"ทนายอานนท์" ยื่นหนังสือ ถึง ก.ต. และอธิบดีศาลอาญา ให้ตรวจสอบรองอธิบดีศาลอาญาออกคำสั่งเเทรกเเซงสั่งตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดี ม.112 ถือเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ตุลาการ และเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
วันนี้ (31 ส.ค. 65) เวลา 14.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา ทนายอานนท์ นำภา เดินทางมาพร้อมคณะทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยทนายอานนท์ เป็นจำเลยในคดี หมายเลขดำที่ 1395/2565 ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ประธาน ก.ต.)รวมถึง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)เเละ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
เรื่อง ขอให้สอบสวนและดำเนินการทางวินัยกรณีที่อาจมีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดี เรียน 1. อ้างถึง คดีของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1395/2565 ระหว่างพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 โจทก์ กับ นายอานนท์ จำเลย
โดยหนังสือระบุรายละเอียดความว่าตามข้าพเจ้านายอานนท์ นำภา ในฐานะจำเลยในคดีดังกล่าว ขอเรียนมายัง ท่านประธานศาลฎีกา ประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในฐานะข้าราชการตุลาการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานของศาลอาญาตาม มาตรา 11 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ท้ายพรบ.ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ประกอบด้วยมาตรา 68 พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เพื่อโปรดพิจารณาข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าจะได้เรียนให้ท่านได้ทราบ พร้อมด้วยพยานหลักฐานตามที่ระบุในสิ่งที่ ส่งมาด้วยนี้ว่าเป็นกรณีที่ข้าราชการตุลาการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการ อื่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระ หรือความยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 66 แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาล ยุติธรรม พ.ศ. 2543 หรือไม่ หรือเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการหรือไม่ หรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยระเบียบหรือกฎหมายด้วยประการอื่นใดหรือไม่
โดยมีรายละเอียด ของข้อเท็จจริงและพยานเอกสารที่อ้าง ดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.75 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันดังกล่าว จำเลยได้แถลงแนวทางการต่อสู้คดี ต่อศาล ปรากฏตามคำแถลงแนวทางการต่อสู้ของจำเลย และ คำแถลงของจำเลยต่อศาลในระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งศาลได้บันทึกไว้ ศาลมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ชื่อแถลงของโจทก์และแนวทางการต่อสู้คดีของจำเลยแล้ว เห็นสมควรให้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 1 นัด และนัดสืบพยานจำเลย 6 นัด
2. เจ้าหน้าที่ศาลได้ออกรายงานให้แก่พนักงานอัยการโจทก์และจำเลย ระบุจํานวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยจะนำสืบ พร้อมด้วยจำนวนวันนัดสืบพยานของแต่ละฝ่าย
3. ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 65 นายอรรถการ ฟูเจริญ ในฐานะรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญา ได้ออกคำสั่งท้ายรายงานเจ้าหน้าที่ความว่า “ตรวจสำนวนแล้ว กรณียังมีการกำหนดให้สืบพยาน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกําหนดประเด็นพิพาทในคดีและพยานความเห็น จึงให้ทำการตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม หมายแจ้งคู่ความ ปิดหมาย”
และเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 65 ศาลได้มีหมายแจ้งคำสั่งมายังจำเลยว่า ศาลได้มีคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐาน เพิ่มเติมในวันที่ 5 ก.ย. 65 โดยหมายแจ้งลงชื่อนายอรรถการ ฟูเจริญ ในฐานะผู้พิพากษา
ข้อ 3. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 188 บัญญัติไว้ว่า "การพิจารณา พิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและ กฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” เช่นเดียวกับมาตรา 66 แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ที่บัญญัติว่า “ข้าราชการตุลาการ ต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุ ให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม
4. จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าเห็นว่า อำนาจในการพิจารณา พิพากษาคดีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี โดยคดีนี้ผู้พิพากษาที่เป็น องค์คณะพิจารณาคดีได้พิจารณาสำนวนคดีทั้งหมดแล้วและมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานตามที่ได้ระบุไว้ใน รายงานกระบวนพิจารณาของศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ย่อมต้องถือว่าผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดี ได้ใช้ดุลพินิจมีคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นอำนาจตามกฎหมายที่เป็นอิสระของ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี ดังนั้น นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งไม่ได้เป็น องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1395/2565 จึงไม่มีอำนาจ ออกคำสั่งให้มีการตรวจพยานเพิ่มเติมภายหลังจากที่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้มีคำสั่งเกี่ยวกับ การตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว คำสั่งดังกล่าวของนายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 และรัฐธรรมนูญ 2560
อันถือได้ว่า อาจจะเข้าข่ายที่ นายอรรถการ ฟูเจริญ ข้าราชการตุลาการดำรงตำแหน่งในระดับรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญาซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือ กระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือ ความยุติธรรม ตามที่กำหนดไว้ในพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 66
การกระทำและการออกคำสั่งดังกล่าวของนายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ทำให้ข้าพเจ้าในฐานะจำเลยได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของข้าพเจ้า เพราะอาจจะทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาคดีเกิดความหวั่นไหวในการปฏิบัติหน้าที่ พิจารณาคดี เนื่องจากนายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ของศาลได้ออกคำสั่งเป็นอย่างอื่นให้ตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมโดยให้เหตุผลทำนองว่า “ตรวจสำนวนแล้ว กรณียังมีการกำาหนดให้สืบพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเด็นพิพาทในคดีและพยานความเห็น จึงให้ทำการตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม”
ทั้งที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีซึ่งเป็นองค์คณะที่นั่งพิจารณา ได้ตรวจดูคำฟ้องของโจทก์ แนวทางคำแถลงของโจทก์ คำแถลงแนวทางการต่อสู้คดีของจำเลย และสำนวนคดี การกระทำและการออกคำสั่งดังกล่าวของนายอรรถการ อาจจะทำให้กระทบกระเทือน ละเมิดต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ ละเมิดต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นประเทศได้ลงนามเป็นภาคีมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ รวมทั้งกระบวนกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง
จึงเรียนมายังท่านประธานศาลฎีกา ประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาในฐานะข้าราชการตุลาการ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานของศาลอาญา
เพื่อดำเนินการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน พ.ศ. 2544 หรือ ดำเนินการอื่นใดในส่วนที่เกี่ยวข้องตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
อนึ่ง เนื่องจากนายอรรถการ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีตำแหน่งสูงระดับรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญา เพื่อให้การสอบสวนกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม จึงขอให้ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งโอนย้ายนายอรรถการ ไปช่วยทำงานชั่วคราวในศาลอื่นและตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การดำเนินการสอบสวนในกรณีดังกล่าวนี้ด้วย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา #ศาลอาญารัชดา