วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2567

“อภิชาติ” แฉขบวนการออก ส.ป.ก. โดยมิชอบ เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโบรกเกอร์ค้าที่ดินรัฐ ซัด “ธรรมนัส” รู้เห็น-เปิดช่อง จุดเริ่มต้นจาก “พะเยาโมเดล” แก้กฎระเบียบทำเป็นระบบ เอื้อคนกลุ่มน้อยได้ประโยชน์

 


อภิชาติ” แฉขบวนการออก ส.ป.ก. โดยมิชอบ เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโบรกเกอร์ค้าที่ดินรัฐ ซัด “ธรรมนัส” รู้เห็น-เปิดช่อง จุดเริ่มต้นจาก “พะเยาโมเดล” แก้กฎระเบียบทำเป็นระบบ เอื้อคนกลุ่มน้อยได้ประโยชน์

 

ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 67 อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งคำถามต่อนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่เรียกว่า “โฉนดเพื่อการเกษตร” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยชี้ว่าเป็นโครงการที่ทั้งไม่ตรงปก และไม่ตรงไปตรงมา เป็นการทุจริตเชิงนโยบายครั้งใหญ่

 

อภิชาติกล่าวว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองรวมถึงพรรคก้าวไกล นำเสนอนโยบายด้านที่ดิน ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเอง รัฐบาลนี้ก็เช่นกัน รมว.เกษตรฯ กำลังดำเนินการนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามโฆษณาป่าวประกาศว่าจะยกระดับสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ขึ้นมาเป็นโฉนด เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ ตนและพรรคก้าวไกลเห็นด้วยในหลักการ แต่เมื่อมาดูวิธีการและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กลับทำให้สงสัยในการดำเนินนโยบายนี้หลายประเด็น

 

เรื่องแรก คือนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ “ไม่ตรงปก” แม้ว่าธรรมนัส รมว.เกษตรฯ จะย้ำชัดเจนว่า “โฉนดเพื่อการเกษตร” ไม่ใช่ “โฉนดที่ดิน” แต่ปัญหาคือที่ผ่านมา รมว.เกษตรฯ ต่างหากที่เที่ยวไปโฆษณาแบบ “พูดไม่หมด” ว่าจะเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด ทำให้พี่น้องเกษตรกรเข้าใจผิดว่า “โฉนดเพื่อการเกษตร” คือ “โฉนดที่ดิน”

 

บอกชาวบ้านว่าพอเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดแล้วจะโอนได้ เอาไปค้ำประกันกับธนาคารได้ เข้าถึงแหล่งทุนได้ พี่น้องประชาชนหลายพื้นที่พอได้ยินแบบนี้ก็พากันจะเอาใบ ส.ป.ก. ไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดครุฑแดง คิดไปแล้วว่ากำลังจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน”

.

สิ่งที่ รมว.เกษตรฯ ทำ กลับแค่การไปแก้ประกาศกระทรวง เพื่อให้โอนที่ดิน ส.ป.ก. กันได้เท่านั้น ส่วนที่รัฐมนตรีบอกว่าจะ ‘เพิ่มมูลค่า’ ของที่ดินโดยให้ ธ.ก.ส. ประเมินราคาเพิ่มได้ หรือเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันได้ ก็ยังต้องรอดูผลหลังจากนี้ว่าธนาคารจะว่าอย่างไร นอกจากนั้นสิทธิอื่นๆ ก็เหมือน ส.ป.ก. เดิม เพียงแต่เรียกชื่อใหม่ว่าโฉนดเพื่อการเกษตร”

 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า เรื่อง ส.ป.ก. กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศสนใจอีกครั้ง ก็ตอนเกิดเรื่องออก ส.ป.ก. ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อวันที่ 6 มกราคมปีนี้ ในวันนั้นผู้อำนวยการสำนักอุทยานเรียกร้องให้สอบสวน ส.ป.ก จังหวัด ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด

 

2 วัน ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส ก็เล่นใหญ่ นั่งเฮลิคอปเตอร์ลงพื้นที่เคลียร์ปัญหาเป็นการด่วน ทั้งที่เดิมวันนั้นรัฐมนตรีไม่มีหมายกำหนดการลงพื้นที่เขาใหญ่ สงสัยอาจจะมีคนไปกระซิบว่า เรื่องนี้ ส.ป.ก. จังหวัดเอาไม่อยู่แล้ว อีกฝ่ายเป็นถึง ผอ.สำนักอุทยาน มันจะไม่จบ ต้องให้นายมาเคลียร์ด้วยตัวเอง

 

เมื่อ รมว. มาถึง ก็เล่นใหญ่ขึงขังเสียงดังใส่หน้าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พอกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรีได้เรียก รมว.เกษตรฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือว่าจะแก้ปัญหากันยังไง สุดท้าย รมว.เกษตรฯ พยายามทำให้สังคมเข้าใจว่าปัญหาที่เขาใหญ่เกิดขึ้นเพราะ ส.ป.ก. กับกรมอุทยาน ถือแผนที่คนละฉบับ แนวเขตที่ดินของ 2 หน่วยงานทับซ้อนกันเท่านั้น เลยมอบหมายให้กรมแผนที่ทหาร มาดำเนินการตรวจสอบแนวเขตทับซ้อน

.

เรื่องดูเหมือนจะจบลงได้ด้วยดี ทุกคนแฮปปี้ แต่จริง ๆ นี่เป็นการแก้ปัญหาที่ “มั่ว” ขึ้นมา จงใจโกหกให้สังคมเชื่อ เพื่อปกปิดปัญหาที่แท้จริง เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะให้กรมแผนที่ทหารเข้ามาตรวจสอบเลย เพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้มาแต่แรกอยู่แล้ว ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นแนวเขตของอุทยานเขาใหญ่

 

โดยเดิมทีมีโครงการที่เรียกว่า one map ที่คอยแก้ไขเรื่องเขตที่ดินทับซ้อนระหว่างทุกหน่วยงาน และในการประชุมอนุกรรมการ one map ครั้งที่ 2/2565 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 คณะอนุกรรมการได้รับรองแนวเขตของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามแนวเส้นของกรมอุทยานฯ ไปแล้ว เพียงแต่ยังรอเสนอให้ ครม. อนุมัติ เนื่องจากมีกรณีประชาชนร้องเรียนในจุดอื่น

 

แต่แนวเขตเขาใหญ่นั้นได้ผ่านการรับรองของอนุกรรมการฯ ไปแล้ว ในคณะอนุกรรมการ One map มีตัวแทนของทั้งกรมอุทยาน กรมแผนที่ทหาร และ ส.ป.ก. นั่งอยู่ด้วย ถ้า ส.ป.ก. ไม่เห็นด้วย แล้วทำไมไม่ค้านตั้งแต่ในอนุกรรมการฯ หมายความว่า ทุกหน่วยงานเขายอมรับแนวเขตกันไปเรียบร้อยแล้ว และรู้กันมาเป็นปี

 

ตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมท่านธรรมนัสถึงพยายามดึงกรมแผนที่ทหารเข้ามาช่วย ตอนหลังก็หายสงสัยเมื่อพบว่าที่แท้เจ้ากรมแผนที่ทหารปัจจุบันเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารของท่านรัฐมนตรีนี่เอง เลยขอให้เพื่อนมาช่วย แต่ที่น่าสังเวชที่สุด คือท่านนายกรัฐมนตรี เป็นถึงประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แต่ท่านไม่รู้อะไรเลย โดนรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการหลอกต้ม” อภิชาติกล่าว

 

อภิชาติกล่าวว่า เรื่องโกหกที่สอง รมว.เกษตรฯ ยังพยายามปัดความรับผิดชอบว่าไม่เคยทราบเรื่องการออก ส.ป.ก. ที่มีปัญหามาก่อน มาตอบกระทู้ของอภิชาติในสภาฯ ว่า ท่านเพิ่งมารับตำแหน่งและไม่มีเจ้าหน้าที่แจ้งปัญหามาก่อนเลย แต่ตนขอยืนยันว่าไม่จริง เพราะหลังจากที่ธรรมนัสเข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้มีหนังสือแจ้งว่า ส.ป.ก. บุกรุกเขตอุทยานที่เขาใหญ่ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 66 ทั้งหนังสือจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และแจ้งไปถึงเลขาสำนักงาน ส.ป.ก. เลย ดังนั้นท่านธรรมนัสซึ่งกำกับดูแล ส.ป.ก. ต้องรู้ ก่อนลงพื้นที่เล่นใหญ่ไปชนกับอุทยานด้วยตัวเองขนาดนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะไม่ได้รับรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้าราชการก่อน

 

และเรื่องโกหกที่สำคัญที่สุด คือ ท่านรัฐมนตรีพูดเสียงแข็งว่าเรื่องที่เขาใหญ่เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ แถมขู่จะลงโทษ ‘คนจัญไร-ข้าราชการชั่ว’ เล่นใหญ่ว่าจะยึดรีสอร์ตนายทุนกลับคืนแผ่นดินให้หมด นี่คือการโบ้ยปัญหาออกจากตัว เพราะการทุจริตของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงแค่ “ปลายเหตุ” แต่ “ต้นเหตุ” เกิดจากธรรมนัสนี่แหละ ที่เป็นผู้ใช้อำนาจเพื่อเอื้อให้เกิดการทุจริต ส.ป.ก. อย่างเป็นระบบ

 

อภิชาติกล่าวว่า เพื่อจะเข้าใจเรื่องทั้งหมด ต้องเริ่มต้นจาก “พะเยาโมเดล” หรือที่ท่านรัฐมนตรีเรียกเองว่า “ธรรมนัสโมเดล” ก่อนหน้านี้ แถวหน้า ม.พะเยา มีคนไปสร้างหอพักในพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งมีปัญหามาเป็นสิบปี สุดท้ายธรรมนัสโมเดลก็ไปทำให้สามารถเช่าที่ดิน ส.ป.ก. ทำหอพักได้โดยไม่มีความผิด

 

ตนยืนยันไม่ได้คัดค้านการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของพื้นที่ ซึ่งถ้าพื้นที่เกษตรเดิมมันกลายเป็นเมืองไปแล้ว เราก็ไม่ควรจะจำกัดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. แค่การเกษตรเดิมๆ อีกต่อไป แต่เราก็ต้องไปแก้กฎหมาย ส.ป.ก. ก่อน เพื่อทำให้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

 

แต่สิ่งที่ธรรมนัสมุบมิบทำในปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเป็น รมช.เกษตรฯ คือไปออกประกาศเพื่อ “ฟอกขาว” ให้กับการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ผิดกฎหมายเอาดื้อๆ โดยเรียกมันว่า “พะเยาโมเดล” ประกาศที่ว่าก็คือ “ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม เรื่อง รายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563” พูดง่ายๆ ประกาศฉบับนี้เป็นการกำหนดว่ามี “กิจการอื่น” ประเภทไหนบ้างที่อนุญาตให้ทำได้ในที่ดิน ส.ป.ก.

 

ปัญหาคือ “กิจการอื่น” ที่ธรรมนัสไปประกาศว่าต่อไปนี้อนุญาตให้ทำได้แล้วในที่ดิน ส.ป.ก. นั้น น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส.ป.ก. เพราะไปเปิดทางให้สามารถสร้าง “ที่พัก หอพัก” ในที่ดิน ส.ป.ก. ได้ โดยจากข้อ 12 ในประกาศฯ ที่พักหรือหอพัก ขัดกับ พ.ร.บ. ส.ป.ก. มาตรา 30 วรรคห้า ข้อ 1.5 ที่กำหนดว่าการใช้ ส.ป.ก. ในกิจการอื่นๆ ต้องสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตปฎิรูปที่ดินเท่านั้น

 

การทำหอพัก ที่พัก ซึ่งอาจจะตีความไปถึงกิจการโรงแรม รีสอร์ทได้ ไม่สามารถถือเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน หรือเป็นกิจการที่สนับสนุนการทำการเกษตร เพราะคงไม่มีเกษตรกรคนไหน ทำไร่ ทำสวน แล้วจะมาเช่าที่พัก เพื่อที่จะได้ตื่นแต่เช้าไปทำไร่ข้าวโพด ไปทำการเกษตร

 

และถ้าสมมติมีที่ดิน ส.ป.ก. อยู่ แล้วเห็นประกาศฉบับนี้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงเปิดหอพักให้คนเช่า เจ้าหน้าที่ก็คงไม่กล้าอนุญาตให้ทำ ถ้าไม่ใช่พื้นที่ของธรรมนัส เพราะหากชาวบ้านไปลงทุนทำหอพักขึ้นมาจริงๆ แล้วเกิดความเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ

 

ความเสี่ยงขนาดนี้ คนที่กล้าเสี่ยงคงจะมีแต่คนที่วางแผนจะรวบรวมที่ดิน ส.ป.ก. ในทำเลสวยๆ ริมป่า ริมเขา ซื้อกันมาในราคาถูกๆ มีอำนาจการเมืองใหญ่หนุนหลัง เท่านั้น” อภิชาติกล่าว

 

อภิชาติกล่าวว่า ถ้าเราเปลี่ยนจากพื้นที่พะเยา มาเป็นที่ดินในอุทยานเขาใหญ่ ด้วยระเบียบเดียวกัน จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นแค่ไหน แต่ที่ดินทำเลสวยๆ ติดป่าติดเขา จะไปออก ส.ป.ก. ไม่ได้ง่าย หน่วยงานอื่น ๆ ต้องตรวจสอบแน่นอน จึงต้องหาวิธีกีดกันไม่ให้หน่วยงานอื่นรับรู้และเข้ามาตรวจสอบได้ง่าย ต่อมาธรรมนัสจึงใช้อำนาจแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2564 ให้การออก ส.ป.ก. ถูกถ่วงดุลตรวจสอบน้อยลง

 

ท่านรัฐมนตรีรู้เห็นหรือมีส่วนเปิดช่องให้เกิดการทุจริต ส.ป.ก. ตั้งแต่ต้น เพราะเป็นคนไปแก้ระเบียบ”

 

เดิม การคัดเลือกจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. จะต้องผ่านกลไกที่เรียกว่า “คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด” ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบในเบื้องต้น เช่นป่าไม้จังหวัด ที่ดินจังหวัด และมีผู้ว่าราชการจังหวัด นั่งเป็นประธาน แต่รัฐมนตรี ไปแก้ระเบียบใหม่ว่าการออก ส.ป.ก. ให้เป็นหน้าที่ของเลขา ส.ป.ก. โดยเลขา ส.ป.ก มอบอำนาจให้ ส.ป.ก.จังหวัด พิจารณาจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ได้เองเลย โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัด เรียกได้ว่าธรรมนัสทำให้ ส.ป.ก.จังหวัด รับจบได้ในที่เดียว ชงเองกินเอง ไม่ต้องถามใคร ไม่มีใครมาตรวจสอบ

 

สรุป ปี 2563 เปิดช่องให้ทำที่พักได้ และ ระเบียบปี 2564 ยิ่งส่งผลให้กระบวนการออกที่ ส.ป.ก. ง่ายดายยิ่งขึ้น เหมือนออกได้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครรู้ใครเห็น นี่เป็นที่มาที่ไปว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อย่างที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่”

 

อภิชาติยกตัวอย่างรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ที่เขาใหญ่ ซึ่งคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสภาฯ เข้าไปตรวจสอบ พบว่าปัญหาการออก ส.ป.ก. ที่เขาใหญ่ไม่ได้มีแค่พื้นที่ 3 ไร่ตามที่เป็นข่าว ยกตัวอย่างคนแรก ลำดับที่ 31 แปลงที่ 5 เนื้อที่ 49 ไร่ ในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ปรากฏชื่อผู้ได้รับการจัดสรร ส.ป.ก. นาง ร. เรือ แต่พอดูที่อยู่ตามบัตรประชาชน ไม่ใช่คนในท้องที่ กลับอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

 

ตรวจสอบข้อมูลต่อ พบว่านาง ร. เรือ มีชื่อเป็นกรรมการบริหารโรงแรมอย่างน้อย 2 แห่ง และสืบทราบว่ามีสามีเป็นนายทุนใหญ่ในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ชื่อ เสี่ย อ. ถ้าพูดชื่อจริง รู้จักกันทั้งเขาใหญ่

 

เมื่อเช็คโรงแรมที่ นาง ร. เรือ บริหาร ก็มีแต่ญาติๆ นามสกุลเดียวกันที่บริหารอยู่ด้วย และมีคนที่มีประวัติน่าสนใจ คือเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับพันตำรวจเอก สังกัดนครบาล ชื่อย่อว่า พ.ต.อ. ส. เสือ ชาวบ้านบอกว่า คนๆ นี้มีเอี่ยวกับคดี ส.ป.ก. ในพื้นที่ด้วย และมีลูกน้องมือดี ชื่อย่อว่า พ.ต.ต. ป.ปลา เป็นตำรวจในพื้นที่ที่พยายามจะทำให้คดี ส.ป.ก. เขาใหญ่ไม่ขยับไปถึงไหน

 

อีกรายชื่อที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ลำดับที่ 35 คือ นางสาว ป. นำชื่อไปค้นก็พบว่าทำงานระดับหัวหน้าแผนกของบริษัท อสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งหนึ่ง ดูแลตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ คนแบบนี้ดูเหมือนเกษตรกรที่ควรจัดสรร ส.ป.ก. หรือไม่ นางสาว ป. ยังเคยกล้าส่งหนังสือไปร้องเรียน สคทช. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) โดยบอกว่าตัวเองเป็น “ชาวบ้านและเกษตรกร” ที่เดือดร้อน ขอให้ช่วยจัดการเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่จะมาไล่ตน

 

กรณีนี้ยิ่งน่าละอายมากว่าออก ส.ป.ก. ไปได้อย่างไร เพราะพอนางสาว ป. ทำหนังสือร้องเรียน เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า ส.ป.ก. รู้นานแล้วว่าที่ดินตรงนั้นเป็นเขตอุทยาน จากเนื้อหาหนังสือระหว่างหน่วยงานที่ส่งไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ต่อมา ส.ป.ก. ก็ตอบ สคทช. ในธันวาคม 2566 ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของกรมอุทยานตามเส้นเขตแดน one map

 

ยังมีอีกหลายรายชื่อ ที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นชัดๆ ว่าน่าจะออก ส.ป.ก. โดยมิชอบ เช่น นางอักษรย่อ พ.พาน ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 3 แปลง เนื้อที่กว่า 60 ไร่ ซึ่งต่อให้เป็นเกษตรกรตัวจริงตามคุณสมบัติ แต่กฎหมายกำหนดให้ถือได้ไม่เกิน 50 ไร่ เว้นแต่ผู้ที่ถือครองก่อน พ.ศ. 2524 หรือถ้าเลี้ยงสัตว์ใหญ่จะมีสิทธิ์ได้ ส.ป.ก. ไม่เกิน 100 ไร่ แต่นี่คือรายชื่อจัดสรรที่ดินใหม่

 

อีกกรณี นางสาวอักษรย่อว่า ก.ไก่ ได้ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 2 แปลง ได้แจ้งการเข้าทำประโยชน์ โดยการปลูกข้าวโพด แต่พออภิชาติส่งทีมงานไปดูพื้นที่จริง ๆ พบว่าเป็นป่า เอาที่ป่าสมบูรณ์มาออก ส.ป.ก. แบบนี้ ผิดกฎหมายแน่นอน ตามเอกสารสอบสวนสิทธิระบุว่า “แม่ให้มา” แต่ปรากฏไปให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ได้ที่ ส.ป.ก. เป็นของขวัญวันแต่งงาน จากฝ่ายเจ้าบ่าว” สรุปได้จาก “แม่” หรือ “แม่สามี” กันแน่

 

อภิชาติกล่าวว่า จากทั้งหมดที่ไล่เรียงมา ปฎิเสธไม่ได้ว่ามี “ขบวนการออก ส.ป.ก. โดยมิชอบในพื้นที่เขาใหญ่” แน่นอน เพราะเต็มไปด้วยชื่อคนที่ไม่มีคุณสมบัติมารับที่ ส.ป.ก. เต็มไปหมด แถมผิดกฎหมายกันได้ครบทุกแบบ มีทั้งนายทุนโรงแรม นายทุนอสังหา นายหน้าค้าที่ดิน คนรับที่ ส.ป.ก. เกินกฎหมายกำหนด คนเอาป่าสมบูรณ์มาขอออก ส.ป.ก. เลยเถิดไปถึงคนอ้างว่าแม่ให้มา

 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีช่องว่างทางกฎหมายที่เกิดจากการแก้ระเบียบ และออกประกาศต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คนที่จะกล้าใช้ช่องว่างกฎหมายแบบนี้ ต้องมีอิทธิพลด้วย ถึงจะกล้าสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ จัดสรรที่ดินออกมาแบบนี้

 

นี่คือคำตอบ ว่าทำไมรัฐมนตรีธรรมนัสถึงเล่นใหญ่ ลงพื้นที่ไปซัดหัวหน้าอุทยานด้วยตัวเองขนาดนี้ ตอนแรกก็นึกว่าท่านธรรมนัส ต้องการปกป้องชาวบ้าน เกษตรกรที่ได้รับ ส.ป.ก. แต่สุดท้ายที่เล่นใหญ่ คือลงไปปกป้องขบวนการออก ส.ป.ก. โดยมิชอบ ใช่หรือไม่”

 

รมว.เกษตรฯ ยังดำเนินการแก้ระเบียบและประกาศของ ส.ป.ก. ต่อไปอีก โดยคราวนี้ มาพร้อมกับการอ้างว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย “เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด” ซึ่งเปิดให้คนที่ได้ ส.ป.ก. แล้ว สามารถไปขอออก “โฉนดเพื่อการเกษตร” เพื่อให้ “เปลี่ยนมือ” ได้ในอนาคต

 

ปลายปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ เพื่อเปิดช่องให้โอนเปลี่ยนมือโฉนดเพื่อการเกษตรได้ ด้วยการให้คนที่ได้โฉนดเพื่อการเกษตร ไปยื่นขอสละสิทธิของตนเองกลับไปให้สำนักงาน ส.ป.ก. เพื่อนำไปจัดสรรให้คนอื่นต่อไป

 

การทำแบบนี้ เป็นการแก้ไขแบบหัวหมอ เป็นการแก้ระเบียบเพื่อเลี่ยงไม่ให้ขัดกับ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 39 ที่กำหนดไว้ว่า “คนที่ได้รับสิทธิ ส.ป.ก. จะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินไปให้คนอื่นไม่ได้” ยกเว้นเป็นการตกทอดสู่ทายาท หรือโอนไปให้สถาบันเกษตรกร หรือกลับคืน ส.ป.ก. เท่านั้น การแก้ไขระเบียบแบบนี้ทำให้สามารถโอนเปลี่ยนมือ “ส.ป.ก.” ที่แปลงเป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” กันได้แล้ว โดยไม่ต้องแก้ พ.ร.บ.

 

รวมถึงล่าสุดครับ ได้มีการแก้ระเบียบ “ประกาศกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการแบ่งแยก หรือ โอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ซึ่งเปิดช่องให้ผู้ที่รับสิทธิสามารถโอนสิทธิในที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนกลับไปให้ ส.ป.ก. แล้วรับค่าตอบแทนได้ ตามราคาประเมินที่ดิน

 

ถามว่าโฉนดเพื่อการเกษตรที่ไม่ได้เป็นโฉนดจริง ๆ ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ จะนำไปค้ำกู้เงิน ทำประโยชน์อื่นได้ไม่ต่างจาก ส.ป.ก. เพิ่มเติมคือโอนคืน ส.ป.ก. ได้ หรือโอนไปให้คนอื่นได้ แบบนี้คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือชาวบ้านแน่ใช่หรือไม่ เกษตรกรหรือชาวบ้านที่ไหน ที่อยู่ดี ๆ เกิดอยากจะคืนที่ดินกลับไปให้ ส.ป.ก. เพราะต่อให้บอกว่าชาวบ้านจะได้ค่าตอบแทนจากสำนักงาน ส.ป.ก. มันคงไม่ได้ทำให้เขาได้เงินเยอะ”

 

พูดกันตรงไปตรงมาก็คือ รัฐมนตรีกำลังทำให้มีช่องซื้อขาย ส.ป.ก. กันได้ผ่านสำนักงาน ส.ป.ก. จะขายกันเท่าไรไปตกลงกันเอง ชาวบ้านก็คงได้ราคาไม่เท่าไร เพราะยังไม่ใช่โฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน แถมบางคนที่มีชื่อในโฉนดเพื่อการเกษตร อาจเป็นแค่นอมินีด้วย”

 

นอกจากนี้ การเปิดช่องให้โอนกันได้แบบนี้ ก็สุ่มเสี่ยงด้วยว่าตอนนี้ ส.ป.ก. กำลังเปิดช่องให้มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อรวบรวมที่ดินผ่านนอมินี หรือทำการฟอกขาวให้ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติได้ ส.ป.ก. มาตั้งแต่ต้น รีบไปหาคนอื่นมาขอรับโอนสิทธิต่อให้พ้นตัวก็เป็นได้

 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่า หากมีนายทุนไปเจอที่ดิน ส.ป.ก. ที่สวย ๆ กระจายกันหลายแปลง แล้วอยากจะรวมแปลง เพื่อทำที่พักรีสอร์ต ตอนนี้เขาสามารถไปจ่ายเงินให้เกษตรกร เพื่อโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. แล้วก็หาคนไปขอเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก. เพื่อทำที่พักตาม “พะเยาโมเดล” ได้ใช่หรือไม่ แถมบางกรณี เครือข่ายผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่ ที่รู้เห็นเป็นใจ ก็ยังสามารถอาศัยช่องทางที่ธรรมนัสทำให้ ส.ป.ก. จังหวัด ออก ส.ป.ก. ได้ด้วยตนเอง แอบออก ส.ป.ก. โดยมิชอบกันได้ง่ายๆ เพื่อไปขึ้นทะเบียนขอโฉนดเพื่อการเกษตรต่อไป

 

จากทั้งหมดที่ว่ามา นี่คือการทุจริตเชิงนโยบายครั้งใหญ่ ด้วยการดำเนินการแก้ไขหรือออกประกาศและระเบียบอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ แล้วอาศัยอิทธิพลบารมีทำให้ออก ส.ป.ก. โดยมิชอบได้ ทั้งหมดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือเครือข่ายพวกพ้อง โดยอาศัยนโยบายเพื่อพี่น้องประชาชนบังหน้า กระทำการในลักษณะลับลวงพราง เปลี่ยน ส.ป.ก. ให้กลายเป็นโบรกเกอร์หรือนายหน้าค้าที่ดินของรัฐ

 

ท้ายที่สุด ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จะตกอยู่กับโอกาสในชีวิตของประชาชน ที่จะหมดโอกาสเข้าถึงที่ดินเพื่อเป็นฐานการผลิตและสร้างชีวิต เพราะที่ดินเหล่านั้นจะกลายไปเป็นความมั่งคั่งของคนกลุ่มน้อย ตอกย้ำซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในที่ดินไทยอย่างยั่งยืน” อภิชาติกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อภิปราย152 #สปก