ศาลยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว
“ป่าน ทะลุฟ้า” ระบุ ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
เมื่อวันที่ 18
ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ
ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว กตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ “ป่าน
ทะลุฟ้า” เป็นครั้งที่ 3
ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564
โดยครั้งนี้ได้เสนอให้ตั้ง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ “ครูจุ๊ย” ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า
เป็นผู้กำกับดูแลหากได้รับการประกันตัว
ต่อมา เวลา
15.50 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวป่านเช่นเดิม ระบุว่า
“พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” โดยคำสั่งไม่ระบุชื่อผู้พิพากษาที่จัดทำคำสั่งเอาไว้
สำหรับเหตุผลขอปล่อยตัวชั่วคราว
“จำเลยสูญเสียรายได้-มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือครอบครัว
ระบุพร้อมยินดีทำตามเงื่อนไขศาลทุกประการ ยินดีให้ตั้งผู้กำกับดูแล”
ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของป่าน
ระบุโดยสรุปว่า ได้ขอวางเงินเป็นหลักประกันจำนวน 70,000 บาท
อีกทั้งจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
และคดีมีหนทางจะต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลเพื่อที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นใด
และไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในชั้นศาล
ที่สำคัญจำเลยประกอบอาชีพรับจ้าง
ต้องทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยเป็นผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิก้าวหน้า
หน้าที่ของจำเลยคือรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย
ดูแลจัดการหลักสูตรท้องถิ่นก้าวหน้า การไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย
ทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากทั้งเรื่องงานและการขาดรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ภายหลังช่วงสิ้นปี
2564
จำเลยก็มิได้เข้าร่วมใช้สิทธิในการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด
มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน กระทั่งปัจจุบันไม่ปรากฏซึ่งกิจกรรมการชุมนุมอันมีลักษณะไม่สงบเรียบร้อยในสังคม
จำเลยไม่อาจก่อภยันตรายอื่นใดได้อีก
หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
จำเลยขอให้ศาลแต่งตั้ง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า
หัวหน้างานของจำเลย เป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล
โดยได้รับความยินยอมจากกุลธิดาแล้ว
และจำเลยยินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยเคร่งครัด
คำร้องยังโต้แย้งประเด็นที่ศาลพิจารณาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งแรก
นอกจากระบุว่าพฤติการณ์แห่งคดีตามฟ้องของโจทก์นั้นเป็นข้อกล่าวอ้างฝ่ายเดียว
ยังมิได้ผ่านการพิจารณาของศาล
และยืนยันหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ยังยกตัวอย่างคดีที่จำเลยถูกกล่าวหา และล่าสุด
อัยการก็ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ได้แก่ คดีชุมนุมที่ดินแดง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.
2564 ซึ่งอัยการมีความเห็นว่าจำเลยเพียงมาปรากฏตัวในที่ชุมนุมในเหตุดังกล่าว
มิได้เป็นแกนนำในการจัดชุมนุม
เป็นเพียงบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามดูพฤติกรรมในที่ชุมนุมเท่านั้น
การกล่าวหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกล่าวอ้างฝ่ายเดียวของตำรวจ
คำร้องยังยืนยันอีกครั้ง
ว่าอัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
ทั้งนี้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่า
หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไปและอาจจะไปก่อภยันอันตรายประการอื่น ก็ให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามได้
แต่ศาลยังคงเห็นว่ากรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเช่นเดิม
ทั้งนี้ ป่านถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
รวมเป็นระยะเวลา 30 วันแล้ว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
จนถึงวันที่ 5 ส.ค. 2565
ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 29 คน
ที่มา : เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR