“พิธา” สรุปปิดอภิปรายทั่วไป ม.152 อัดรัฐบาลไร้วาระ
ไร้วิสัยทัศน์ ยกตัวเลขบวกมาโชว์แต่มองไม่เห็นบริบท-ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน
แนะปรับ ครม. - มีโรดแมปได้แล้ว
วันที่
4 เมษายน 2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ
และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้าย
ในการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยได้สรุปถึงภาพรวมการอภิปรายที่เกิดขึ้นตลอดสองวันที่ผ่านมา
พิธาเริ่มต้นการอภิปรายโดยระบุว่า
ตลอดระยะเวลา 7
เดือนที่ผ่านมาตนไม่เคยเสียใจเลยที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารแม้จะชนะเลือกตั้ง
สามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง
ไม่เคยเสียใจที่เข้ามาเป็นฝ่ายค้าน
และไม่เคยเสียใจว่าการอภิปรายในครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต
ตนพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่มีอะไรติดค้างใจต่อไป
และมั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรคของตนไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค
การทำลายพรรคก้าวไกล จะไม่ทำให้การเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเราหายไป
และยิ่งยุบพรรคจะยิ่งทำให้พวกเราไปถึงเส้นชัยที่เราต้องการจะทำได้เร็วมากขึ้นด้วยซ้ำ
แต่ตนรู้สึกเสียดาย
เมื่อยิ่งได้ฟังการชี้แจงของรัฐบาลในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
ตนยิ่งเสียดายโอกาสของประเทศไทย เสียดายเวลาประเทศไทยที่ต้องเสียไป
เสียดายศรัทธาของประชาชน
และเสียดายตัวเองที่เคยเป็นคนที่ลงคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2543
เพราะวันนี้รัฐบาลเต็มไปด้วยความสะเปะสะปะ ที่หาเสียงไว้ไม่ได้ทำ
ที่ทำไม่ได้หาเสียงไว้ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีวาระเป็นของตัวเอง
ไร้วิสัยทัศน์ และไร้ผลงาน
พิธาอภิปรายต่อไปว่า
จากจุดนี้ตนขอแบ่งการอภิปรายออกเป็น 3 ช่วง คือการสรุปการอภิปรายทั้ง 2
วันที่ผ่านมา การสะสางข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ในการตอบโต้
และข้อเสนอแนะที่ตนมีต่อรัฐบาล
โดยในส่วนของการสรุป
ตนมีความกังวลว่าวิสัยทัศน์ “8 ฮับ” ของรัฐบาลคือความ “มืด 8 ด้าน” ของประชาชน โดยสิ่งที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือ 1) มืดเรื่องปากท้อง 2) มืดแก้ส่วย 3) มืดผูกขาด ส่วนที่ล่าช้าคือ 4) มืดกระตุ้นเศรษฐกิจ 5)
มืดแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่ละเลยคือ 6) มืดปฏิรูปกองทัพ
7) มืดมนคุณภาพชีวิต และ 8) มืดกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งหลายเรื่องที่ว่ามาข้างต้นได้มีการตอบคำถาม ถกเถียง
และรับปากจะไปดำเนินการบ้างแล้ว
แต่สิ่งที่ตนรู้สึกว่ายังถกกันไม่ตกผลึกและยังไม่เห็นภาพชัดเจน
ก็คือเรื่องของการปฏิรูปกองทัพ
การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่างงที่ฝ่ายค้านพูดแต่เรื่องเดิม
ๆ ที่ผ่านไปแล้ว ตนก็งงนายกรัฐมนตรีเหมือนกันที่พูดไม่เหมือนเดิม
ก่อนเลือกตั้งพูดอย่างทหลังเลือกตั้งพูดอีกอย่าง
และเมื่อเทียบนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกลกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นกับ
กกต. ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ ว่าแต่ก่อนตอนที่เป็นฝ่ายค้านด้วยกันก็คิดเหมือนกัน
ตอนขึ้นเวทีดีเบตก็พูดเหมือนกัน
“พอมาพูดกันอีกครั้งหนึ่งผมก็ยังพูดเหมือนเดิมไง
ก็เพราะว่าก่อนเลือกตั้งเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งผมก็พูดอย่างนั้น
อันนี้มันเป็นสิ่งที่มันคิดอยู่ในหัว และคิดว่ามันเป็นความจำเป็นของประเทศนี้
แต่ท่านก็บอกว่าท่านงงว่าผมพูดเรื่องเดิม ไอ้พวกผมก็เลยงงว่าอ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า”
พิธากล่าว
พิธาอภิปรายต่อไปว่า
ในเรื่องที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการไอโอ
หากรัฐบาลยังคงไม่รู้อยู่อีกว่าใครเป็นคนทำไอโอในช่วงที่ผ่านมา
ตนก็ขอเสนอให้ไปอ่านงานวิจัยและข้อมูล 2-3 แหล่ง
ทั้งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สำนักข่าวรอยเตอร์ และมหาวิทยาลัยโตรอนโต
ที่ยืนยันว่าการทำไอโอในประเทศไทยมีอยู่จริงและทำโดยกองทัพไทย
ถ้าท่านยังคิดไม่ออกว่าใครกันแน่ที่เป็นคนทำไอโอ ท่านก็ลองไปอ่านดู
เรื่องที่สอง
นายกรัฐมนตรีงงว่าพรรคก้าวไกลมีจุดยืนอย่างไรกันแน่กับเรื่องการจัดซื้ออาวุธ
และยังกล่าวพาดพิงว่ามีคนจากพรรคก้าวไกลเคยบอกว่าจะเอาเรือประมงไปรบ
ซึ่งก็น่าจะหมายถึงตน จึงต้องขอนำข้อมูลมาทำความเข้าใจกับนายกรัฐมนตรีใหม่
ข้อมูลที่ตนได้มานี้มาจากทหารเรือเอง
รวมถึงจากทูตทหารหลายประเทศ
ที่มาเล่าให้ฟังว่าเวลานี้ภัยความมั่นคงมันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นสงครามผสม (hybrid warfare) โดยระบุว่าช่วงที่ผ่านมาการสงครามมีการพัฒนาไปมาก
รวมถึงมีการใช้เรือประมงปลอมให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธในการทำลาย ขู่เข็ญ
และปฏิบัติการจิตวิทยา อีกทั้งยังมีข้อมูลจากศูนย์ AA ของตุรกี
สำนักข่าว CNN รวมถึง South China Morning Post ที่ระบุว่าเมื่อกฎหมายระหว่างประเทศไม่อนุญาตให้มีการยิงเรือประมง
จึงมีบางประเทศในทะเลจีนใต้นำเรือประมงมาผสมกับเรือรบกว่า 20,000 ลำ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตนไม่ได้คิดขึ้นมาเอง
แต่เป็นสิ่งที่ตนได้ยินมาจากทหารเรือและทูตทหาร รวมทั้งหลักฐานต่าง ๆ
ที่ปรากฏข้างต้น
ในเรื่องของการจัดซื้ออาวุธนั้น
นายกรัฐมนตรีบอกว่างงกับการที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนสนับสนุนการซื้อเรือฟริเกต
ซึ่งตนต้องขอย้ำว่าพรรคก้าวไกลมีหลักคิดในการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย
มีสิทธิมนุษยชน มีความเป็นมืออาชีพ และต้องมีอาวุธที่เหมาะสม
สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นในประเทศเองได้
โดยไม่เบียดเบียนภาษีมากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการให้ซื้ออาวุธอะไรเลย
ซึ่ง สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้อภิปรายไปแล้วว่าเรือฟริเกตมีความจำเป็นอย่างไร
เหมาะสมอย่างไร สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจได้อย่างไร
และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างไร เมื่อเข้าเกณฑ์เช่นนี้
พรรคก้าวไกลจึงไม่คิดว่าจะต้องต่อต้านอะไร
ประการต่อมาคือเรื่องของการสะสางข้อเท็จจริงที่ใช้ในการอภิปรายครั้งนี้ทั้งหมด
ซึ่งตนจับคำพูดนายกรัฐมนตรีได้คำหนึ่ง ว่าอยากจะเน้นเรื่องบวก
ไม่อยากจะเน้นเรื่องปัญหา แต่ความเป็นจริงคือประเทศของเรามีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน
ความท้าทาย และโอกาส
คนที่จะเป็นผู้นำได้ถ้าเน้นแต่ในเรื่องที่เป็นบวกอย่างเดียวก็จะเกาไม่ถูกที่คัน
เวลาที่นายกรัฐมนตรีเลือกเอาตัวเลขมาพูดในสภาฯ ตนจึงได้เห็นแต่ตัวเลขที่เป็นบวก
ที่เป็นผลดีต่อรัฐบาล แต่ไม่มีบริบท ไม่ครบถ้วน
และเป็นแค่เหรียญด้านเดียวที่ไม่สามารถทำให้เห็นภาพปัญหาของประชาชน โอกาส
และความท้าทายของประเทศไทย
ทำให้รัฐบาลไม่สามารถมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาไปข้างหน้าได้
เน้นยกมาแต่ตัวเลขในเรื่องของปริมาณมากกว่าการเพิ่มมูลค่า
เน้นเรื่องราคามากกว่าคุณภาพชีวิตประชาชน
เน้นที่จะพึ่งปัจจัยจากต่างประเทศโดยไม่เน้นว่าจะต้องนำพลังมาจากภายในออกมา
เช่น
ในเรื่องของการเกษตร รัฐบาลชอบพูดว่าราคายางพาราดีที่สุดโดยรอบ 10 ปี
ซึ่งก็จริงและถูกด้วย แต่ก็ถูกไม่หมด เพราะราคายางในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นวงจรสินค้าตามปกติที่มีขึ้นมีลงตามฤดูกาล
แทนที่จะเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน แทนที่จะเน้นเรื่องของการเพิ่มมูลค่า
กลับไปภูมิใจในเรื่องของปริมาณว่า 30% เป็นของคนไทย
แต่ขณะเดียวกันรายได้ของเกษตรกรลดลง 8% มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าสินค้าเกษตรราคาสูงมากในหลาย
ๆ ตัว แต่รายได้ของเกษตรกรลดน้อยลง หนี้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3% ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา
ต่อมาในเรื่องของภาคการผลิต
ที่นายกรัฐมนตรีมีการยกคำว่า “สึนามิแห่งการลงทุน” ขึ้นมา
ซึ่งตนมีความกังวลว่ามันจะกลายเป็นสึนามิขึ้นมาจริง ๆ เพราะแม้ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น
2.5 เท่า
แต่นี่คือตัวอย่างของการยกตัวเลขขึ้นมาแบบไม่ดูบริบท เช่น
ในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างสูง
โดยเฉพาะการเข้ามาของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจากประเทศจีน
ซึ่งตรงนี้มีข้อน่าสงสัยอยู่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปที่อยู่ในประเทศไทยจะมีการบริหารจัดการอย่างไร
ตนเข้าใจดีถึงเกณฑ์ที่ระบุให้การลงทุนรถยนต์อีวีจากต่างประเทศต้องมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่มาจากภายในประเทศ
(local
content) 30-40% แต่รถยนต์อีวีต้องใช้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวี
ซึ่งในประเทศไทยคนที่ผลิตแบตเตอรี่นี้น่าจะไปอยู่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น
คำถามคือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปกว่า 12-13% ของจีดีพี
และคนเป็นล้าน ๆ
ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ที่กำลังจะโดนสึนามิจากการลงทุนถล่มจะต้องทำอย่างไรต่อไป
การเพิ่มมูลค่าที่อยู่ภายในประเทศของรถยนต์อีวีก็ยังน้อยกว่ารถยนต์สันดาปมาก
การลงทุนในจีนที่ผ่านมาแม้จะเพิ่งส่งออกได้แค่ 2 ปี
แต่ตอนนี้กลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกไปแล้ว นอกจากนี้ 8% ของการส่งออกรถปิกอัพของประเทศไทยก็ยังถูกขโมยไปโดยจีนด้วย
ขณะเดียวกันภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีที่มีการลดหย่อนให้ไปถึง
0% ก็ไม่เหมือนกับที่เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรปได้รับ
ถ้าต้องการจะสร้างอุตสาหกรรมอีวีเพื่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จริงๆ ก็ไม่ควรที่จะเป็นแบบนี้
พิธาอภิปรายต่อไปถึงเรื่องของการลงทุน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าโตขึ้น 2.5 เท่าในไตรมาสที่ 4 ก็เป็นเรื่องจริงและเป็นเรื่องดี
แต่ประเด็นที่ยังเป็นข้อเท็จจริงอีกประการคือการที่ประเทศไทยตอนนี้ยังอยู่ที่อันดับ
6 ในอาเซียน นำอยู่แค่กัมพูชา ลาว และเมียนมา
แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโต แต่เมื่อเทียบกับประเทศอย่างฟิลิปปินส์มีการเติบโตถึง 7
เท่า ทุกประเทศเติบโตหมดและเติบโตเยอะด้วย
ก็ขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีในการวางแผนและมีโรดแมป
ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนที่เป็นประโยชน์กับภาคการผลิตของประเทศไทย
ตามต่างประเทศให้ทัน ไม่ใช่นำแค่ประเทศเพื่อนบ้าน และไปกระทบกับเรื่องของเศรษฐกิจ
รวมถึงเรื่องของการขาดดุลทั้งบัญชีการค้าและการทำงบประมาณด้วย
สำหรับภาคบริการ
ซึ่งจะไม่พูดเรื่องการท่องเที่ยวก็คงไม่ได้
ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นเซลส์แมนดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศมามาก
แต่กลับไม่ค่อยมีการผลักดันสิ่งที่อยู่ภายในประเทศเพื่อรองรับการเข้ามาของเม็ดเงินเหล่านี้
มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมาเติบโต แต่กว่า 80% ของการท่องเที่ยวยังคงเน้นอยู่แค่
5 จังหวัด
ไม่มีการสร้างสาธารณูปโภคที่ทำให้คนอยากจะไปให้มากกว่าแค่ 5 จังหวัด
แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรถ้าการท่องเที่ยวมาใน 5 จังหวัด
แต่คนที่อยู่ในจังหวัดเหล่านั้นต้องอยู่ท่ามกลางปัญหาขยะ มลพิษ มาเฟีย ยาเสพติด
ส่วย และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ตนเห็นด้วยกับนโยบาย
Ignite
Tourism Thailand แต่การปล่อยให้ 20% ของจีดีพีไปพึ่งปัจจัยของนักท่องเที่ยวเพียงไม่กี่กลุ่ม
แล้วลืมว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทย ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของนักท่องเที่ยว
ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคบริการมากขึ้น
“ท่านอย่ามองแต่เรื่องที่ต้องการจะให้เป็นบวก ท่านต้องมองให้ครบรอบด้าน
ท่านอย่าไปมองแค่ราคา ไปดูคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย อย่าไปมองแค่ปริมาณ
แต่ต้องมองเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่า
ถ้าท่านมองแบบนี้ได้ผมก็คิดว่าปัญหามันจะทุเลาลง” พิธากล่าว
พิธายังอภิปรายต่อไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ที่แม้นายกรัฐมนตรีจะยอมรับว่ามีปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่จริง
แต่จุดความร้อนลดลงจากปีที่แล้ว นี่ก็เป็นข้อมูลที่เป็นบวกแต่ไม่รอบด้านอีกเช่นเคย
เพราะในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา
จุดความร้อนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นทุกเดือนมีนาคม-เมษายน
และในปีนี้ก็เช่นกันที่จุดความร้อนต่อวันในภาคเหนือเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2567
จึงไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีไปดูข้อมูลเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์มาหรือไม่
แล้วรู้สึกว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ถ้าท่านดูให้ถูกจุดแล้วยอมรับข้อเท็จจริงนี้
ท่านจะเห็นได้ว่าจุดความร้อนต่อวันไม่ได้ลดลง
สิ่งสำคัญและเป็นตัวเลขที่นายกรัฐมนตรียิ่งควรจะต้องดู
ก็คือตัวเลขของคนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เป็นผู้ป่วยนั้นมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งตัวเลขในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีจำนวนถึง 2 ล้านกรณีแล้ว ถ้าท่านเห็นข้อมูลที่ถูกต้อง
ฟังเพื่อตอบสนองไม่ใช่เพื่อตอบโต้
ท่านจะรู้แล้วว่าเดือนมีนาคม-เมษายนที่จะถึงนี้ท่านต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
ในเดือนหน้าหรือในช่วงหนึ่งปีที่จะถึงท่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง
พิธาอภิปรายต่อไปถึงเรื่องการต่างประเทศ
โดยระบุว่า การแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์
การเผาข้าวโพด หรือแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ
จะทำไม่ได้เลยถ้าการต่างประเทศของไทยยังไม่รอบด้านเช่นนี้
โดยเฉพาะกรณีวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ท่านควรที่จะมีความเห็นที่รอบด้านและสามารถมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง
เพื่อที่จะได้รับฟังข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน และสามารถแก้ไขปัญหาได้
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมี
Inter
Agency ภายในรัฐบาลที่เกี่ยวกับกรณีเมียนมาโดยเฉพาะ
ซึ่งจะมาดูแลทั้งการมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง
การทำระเบียงมนุษยธรรมที่ไม่ได้ทำให้นิยามของคำว่ามนุษยธรรมหายไป
และไม่เป็นการส่งความช่วยเหลือไปให้กับแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศเพื่อต่างประเทศ
แต่เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศของเราเอง ทั้งแรงงานข้ามชาติ ไฟป่า
การเผาในพื้นที่ชายแดน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ
ถ้ารัฐบาลสามารถมีความสัมพันธ์กับทุกกลุ่มในเมียนมาได้อย่างรอบด้าน
ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนที่ยึดอำนาจเพียงอย่างเดียว
ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาในต่างประเทศทำได้ดีขึ้น
และกลับมาแก้ไขปัญหาในประเทศไทยที่ไม่มีทางแก้ไขได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน
สุดท้าย
พิธาได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 3 ข้อ คือ
1)
ถ้าอยากจะกอบกู้ภาวะผู้นำของรัฐบาล
ตนคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับ ครม.ได้แล้ว
วางคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องเข้ามาทำงานจริง ที่ผ่านมา 7 เดือนก็พอจะทำให้เห็นภาพได้แล้วว่าใครที่มีประสิทธิภาพ
และใครที่ไม่มีประสิทธิภาพ
2)
ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมีโรดแมป
วิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา 8 ฮับ พูดอีกก็ถูกอีก
หลายเรื่องพูดมา 20 กว่าปีแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เพราะพูดแค่ว่าจะทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไรและเมื่อไหร่
ท่านต้องมีโรดแมปว่าในช่วงไตรมาสนี้จะทำอะไร ปีนี้จะทำอะไร สมัยนี้จะทำอะไร
ซึ่งจะทำให้คนที่อยากจะช่วยท่านเห็นภาพร่วมกัน
และทำให้การขับเคลื่อนเกิดผลลัพธ์ได้จริง
3)
สิ่งที่สำคัญของคนที่เป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 คือการ
“ฟัง” ซึ่งตนขอแนะนำนายกรัฐมนตรีว่าต้องฟังเพื่อที่จะตอบสนอง
ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะตอบโต้ตลอดเวลา
เพราะบางครั้งเสียงที่ท่านไม่อยากได้ยินก็คือเสียงที่ประเสริฐที่สุด
ตามที่ท่านเคยได้กล่าวเอาไว้
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อภิปราย152 #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ก้าวไกล