ประเดิมวันแรกเกณฑ์ทหาร
2567 ‘ธนเดช’ ชี้ก้าวแรกพลทหารต้องปลอดภัย ก้าวต่อไปต้องยกเลิกเกณฑ์ทหาร
จี้รัฐบาลตอบให้ชัดลดยอดกำลังพลปีนี้เหลือเท่าไร
หวังทุกพรรคสนับสนุนร่างกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหารของก้าวไกลในสภาฯ
วันที่
1 เมษายน 2567 ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13
พรรคก้าวไกล และในฐานะรองประธาน กมธ.การทหาร แถลง Policy
Watch เนื่องในวันแรกของการเกณฑ์ทหาร 1 เมษายน
2567 โดยกล่าวว่า
หลายคนเคยคาดหวังว่าวันนี้หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล การยกเลิกเกณฑ์ทหารจะต้องเกิดขึ้น แต่ก็น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ทำให้ประชาชนหลายคนยังต้องเสี่ยงจับใบดำใบแดง
อย่างไรก็ตาม
ก้าวแรกที่เราทำคือโครงการ “พลทหารปลอดภัย” ของ กมธ.ทหาร ริเริ่มโดย วิโรจน์
ลักขณาอดิศร ประธาน กมธ.
โครงการนี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขปัจจุบันที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
และยังมีปัญหาตั้งแต่อดีต คือประชาชนไม่รู้สึกไว้วางใจกองทัพ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการคุ้มครองกำลังพล
ให้มีศักดิ์ศรีและความปลอดภัย
เป็นพื้นที่ให้ครอบครัวได้อุ่นใจว่าผู้แทนราษฎรจะอยู่เคียงข้าง
ทั้งในยามทุกข์และยามสุข
สำหรับความมุ่งหวังของโครงการพลทหารปลอดภัย
คือ (1) รับข้อร้องเรียนจากพลทหาร ญาติของพลทหาร หรือผู้พบเหตุ
โดยสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยัง LINE OA ของ กมธ.ทหาร ทาง
กมธ. จะเข้าช่วยเหลือแก้ไขวิกฤตทันที และในกรณีที่พบว่าพลทหารถูกทำร้าย
ถูกธำรงวินัยอย่างผิดระเบียบ หรือถูกซ้อมทรมาน หรือถูกกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม
ทาง กมธ.ทหาร
จะมุ่งระงับเหตุอย่างทันท่วงทีผ่านการประสานงานโดยตรงกับกระทรวงกลาโหม หรือตัวแทนเหล่าทัพที่ประจำ
กมธ.
(2)
หากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นและเราไม่สามารถยับยั้งได้ทันท่วงที
หรือเป็นเหตุให้เกิดการจำหน่าย หรือพลทหารต้องเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บร้ายแรง
กมธ.ทหาร จะประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด
เพื่อดำเนินคดีกับนายทหารผู้กระทำและผู้บังคับบัญชาตาม
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างตรงไปตรงมา
(3)
กรณีพลทหารหนีทหาร กมธ.ทหาร จะนำพลทหารกลับสู่กรมกองด้วยความปลอดภัย
เพื่อคืนสิทธิ์คืนศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิต
ขอให้กำลังพลที่หนีออกไปประสานงานกลับมาที่ กมธ. ได้
(4)
จากเหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมาที่มีพลทหารกระทำอัตวินิบาตกรรมระหว่างอยู่ในค่ายทหาร
พบว่าสาเหตุทั้งหมดมาจากความเครียด วิตกกังวล กมธ.ทหาร
จึงมีแนวนโยบายนำจิตแพทย์เข้าพบกำลังพล
เพื่อให้กระทรวงกลาโหมได้ดูเป็นเยี่ยงอย่างในการนำไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพล
ธนเดช
กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลเคยยื่นร่างกฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นร่างการเงิน
จนถึงวันนี้นายกฯ ยังไม่เซ็นรับรอง พรรคจึงยื่นร่างกฎหมายอีกฉบับ
ไม่เป็นร่างการเงิน จะนำไปสู่การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ด้วยการแก้ไข
พ.ร.บ.รับราชการทหาร 2497
ตัดสิทธิกองทัพในการบังคับคนไปเป็นทหารในห้วงเวลาที่ไม่ใช่สถานการณ์สงคราม
เพื่อให้กองทัพประกอบด้วยคนที่สมัครใจเท่านั้น
เหตุผลที่เลือกใช้วิธีนี้เพราะเป็นวิธีที่มีกรอบเวลาชัดเจน
สามารถกำหนดเวลาให้กองทัพปรับตัวได้ และเป็นแรงกดดันให้กองทัพต้องยกระดับตัวเอง
ทั้งนี้
การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ (1) เลิกแบบลุ้นปีต่อปี (2) เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์
จากปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยความต้องการกำลังพลประมาณ 90,000 นายต่อปี
มีคนสมัครประมาณ 30,000 คน เท่ากับ 1 ปีจะมีคนอีกประมาณ
60,000 คนต้องเสี่ยงเข้าไปจับใบดำใบแดงทั้งที่ไม่ได้อยากเป็นทหาร
และการมีอยู่ของการเกณฑ์ทหารไม่ได้ส่งผลดี
เนื่องจากทุกคนที่ถูกเกณฑ์ล้วนมีต้นทุนต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพ
ความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน การดูแลครอบครัว
การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล
ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ
ข้อเสนอของเราคือให้กองทัพทำตาม 2 เงื่อนไขหลัก คือลด Demand หรือยอดกำลังพล ซึ่งหากกองทัพตั้งใจแก้ปัญหา เช่น ยอดผี
การจำหน่ายไปอยู่บ้านนาย น่าจะลดยอดกำลังพลเหลือประมาณ 50,000-60,000 คนได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่ม Supply คือการเพิ่มสวัสดิการให้กับคนที่สมัครใจเป็นทหาร
ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต การประกันรายได้ หรือการคุ้มครองความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน
หากทำได้ มั่นใจว่าจะมีประชาชนไม่น้อยที่สมัครใจเข้าไปเป็นกำลังพล
ธนเดช
กล่าวสรุปว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน การแถลงข่าวของ รมว.กลาโหม
ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางก่อนการเลือกตั้ง
ดูเหมือนรัฐบาลจะเลือกใช้การยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบที่ 1 คือลุ้นปีต่อปี
โดยรัฐบาลพยายามให้ข่าวว่าจะค่อยๆ ลดจำนวนความต้องการ
แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขหรือรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา ว่าปีนี้ ปีหน้า
หรือในช่วงเวลา 4 ปี
จำนวนความต้องการกำลังพลจะลดลงเหลือเท่าไร
แบบนี้เป็นวิธีที่กองทัพทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ประชาชนต้องการ
“ในเมื่อร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลเข้าสภาฯ แล้ว
หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลที่มีนายกฯ ชื่อเศรษฐา ทวีสิน
ที่เคยป่าวประกาศว่าทหารต้องมาจากความสมัครใจ ไม่ใช่การเกณฑ์
จะกล้าหาญพอที่จะเซ็นผ่านร่างนี้ เพื่อบรรจุเข้าสู่สภาฯ
และนี่คือห้วงเวลาวัดใจเพื่อน สส. ด้วยว่าวันที่ท่านพูดกับพี่น้องประชาชน
ท่านมีความจริงใจแค่ไหน
จึงหวังว่าจะให้การสนับสนุนและเดินหน้าไปสู่การยกเลิกเกณฑ์ทหารร่วมกัน
แต่หากพวกท่านไม่สนับสนุน ก็อาจหมายความว่าสิ่งที่พวกท่านพูดก่อนหน้านี้
เป็นเพียงการโฆษณาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงเท่านั้น” ธนเดชกล่าว
ธนเดชทิ้งท้ายว่า
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต
ร่างกฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารที่ก้าวไกลเสนอจะผ่านสภาฯ และจะดีไปกว่านี้
ถ้าปีหน้าประเทศไทยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหารอีก
ขอให้รัฐบาลเร่งยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารโดยเร็วที่สุดไม่ว่าด้วยวิธีใด