วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

“รังสิมันต์” เสนอรัฐบาลรับมือสถานการณ์ในเมียนมา ระยะสั้น-กลาง-ยาว ชี้อนาคตของเมียนมาสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในประเทศ ไทยควรมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพ

 


“รังสิมันต์” เสนอรัฐบาลรับมือสถานการณ์ในเมียนมา ระยะสั้น-กลาง-ยาว ชี้อนาคตของเมียนมาสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในประเทศ ไทยควรมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพ  


วันที่ 25 เมษายน 2567 ที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ (เขตบางนา พระโขนง) พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. ร่วมแถลงข่าวกรณีติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมา โดยรังสิมันต์กล่าวว่า ในฐานะ กมธ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการประชุมเพื่อพูดคุยเตรียมความพร้อมหลายครั้ง ตลอดจน กมธ. มีมติไปยังกระทรวงการต่างประเทศและ ครม. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา


รังสิมันต์กล่าวว่า ปัญหาในเมียนมาถือเป็นปัญหาของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแนวทางของรัฐบาลต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่เมียวดี มีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ตนขอชื่นชมทั้งฝ่ายความมั่นคง สาธารณสุข ทิศทางของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำงานก้าวหน้าเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ตนมองว่ายังต้องการการทำงานที่เพิ่มขึ้นในหลายส่วนและรอบด้าน โดยแบ่งแนวทางการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เห็นภาพรวม 


สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นที่เป็นเรื่องเร่งด่วน กมธ. ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แจ้งให้ทราบว่าจะมีระเบียบปฏิบัติ (SOP) ฉบับใหม่เพื่อรองรับผู้หนีภัยที่ทะลักเข้าไทยหลักแสนคน ซึ่งขณะนี้ต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาล กมธ. มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วน รัฐบาลควรเร่งพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานที่เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


ต่อมาในการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Aids) ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งความช่วยเหลือไปยังเมียนมา ครอบคลุมการช่วยเหลือเพียง 20,000 คน หากต้องการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยั่งยืน จำเป็นต้องทำงานร่วมกับมิตรประเทศและภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่หนีการสู้รบและรอคอยความช่วยเหลืออยู่ วิธีนี้จะช่วยไม่ให้ประชาชนหนีทะลักข้ามแดนมายังประเทศไทย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้อพยพทะลักข้ามแดนคือการโจมตีทางอากาศ กรณีนี้ประเทศไทยต้องมีการพูดคุย เนื่องจากการโจมตีทางอากาศอาจจะละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ  


นอกจากนี้ กมธ. พบข้อมูลการซื้อขายน้ำมันจากประเทศไทยประมาณ 15% ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน้ำมันบางส่วนถูกใช้กับอากาศยานเพื่อใช้โจมตีและปฏิบัติการทางการทหาร สิ่งนี้สามารถเป็นหนึ่งในอำนาจต่อรองที่สำคัญ ที่ประเทศไทยใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพและเพิ่มดุลการเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะสอดรับกับมติของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) ที่ออกมาว่าไม่ควรมีการขายนํ้ามันอากาศยาน (jet fuel) ให้รัฐบาลเมียนมาอีกต่อไป 


รังสิมันต์กล่าวต่อว่า ข้อเสนอระยะกลาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเจรจากับทุกฝ่าย ผ่านการส่งสิ่งของที่จะสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนและการยกระดับการพูดคุย เพราะอนาคตของเมียนมามีความสำคัญต่อประเทศไทย ทุกวันนี้เรามีความท้าทายหลายเรื่อง ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติด คอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวคนเดียว การเจรจาจึงเป็นหมุดหมายเพื่อปูทางไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ 


โดยตัวเลขผู้หนีภัยการสู้รบเข้ามาในประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมียนมา อาจจะมากถึงหลักล้านคน จำนวนไม่น้อยต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทย ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่ทำได้ทันที คือการออกบัตรประชาชนรหัสพิเศษ​ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการให้สถานะคนไทย แต่เพื่อให้สามารถจัดการและตรวจสอบติดตามผู้ลี้ภัยได้ หรือข้อเสนอจากอนุ กมธ. ให้ ครม. พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522 ให้ความเห็นชอบให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลงและมีความจำเป็นต้องทำงานเลี้ยงชีพศึกษาต่อ ก็ให้อยู่อาศัยและทำงานได้เป็นการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่การบริหารจัดการตามกฎหมายในอนาคต เพราะปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ กลไกเช่นนี้จะเป็นโอกาสแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามชายแดน แก้ปัญหาคอร์รัปชันในภาคราชการ และตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจ 


นอกจากนี้ กมธ. ได้เตรียมตั้งคณะทำงานและอนุ กมธ. เพื่อตรวจสอบกรณีที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีปฏิบัติการบางอย่างที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการฟอกเงินของเครือข่ายที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธที่ใช้ในปฏิบัติการในเมียนมา พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนไทยบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดน เพื่อสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในการแก้ไขปัญหาธุรกิจอาชญากรรม การค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมฝุ่นควัน สามารถจัดตั้งเป็น Township Border Committee ขึ้นมาแทนศูนย์ประสานงานเดิมที่ไม่ได้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา รับกับข้อเท็จจริงปัจจุบันที่ว่าในหลายพื้นที่ ตัวแทนทหารเมียนมาไม่ได้มีอำนาจในทางปฏิบัติแล้ว 


รังสิมันต์กล่าวว่า ส่วนสุดท้าย ข้อเสนอระยะยาว จำเป็นต้องมีการพูดคุยถึงอนาคตของเมียนมา จากบทเรียนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพ และจากการทำหน้าที่ของ กมธ. ที่ผ่านมา เชื่อว่าไทยสามารถพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ได้ โดยสิ่งที่ตนอยากเห็น คือกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว โดยกระทรวงการต่างประเทศเปลี่ยนแนวทางทางการทูตให้มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดผลประโยชน์ของประเทศไทยกับฝ่ายต่างๆ จะถูกทำลายลงอย่างแน่นอนหากไม่มีการทำงานเชิงรุกมากกว่านี้


ด้าน ปิยรัฐ แถลงในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวสรุปสั้นๆ ว่าคณะทำงานของ กมธ. เตรียมเดินหน้าตามแผนเชิงรุก เดินทางไปยังพื้นที่เพื่อศึกษาและรับฟังปัญหาโดยตรง ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม และหลังจากนั้นมีกำหนดการเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมช. ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการประเมินสถานการณ์ และกระทรวงการต่างประเทศในลำดับต่อไป 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์