วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“ก้าวไกล” ตั้งวงคุยดิจิทัลวอลเล็ต “ศิริกัญญา” แนะรัฐบาลปรับเงื่อนไขโครงการ ดึงดูดร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วม หวั่นไม่แก้ไข สุดท้ายเงินหมุนเข้ากระเป๋าทุนใหญ่เต็มๆ ด้าน “ณัฐพงษ์” ขอความชัดเจน อ้างบล็อกเชนต้องตรวจสอบได้ เปิดข้อมูลเงินหมุนกี่รอบ หมุนไปอยู่ในกระเป๋าใครมากที่สุด

 


“ก้าวไกล” ตั้งวงคุยดิจิทัลวอลเล็ต “ศิริกัญญา” แนะรัฐบาลปรับเงื่อนไขโครงการ ดึงดูดร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วม หวั่นไม่แก้ไข สุดท้ายเงินหมุนเข้ากระเป๋าทุนใหญ่เต็มๆ ด้าน “ณัฐพงษ์” ขอความชัดเจน อ้างบล็อกเชนต้องตรวจสอบได้ เปิดข้อมูลเงินหมุนกี่รอบ หมุนไปอยู่ในกระเป๋าใครมากที่สุด


วันที่ 20 เมษายน 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมพูดคุยประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต ที่ SOL Bar & Bistro อาคารอนาคตใหม่ โดยศิริกัญญากล่าวว่า ตอนนี้มีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต แต่เรื่องที่ยังมีการตั้งคำถามคือกรณีร้านค้าขนาดเล็ก ที่รัฐบาลเพิ่งมีการนิยามว่าหมายถึงร้านค้าทั้งหมด ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคานท์สโตร์ และ Cash&Carry จึงเห็นได้ว่ากินความหมายกว้างมาก รวมถึงร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ทั้งหมด ทำให้ประชาชนกังวลว่าสุดท้ายเงินของโครงการนี้จะหมุนไปที่ไหน


ส่วนที่รัฐบาลบอกว่าจะเริ่มใช้จ่ายตอนไตรมาส 4 ของปีนี้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีถ้าจะทำให้โครงการนี้ออกมาคาบเกี่ยวกับ 2 เทศกาลที่คนเดินทางกลับบ้าน คือปีใหม่และสงกรานต์ แต่ประเมินดูแล้ว คิดว่าคงไม่ทัน เพราะยังมีประเด็นปัญหาเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และต้องเอาร่าง พ.ร.บ. เข้าสภาฯ อีกอย่างน้อย 2 ฉบับเพื่อหาเงินเตรียมมาใช้ และสิ่งที่ตนกังวลมากที่สุดคือซูเปอร์แอป (Super App) ซึ่งมีอยู่แล้วชื่อ “ทางรัฐ” น่ากังวลว่าระบบหลังบ้านจะเสร็จทันหรือไม่ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ต่อให้มีคนที่มีความสามารถ แต่ก็ต้องมีระยะเวลาในการทดสอบระบบด้วย  


ด้านณัฐพงษ์กล่าวว่า ซูเปอร์แอปคือแอปที่มีความสามารถทำได้หลายอย่างในแอปเดียว แต่ที่ผ่านมาแอป “ทางรัฐ” ดูข้อมูลได้อย่างเดียว ยังทำธุรกรรมอะไรไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กังวลเรื่องซุปเปอร์แอปว่าจะใช้ทันหรือไม่ เพราะหากทำเป็นหน้ากากหรือระดับเบื้องต้น ก็พอเป็นไปได้ แต่หากบอกว่าคำนิยามของซุปเปอร์แอปหมายถึงฟังก์ชันทุกอย่างของบริการภาครัฐ ต้องมาปรากฏบนซุปเปอร์แอปนั้น ตนการันตีได้เลยว่าอย่างไรก็ไม่ทันภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ จึงเชื่อว่าช่วงแรกที่มีการเปิดตัวโครงการ จะเป็นแอปทางรัฐที่มีฟังก์ชันเดิมเพิ่มเติมดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป ส่วนในอนาคตจะพัฒนาไปเป็นซูเปอร์แอปของรัฐได้หรือไม่ โดยหลักการไม่ผิดแต่อย่างใด เช่น ในประเทศเอสโตเนียหรือสิงคโปร์ ก็มีแอปเช่นนี้ที่ประชาชนสามารถใช้บริการของรัฐได้ทั้งหมด 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนมองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่น หากเปิดใช้บริการแอปวันแรกแล้วแอปล่ม ตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากนี้ รัฐบาลเคยกล่าวว่าจะนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อแบ็กอัปข้อมูล แต่การประมวลผลธุรกรรมการเงินยังคงเป็นระบบรวมศูนย์ (centralization) ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรออกมาพูดให้ชัด คือหากอ้างว่าข้อมูลเก็บในบล็อกเชน ก็หมายความว่าประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบธุรกรรม (transaction) ได้ทั้งหมด แต่จะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะมีเพียงวอลเล็ตไอดีที่แสดงการทำธุรกรรม หากรัฐบาลย้ำว่าเป็นระบบบล็อกเชนก็ควรเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้เห็นว่ามีวาฬ (Whale) หรือคนที่ดูดเงินจากกระเป๋าคนอื่น อยู่ในระบบเท่าไร จะสามารถวัดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจได้ว่าโครงการนี้ เศรษฐกิจหมุนไปกี่รอบและสุดท้ายหลังจากหมุนแล้ว เงินไปอยู่ในกระเป๋าใครมากที่สุด


ศิริกัญญากล่าวว่า อีกปัญหาคือเงื่อนไขการใช้เงินที่อาจจะทำให้ร้านค้าขนาดเล็กไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากการซื้อสินค้ารอบแรกต้องใช้กับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น เช่น ซื้อหมูปิ้ง ถ้าแม่ค้าเข้าร่วมโครงการ เราก็จ่ายได้ แม่ค้าที่ขายหมูปิ้งก็ต้องไปซื้อวัตถุดิบต่อและต้องจ่ายด้วยดิจิทัลวอลเล็ต แต่ปัญหาคือถ้าเขียงหมูในพื้นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แม่ค้าก็อาจไม่มีเงินไปต่อทุน สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความยุ่งยาก ทำให้ร้านค้าไม่สามารถหรือไม่อยากเข้าร่วมโครงการ 


แม้รัฐบาลบอกว่าอยากให้โครงการนี้สนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ด้วยวิธีการออกแบบเช่นนี้ อาจเป็นอุปสรรค สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์อาจเป็นแค่ร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ที่มีความพร้อม เงื่อนไขการจำกัดเขตพื้นที่จึงอาจไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นใช้กับเอสเอ็มอีโดยไม่จำกัดพื้นที่ น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า


ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือนก่อนเปิดลงทะเบียนร้านค้า รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เข้ามาร่วมให้มากที่สุด เช่น อาจมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น นิรโทษกรรมทางภาษี เพื่อคลายข้อกังวลของบางร้านค้าที่กังวลจะโดนเก็บภาษีย้อนหลัง หรือหากรัฐต้องการให้เกิดการลงทุนต่อ ก็อาจมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นการจูงใจ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ยินอะไรแบบนี้จากรัฐบาลเลย 


ศิริกัญญากล่าวว่า ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดที่มีอยู่วันนี้ สร้างข้อจำกัดให้ร้านค้าขนาดเล็ก ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าเงินที่กำลังจะหมุน อาจจะหมุนไปกระจุกอยู่ที่ทุนขนาดใหญ่ คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าขายปลีกที่เป็นเชนขนาดใหญ่ ถ้ารัฐบาลยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วม เงินก็จะหมุนไปอยู่กับทุนใหญ่เท่านั้น นี่คือสิ่งที่เราวิเคราะห์คาดการณ์ได้โดยตั้งอยู่บนข้อมูลที่รัฐบาลแถลงออกมา 


ซึ่งการคาดการณ์นี้สามารถพิสูจน์ได้ ถ้าบล็อกเชนถูกทำให้โปร่งใส เข้าไปตรวจได้ก็จะเห็นว่ามีกระเป๋าเงินไหนได้เงินมากเป็นพิเศษ ถ้ารัฐบาลใส่ใจเพียงพอว่าอยากให้เงินกระจายไปทั่วถึง ยังมีเวลาแก้ไขเพื่อทำให้โครงการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมประชาชนมากกว่านี้ เพราะเป้าหมายของโครงการนี้มีอย่างเดียว คือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้จีดีพีเติบโต 1.2-1.8% ไม่ได้ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากหรือกระจายรายได้ให้พี่น้องประชาชน แต่ถ้าประชาชนช่วยกันส่งเสียง ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนเงื่อนไขได้ว่าจะทำอย่างไรให้รายได้ของคนตัวเล็กตัวน้อยดีขึ้น สร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น กระจายรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น


ขณะที่ ณัฐพงษ์ ปิดท้ายว่า ปัจจัยความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้ คือต้องมีร้านเล็กๆ เข้าร่วมให้มากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราอาจช่วยกันตรวจสอบได้ก่อน คือช่วงลงทะเบียนไตรมาส 3 รัฐบาลควรเปิดเผยตัวเลขยอดผู้ลงทะเบียน โดยแบ่งตามประเภทร้านค้าและรายอำเภอ เพื่อดูว่าทั่วทั้งประเทศ เป็นร้านค้าตัวเล็กตัวน้อยจริงหรือไม่  


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ดิจิทัลวอลเล็ต