วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพฯ ยื่นหนังสือต่อ กสทช. ขอให้พิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทค หวั่นค่าบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชน


กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพฯ ยื่นหนังสือต่อ กสทช. ขอให้พิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทค หวั่นค่าบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชน

 

วันที่ 29 ส.ค. 2565 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซอยพหลโยธิน 8 กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร โดย พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า, ภาณุพงศ์ จากนอก หรือ ไมค์ และคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  โดยในวันนี้มี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

 

ซึ่งระบุว่า ตามที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (True) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (Dtac) ได้ประกาศแจ้งต่อสาธารณะว่าจะมีการควบรวมธุรกิจ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน มีความกังวลต่อการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

จากการที่ กสทช. ได้ท าหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่า ไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเนื้อหาเดียวกันซ้ำอีกครั้ง อาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่า กสทช.มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่าย

บริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง และครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรี มีความเสี่ยงในการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย

 

กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ จึงต้องป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือ สร้างภาระต่อผู้บริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% (อ้างอิงผลการศึกษา กสทช.) หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลดต่ำลงได้ เหมือนเช่นในอดีต ที่มีการแข่งขันสูง

 

การควบรวมครั้งนี้ นอกจากเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจากร้านค้าลูกตู้ ไปยังร้านค้าปลีกในเครือ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าให้ร้านค้าอีกต่อไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดขายส่งและขายปลีก Sim card ต่อเนื่องไปถึง Vender/Supplier ผู้ให้เช่าสถานที่ และพนักงาน รวมไปถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาบริการโทรคมนาคมในการขายสินค้าหรือบริการของตนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการลดการแข่งขัน อันอาจจะทำให้ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

ทั้งนี้ เครือข่ายยังเชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อผ่าน change.org/truedtac เพื่อสนับสนุนแคมเปญคัดค้านการควบรวมอีกด้วย ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อเกือบ 16,000 รายชื่อแล้ว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร