วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565

นักกฎหมายสิทธิฯ - นักศึกษา ฟ้อง 'ประยุทธ์-ผบ.ทสส.' ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกฯ เหตุลักไก่เอาโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาผสมความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม

 


นักกฎหมายสิทธิฯ - นักศึกษา ฟ้อง 'ประยุทธ์-ผบ.ทสส.' ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกฯ เหตุลักไก่เอาโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาผสมความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม

 

วันที่ 22 ส.ค. 2565 ทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะผู้นำองค์การนักศึกษา เดินทางมายังศาลแพ่ง รัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 15 และเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ข้อ 3

 

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ตัวแทนทีมทนายกล่าวว่า คำสั่งทั้งสองฉบับระบุว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้นำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ มาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่ก็เหมือนเป็นการลักไก่เพราะข้อกำหนดที่ออกโดย ผบ.ทสส. เพิ่มโทษให้การชุมนุมมีโทษหนักขึ้น โดยให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนั้นยังให้อำนาจกับ ผบ.ทสส. ออกแบบแผนงานต่างๆ เพื่อให้เลิกการชุมนุม ซึ่งโดยแนวทางปฏิบัติของ พ.ร.บ. ชุมนุม การสั่งให้เลิกชุมนุมจะต้องร้องขอผ่านศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด

 

นรเศรษฐ์สรุปด้วยว่า คำสั่งข้างต้น ซึ่งเป็นกฎหมายระดับรองกลับไปเพิ่มโทษให้กับกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ในวันนี้ จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้บังคับใช้คำสั่งข้างต้น เพราะในวันที่ 23-24 ส.ค. ก็อาจมีการชุมนุมสาธารณะอีกเนื่องจากเป็นช่วงที่อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหากมีการใช้ข้อกำหนดข้างต้นก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างร้ายแรง โดยวันนี้ตนมีข้อมูลมายื่นต่อศาลด้วยว่าทางตำรวจได้เตรียมกำลังไว้สำหรับการชุมนุมแล้ว

 

เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนคณะนักศึกษาที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง กล่าวว่า ประกาศสองฉบับนั้นไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะมีการลักไก่เพิ่มโทษให้กับการกระทำผิด และเดิมที พรก.ฉุกเฉินนั้นประกาศมาเพื่อใช้ควบคุมโรค แต่ก็มีคำถามว่าถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนหรือไม่

 

คดีนี้มีเหตุสืบเนื่องจากสืบเนื่องจากการประกาศเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม...”

 

ต่อมาวันที่ 1 ส.ค. 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้งการจัดและการแจ้ง รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา

 

ทางภาคีนักกฎหมายสิทธิมองว่าการออกประกาศข้างต้นเป็นการเพิ่มข้อห้ามและหน้าที่โดยที่ผู้ออกคำสั่งไม่มีอำนาจกระทำการเช่นนั้น

 

ที่มา : ประชาไท

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชาไท