“ชลน่าน”
โต้ฝ่ายค้าน อย่าบิดเบือนกฎหมาย ยาบ้า 5 เม็ด ไม่ได้เปิดช่องให้ค้าและเสพ
แต่เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยคืนคนดีสู่สังคม พร้อมแจงปลดล็อกกัญชา
เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น
วันที่
5 เมษายน 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
เรื่องของการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์หรือเพื่อการสันทนาการว่าในการแก้กฎกระทรวงสาธารณสุข
มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพเท่านั้น
ซึ่งตามอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
ได้กำหนดให้ภาครัฐในประเทศสมาชิก ที่จะมีการใช้กัญชา ต้องออกกฎหมายมาควบคุม
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่างและอยู่ระหว่างรอการพิจารณา
ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ยืนยันว่าการปลูกกัญชา การผลิตหรือแปรรูปกัญชา
ต้องขออนุญาตจากภาครัฐก่อนเท่านั้น
ส่วนประเด็นเรื่องกฎกระทรวงที่กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ให้สันนิษฐานว่า
มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องนำไปบำบัดรักษาให้หาย
กรณีมียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดนั้น น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ชี้แจงว่า
กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคม
โดยให้โอกาสผู้ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดได้มีโอกาสแยกออกจากชุมชนหรือสังคมที่มีภาวะแวดล้อมสุ่มเสี่ยงต่อการกลับไปเสพยาเสพติด เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดเสร็จแล้ว
ยังต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูทางสังคมก่อน ขณะเดียวกันก็จะมีการให้ความรู้และฝึกทักษะอาชีพควบคู่ไปด้วย
พร้อมย้ำว่าการจะสามารถกลับคืนสู่สังคมได้
ต้องได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่หรือผู้อำนวยการสถานพยาบาลผู้บำบัด
ว่าเป็นผู้ที่หายขาดจากยาเสพติดแล้ว ไม่มีอาการที่ผิดปกติ
และมีความพร้อมกลับสู่สังคม จึงจะสามารถออกจากกระบวนการบำบัดได้
ในปัจจุบัน
หลังจากการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว
มีหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการบำบัดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แล้วถึง 322
แห่งทั่วประเทศ และมีผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด 4,763 ราย บำบัดสำเร็จแล้ว
1,589 ราย ขอเน้นย้ำว่า
หากสส.ทุกท่านให้โอกาสคนกลุ่มนี้ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะสามารถเลิกขาดจากยาเสพติดได้
และกลับตัวเป็นคนดีก่อนกลับคืนสู่สังคม ดังนั้นเรื่องยาบ้า 5 เม็ด
จึงไม่ใช่การเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ค้า หรือผู้ติดยาเสพติด
นำมาแสวงหาผลประโยชน์อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปราย ขณะเดียวกัน
ที่ผ่านมาผู้อภิปรายบางคนก็เคยมีส่วนร่วมในการโหวตสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวนี้
แต่ครั้งนี้กลับมาบิดเบือนเจตนาของกฎหมาย สร้างความสับสนให้กับประชาชน