่ตนเชื่อว่า น่าจะมีคำสั่งจากใครบางคนที่มีอำนาจเหนือกรมราชทัณฑ์ สั่งการไม่ให้นำไฟล์วงจรปิดมอบให้แก่ตน ตนจึงมองว่าการกระทำเช่นนี้ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่ถูกต้อง แทนที่จะทำให้สังคมคลายข้อสงสัยในแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ กลับยิ่งทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยเข้าไปใหญ่ อีกทั้งตอนนี้ก็ยังมีนักโทษอีกหลายรายที่ล้มป่วยพักรักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยเฉพาะนักโทษคดีการเมือง จึงมองว่า แล้วพวกญาติของผู้ต้องขังจะให้ความเชื่อมั่นแก่การปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ได้อย่างไร ดังนั้นเรื่องนี้ ทางรัฐบาลเองต้องออกมารับผิดชอบ

 

ทนายกฤษฎางค์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้ตนคงไม่ได้ดำเนินการเรียกร้องในเรื่องของการอุทธรณ์คำสั่งแต่อย่างใด เพราะถ้าหากว่าทางกรมราชทัณฑ์อ้างว่าส่งหนังสือไปยังครอบครัวแล้ว ก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่จากการสอบถามครอบครัวของบุ้งเบื้องต้น ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวและไม่ทราบว่า กรมราชทัณฑ์ตั้งเงื่อนไขให้เฉพาะครอบครัวของบุ้งดูภาพวงจรปิดหรือไม่

 

ตนยืนยันว่าจะเดินหน้าในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพื่อหาความจริงและตอบข้อสงสัยความเคลือบแคลงต่อการเสียชีวิตของบุ้งให้ได้ โดยในห้วง 2-3 วันหลังจากนี้ ตนจะรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการการรักษาของบุ้ง เพื่อให้ได้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจัดตั้งโต๊ะแถลงชี้ถึงข้อสงสัยการเสียชีวิตของบุ้งโดยละเอียดอีกครั้ง

 

ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามอีกว่า การไม่ส่งมอบภาพวงจรปิดของกรมราชทัณฑ์นั้น ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัย ให้แก่กรมราชทัณฑ์หรือไม่ ทนายกฤษฎางค์ไม่ขอให้ความเห็น แต่ตนเชื่อว่า สาธารณชนจะคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ไม่ว่าจะมีคดีอาชญากรรมใด ๆ ก็ตามในประเทศนี้ ก็สามารถหาภาพวงจรปิดมาเปิดเผยข้อเท็จจริงได้ ไม่มีการปกปิดแต่ทำไมเคสนี้ถึงต้องปกปิดด้วย

 

ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามอีกว่า แล้วหลังจากนี้จะยังมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลหรือไม่ เพราะเนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาให้คำมั่นว่าสามารถนำภาพวงจรปิดออกไปได้ แต่สวนทางกับข้อเท็จริง ทนายกฤษฎางค์มองว่า ในความเห็นส่วนตัวตน ไม่เคยเชื่อมั่นในคำพูดของรัฐบาลแต่แรกอยู่แล้ว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #บุ้งเนติพร #บุ้งทะลุวัง #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม