พรรคก้าวไกล
พร้อม กมธ.การทหาร สังเกตการณ์หน่วยเกณฑ์ทหารเขตลาดพร้าว ชูช่องทางร้องเรียน
“พลทหารปลอดภัย” หวังช่วยประชาชนรู้สึกอุ่นใจ-มีกลไกแก้ปัญหา ด้าน “พิจารณ์”
เรียกร้องรัฐบาล-นายกฯ ผลักดันร่างกฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารของก้าวไกล
จี้ถามยอดกำลังพลที่ต้องการต่อปีคือเท่าไรแน่
วันที่
2 เมษายน 2567 พรรคก้าวไกล นำโดย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
รองหัวหน้าพรรค และ กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย
กรรมาธิการการทหาร (กมธ.การทหาร) นำโดย ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13 และรองประธาน กมธ. ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ “พลทหารปลอดภัย”
ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ “พลทหารปลอดภัย”
แก่ประชาชนผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินหรือการเกณฑ์ทหาร เขตลาดพร้าว
กรุงเทพฯ ณ วัดลาดปลาเค้า
เมื่อพิจารณ์เดินทางถึงวัดลาดปลาเค้า
ได้ให้ความเห็นแก่ผู้สื่อข่าวว่า หลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้เสนอกฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
เปลี่ยนจากการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ เป็นการสมัครใจรับราชการทหาร
แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากนายกฯ
พรรคจึงแก้ไขเนื้อหาในร่างอีกฉบับ ไม่ให้ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน
และได้ยื่นต่อสภาฯ ไปแล้ว จึงต้องการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลและนายกฯ เศรษฐา
ให้ร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย
พิจารณ์กล่าวด้วยว่า
ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ ตนและพรรคก้าวไกลมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า
นโยบายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ
จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยเหมือนกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่น
ตอนจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่จะเสนอวันมูหะมัดนอร์ มะทา
เป็นประธานรัฐสภา
พรรคก้าวไกลก็เสนอว่าต้องมีการให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน
ที่รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ
แต่เราไม่ได้ระบุเรื่องกฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
เพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องมีการผลักดันและผ่านกฎหมายได้ในที่สุด
แต่เมื่อถึงวันนี้
ตนต้องย้ำเตือนไปยังนายกฯ เศรษฐา ว่าร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอไป
อย่างน้อยควรรีบเซ็น อย่าปัดตกเพียงเพราะเงื่อนไขว่าเป็นร่างการเงิน
ไม่เช่นนั้นเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาจะต้องคอยลุ้นระทึกอีกไม่รู้กี่ปี
เสียโอกาสในชีวิตที่จะเลือกประกอบอาชีพ และต้องย้ำอีกว่า
แนวทางที่รัฐบาลพยายามสร้างแรงจูงใจให้คนสมัครเป็นทหาร เช่น เพิ่มเงินเดือน
เพิ่มอัตรานายสิบ หางานให้กำลังพลทำในบริษัทเอกชนหลังปลดประจำการ
ตนคิดว่าทำเท่านี้ยังไม่เพียงพอ
"สิ่งที่รัฐบาลนี้ควรทำ คือต้องสามารถอธิบายให้ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า
จำนวนทหารกองประจำการที่ต้องการ ถูกคิดมาจากการประเมินภัยคุกคามของประเทศอย่างไร
โครงสร้างของกองทัพอุ้ยอ้ายไปไหม
จะปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้ได้จำนวนทหารเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นต้องเกณฑ์กันอยู่แบบนี้ไปอีกกี่ปี
คำถามคือวันนี้ จำนวนความต้องการกำลังพลของกองทัพที่เหมาะสม
ภายใต้ภัยคุกคามในบริบทโลกปัจจุบัน ในแต่ละปี ตัวเลขควรเป็นเท่าไรกันแน่"
พิจารณ์กล่าว
ด้านธนเดช
ซึ่งผลักดันโครงการ “พลทหารปลอดภัย” กล่าวว่า
วันนี้เป็นวันแรกของพี่น้องชาวลาดพร้าวที่มาจับใบดำใบแดง ในฐานะ สส.เขต และในฐานะ
กมธ.การทหาร ตนผลักดันโครงการพลทหารปลอดภัยเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน
ในช่วงเวลาที่การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารยังไม่เกิดขึ้น หากพลทหารหรือครอบครัวของพลทหารได้รับความไม่เป็นธรรม
ขอให้แจ้งเข้ามา ทาง กมธ.ทหาร
พร้อมให้การช่วยเหลือเต็มที่เพื่อให้กำลังพลมีความปลอดภัย
ทั้งนี้ขอให้กองทัพดูแลกำลังพลด้วยความจริงใจและอยู่ในบรรทัดฐานกรอบกฎหมาย
อะไรที่เคยทำแล้วไม่ถูกต้อง หยุดเอาความเคยชินในอดีตมาทำในปัจจุบัน
โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงต่างๆ
ธนเดชกล่าวด้วยว่า
ใครที่จับได้ใบแดง ขอให้แอด LINE OA ของ กมธ.ทหาร
ซึ่งจะเป็นช่องทางร้องเรียนของโครงการพลทหารปลอดภัย
กมธ.ทหารได้เตรียมทีมงานคอยมอนิเตอร์ข้อมูลและร่วมทำงานกับทุกฝ่าย
ประสานงานกับกองทัพอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ไขสถานการณ์
ตั้งเป้าหมายว่าการตายในค่ายทหารต้องเป็น 0
สำหรับบรรยากาศที่วัดลาดปลาเค้า
มีผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน เดินทางมาถึงตั้งแต่เช้า
พร้อมด้วยครอบครัวที่มาให้กำลังใจ ลุ้นการจับใบดำใบแดงในช่วงบ่าย
โดยคณะของพรรคก้าวไกลและ กมธ.ทหาร ได้เดินสังเกตการณ์รอบพื้นที่
พูดคุยและให้กำลังใจแก่ประชาชน ซึ่งจำนวนมากบอกว่าต้องการให้การเกณฑ์ทหารแบบบังคับถูกยกเลิกไป
มีแต่ระบบสมัครใจเท่านั้น
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร