วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567

“สุรเชษฐ์” จี้นายกฯ แจงเหตุผลให้ชัด เหตุปัดตกร่าง “พ.ร.บ.ถนน” ของก้าวไกล ชี้ กฎหมายเก่าทำระบบถนนประเทศเละเทะ จึงต้องมีกฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างทั้งระบบ กระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น

 


สุรเชษฐ์” จี้นายกฯ แจงเหตุผลให้ชัด เหตุปัดตกร่าง “พ.ร.บ.ถนน” ของก้าวไกล ชี้ กฎหมายเก่าทำระบบถนนประเทศเละเทะ จึงต้องมีกฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างทั้งระบบ กระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น

 

วันที่ 17 เมษายน 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) กรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ไม่รับรองร่าง “พ.ร.บ.ถนน” ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว

 

สุรเชษฐ์ระบุว่า แม้การไม่รับรองของนายกรัฐมนตรีจะไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ชอบธรรมที่ไม่ให้เหตุผลในการปัดตก เพราะตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย นายกฯ ควรปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้เข้าไปในสภาฯ เพื่อถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ตนจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงเหตุผลในการปัดตกให้ชัดเจน เพราะนี่คือเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

 

สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ถนน เป็นการยกเลิก พ.ร.บ.เดิมที่แตกย่อยออกเป็น 7 ฉบับ แล้วยกร่างใหม่ให้เหลือเพียง 1 ฉบับ จำนวน 125 มาตรา โดยเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ใช่แค่การปะผุปัญหา ได้แก่ การจัดลำดับชั้นของถนน (Road Hierarchy) การจัดสรรอำนาจและงบประมาณระหว่างส่วนกลาง คือกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาเมืองที่ไม่ใช่แค่การสร้างถนน การนำกองทุนมอเตอร์เวย์มาบริหารอย่างโปร่งใส และการยกระดับความปลอดภัยทางถนน

 

สุรเชษฐ์ยังได้ยก 3 ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎหมายปัจจุบัน ได้แก่ 1) รัฐราชการรวมศูนย์ ที่ส่วนกลางมีงบประมาณมหาศาล แต่ดูแลถนนไม่ไหวจนต้องมีสองศูนย์ คือกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ทั้งที่ประเทศมีโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่กลับไม่นำงบประมาณไปลงกับท้องถิ่น กลายเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ดึงงบประมาณไปลงในพื้นที่ของตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วไปหากินกับโครงการต่าง ๆ จนผลงานออกมาไม่ได้มาตรฐาน

 

2) ด้วยความที่งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง จึงเกิดการหาทางสร้างถนนไปเรื่อย ๆ แต่ท้องถิ่นกลับไม่มีงบประมาณพอแม้แต่จะซ่อมถนนที่มีอยู่ของตัวเอง ท้องถิ่นได้งบประมาณในการดูแลถนนต่ำกว่าส่วนกลางถึง 6 เท่า แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ซึ่ง พ.ร.บ.ถนนจะจัดแจงเรื่องนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงงบประมาณไปที่ท้องถิ่นมากขึ้น

 

3) จากการที่ส่วนกลางหาทางสร้างถนนไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้สร้างแบบถูกหลักวิชาการ จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าลำดับชั้นของถนน (Road Hierarchy) ซึ่งสำคัญมาก ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยให้เมืองโตไปตามยถากรรมแค่ 200 เมตรข้างถนนใหญ่ แต่ไม่มีการจัดลำดับชั้นว่าถนนใดเป็นถนนหลัก ถนนใดเป็นถนนรอง จึงนำมาซึ่งสารพันปัญหา เช่น อุบัติเหตุ และการจราจรติดขัด

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ. 7 ฉบับเดิมยังแบ่งประเภทถนนตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้แบ่งตามการใช้งาน ซึ่งขัดกับหลักวิชาการในการกำหนดนิยามและลำดับชั้นของถนน มีความทับซ้อนระหว่างภารกิจของหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจและงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง แต่ถนนในท้องถิ่นกลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

 

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ถนนของพรรคก้าวไกลจะไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

1) การกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายถนน” ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจหลักในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาโครงข่ายถนนทั่วประเทศ วิเคราะห์และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของงบประมาณระหว่างการสร้างถนนเพิ่มกับการซ่อมถนนเดิมที่มีอยู่ และสัดส่วนของงบประมาณในการจัดสรรระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตั้งงบประมาณในรอบปีถัด ๆ ไป พิจารณาและให้ความเห็นชอบมาตรฐานและลักษณะของถนนและงานทาง อัตราความเร็วของยานพาหนะ เสนออัตราค่าผ่านทางร่วมและค่าบริการ เป็นต้น

 

2) การกำหนดประเภทถนนใหม่ ซึ่งแบ่งตามหลักวิชาการสากล แต่ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของไทยโดยยึดหลักกระจายอำนาจ โดยแบ่งถนนออกเป็น 5 ประเภท คือ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงสายหลัก ทางหลวงสายรอง ถนนท้องถิ่นสายหลัก และถนนท้องถิ่นสายรอง

 

3) การจัดระบบกองทุนค่าผ่านทาง เพื่อยกระดับการจัดการเงินค่าผ่านทางให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้มีการจัดเก็บเงินค่าผ่านทางอยู่แล้วตามระเบียบกรมทางหลวงว่าด้วยเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง พ.ศ. 2549 หรือกองทุนมอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกฎหมายเก่าที่ไม่ได้มีความโปร่งใสและไม่มีการเปิดช่องให้ตรวจสอบได้มากพอ จึงต้องมีการยกระดับให้เทียบเท่ากับกองทุนอื่น ๆ ในประเทศไทย

 

4) การยุบเลิกกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและงบประมาณปีละราว 5 หมื่นล้านบาทไปสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงให้เกิดการถ่ายโอนภารกิจและบุคลากรไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรอบระยะเวลาที่กำหนด

 

5) การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์บนถนน ซึ่งจะนำผู้เชี่ยวชาญมาสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น กำหนดหลักเกณฑ์ และเสนอแนะมาตรการเชิงป้องกัน

 

6) การกำหนดอัตราความเร็วอย่างเป็นระบบ มีหลักการรองรับ และให้มีนิยามไว้อย่างชัดเจนตามลำดับชั้นของถนนในระบบใหม่

 

สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลเรียกร้องคือขอให้นายกรัฐมนตรีที่ปัดตกร่าง พ.ร.บ.ถนนโดยไม่ให้เหตุผล อย่างน้อยควรตอบให้ได้ว่า พ.ร.บ.เดิมดีกว่าร่าง พ.ร.บ.ใหม่อย่างไร หรือเพียงเพราะเป็นร่างของพรรคก้าวไกล

 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรคิดแก้ปัญหาถนนของไทยทั้งระบบในเชิงโครงสร้างได้แล้ว มิใช่เพียงปะผุปัญหาแล้วหากินกับโครงการไปวัน ๆ อย่าเอากระทรวงคมนาคมไปเป็นคลังแสงให้พรรคการเมือง แต่ควรกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยพรรคก้าวไกลพร้อมถกเถียงและลงรายละเอียดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไปด้วยกัน

 

ถ้าตรงไหนยังไม่ดีพอ ตรงไหนมากไปหรือน้อยไป กระบวนการในสภาฯ ปกติพอรับหลักการวาระหนึ่งก็ต้องเข้าวาระสอง ต้องดูในรายละเอียดกัน มีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะมาแก้รายละเอียด ทำได้หมด แต่การปัดตกแบบไร้เหตุผลโดยไม่มาพูดกันแบบนี้ไม่ได้ ท่านต้องให้เหตุผลมา และก้าวไกลเราพร้อมที่จะถกเถียงในเนื้อหาสาระอย่างสร้างสรรค์ว่าอะไรดีกับประเทศนี้” สุรเชษฐ์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล