วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565

บันทึกเยี่ยม “ป่าน-คิม ทะลุฟ้า” : เรียกร้องสิทธิเยี่ยมญาติ หลังราชทัณฑ์ยังให้เยี่ยมเดือนละครั้ง โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 


บันทึกเยี่ยม "ป่าน-คิม" ทะลุฟ้า : เรียกร้องสิทธิเยี่ยมญาติ หลังราชทัณฑ์ยังให้เยี่ยมเดือนละครั้ง โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


5 ส.ค. 2565 ทนายความเข้าเยี่ยม “ป่าน” และ “คิม” สองสมาชิกทะลุฟ้า ที่ส่วนเยี่ยมของทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งสามารถยกหูคุยกับทั้งสองพร้อมกันได้ พร้อมแจ้งทั้งสองว่าวันนี้ ทีมทนายความได้ยื่นประกัน เจมส์ ศักดิ์สิทธิ์ และ คิม ขณะที่เยี่ยมนั้น ผลประกันตัวยังไม่ออก


คิมเล่าว่าด้านในมีการประกวด “มิสแรกรับ” และมีคนชวนให้คิมประกวด แต่เธอปฏิเสธ และแกล้งถามว่า “ถ้าให้คิมประกวด แล้วช่วงตอบคำถาม คิมตอบว่าอยากให้มองและปฏิบัติกับผู้ต้องขังเหมือนมนุษย์จะได้ไหม” ด้วยคำถามนี้ คิมเลยไม่ได้โอกาสร่วมประกวดกับเขา


ในขณะที่ ป่านวันนี้มีเพื่อนมาเยี่ยม แต่มีปัญหาในตอนที่ออกมา เพราะระเบียบการเยี่ยมญาติ ต้องใส่เสื้อใน แต่ป่านซักเสื้อในไว้อยู่จึงไม่มีใส่ออกมา จึงมีปัญหาติดขัดเล็กน้อย ป่านตั้งข้อสังเกตว่าหากผู้ต้องขังไม่มีจะทำอย่างไร


ป่าน-คิม เรียกร้องสิทธิในการพบญาติ : เรือนจำควรเปิดโอกาสให้ญาติได้เยี่ยมมากกว่าเดือนละครั้งแล้ว


ปัจจุบันทัณทสถานหญิงกลางเปิดให้ญาติเยี่ยมที่เรือนจำได้หนึ่งครั้ง และทางไลน์หนึ่งครั้ง ครั้งละ 15 นาที รวมเวลาสองครั้งเพียง 30 นาที ต่อช่วงเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งป่านและคิมเห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวนั้นน้อยเกินไปสำหรับความสัมพันธ์ของคนในเรือนจำและคนนอกเรือนจำ


ป่านเห็นว่า “การที่รัฐบาล ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 แต่ทำไมเรือนจำยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังเจอกับญาติปกติ


เรือนจำควรเปิดโอกาสให้ญาติได้เยี่ยมผู้ต้องขังได้บ่อยเท่าเดิม การเปิดโอกาสให้เยี่ยมที่เรือนจำเพียงหนึ่งครั้งต่อเดือน และทางไลน์อีกครั้งนั้น มีปัญหาว่าหากผู้ต้องขังมีคนมาเยี่ยม แล้วก็คนอื่นก็จะเยี่ยมไม่ได้อีกในเดือนนั้น


อย่างเช่น ถ้าเกิดว่าแฟนมาเยี่ยมแล้ว เดือนนี้ก็จะไม่ได้เจอแม่ หรือคนที่พ่อแม่เขาแยกทางกันต้องเยี่ยมคนละครั้งก็ไม่พอแล้ว รู้สึกไม่แฟร์ที่เราจะได้เจอญาติแค่ 15 นาทีต่อเดือน


การขังเขาและให้เค้าใช้ชีวิตในเรือนจำก็ยากลำบากพอแล้ว อยากให้ราชทัณฑ์ทบทวนเรื่องนี้ควบคู่ไปกับรัฐบาลที่ประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นมาสองเดือนแล้ว”


ด้านคิมเสริมว่า “หนูมีโอกาสคุยกับเพื่อนในเรือนจำ เขาก็รู้สึกแย่ที่แฟนเค้าอยู่ที่หนึ่ง ลูกเค้าอยู่ที่หนึ่ง ก็ไม่สามารถเยี่ยมพร้อมกันในเดือนเดียวกันได้ เขาก็แววตาเศร้าๆ บางคนก็เจอญาติได้แค่ทางไลน์ บางคนเวลาออกศาลอยากจะกอดกันก็ทำไม่ได้ เพราะว่ามันมีลูกกรงกั้น มันเศร้านะ หนูเคยเห็นคนที่เขาวิดีโอคอล เค้าต้องกอดลมกัน ‘มันน่าเจ็บปวด’ หรือญาติบางคนไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีและอยู่ไกลอีก ก็เป็นปัญหา”


ป่านบอกอีกว่า “การให้เยี่ยมทางไลน์เพียงหนึ่งครั้ง และเยี่ยมทางเรือนจำหนึ่งครั้งต่อเดือน มันน้อยเกินไป อย่างเพื่อนในเรือนจำ ถ้าแฟนมาเยี่ยมแล้ว พ่อแม่เดินทางมาจากต่างจังหวัดอีก ก็จะไม่สามารถเยี่ยมได้ ระบบเยี่ยมก็มีปัญหา บางคนจองวันเยี่ยม แต่ลืมเช็คว่าเป็นวันหยุด ก็จองมาได้ แต่ไม่ได้เยี่ยม เพราะระบบดันเปิดให้เขาจองได้”


การเดินทางมันมีค่าใช้จ่าย แค่ส่งข้าว ส่งน้ำ ส่งเงินก็เยอะแล้ว ยังต้องมาจำกัดการเยี่ยมอีก” ป่านสรุป


“คิม” ฝันว่าต้องรีบไปเรียน แต่ตื่นมาพบว่ายังอยู่ในเรือนจำ


ก่อนจากกัน คิมเล่าว่า เธอฝันว่าอยู่บ้าน แล้วตื่นสายต้องรีบมาเรียน เธอรีบจนตื่นมา และพบว่าเธอยังอยู่ในเรือนจำ คิมค่อนข้างเป็นห่วงการเรียนของเธอ


สาเหตุที่ยื่นประกันคิม ครั้งที่ 3 ในวันนี้ เพราะคิมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สาขาการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ ในการเรียนนำเที่ยวของคณะนั้น คิมมีทริปที่สาขาจัดและทุกคนต้องไป ซึ่งในเทอมนี้กิจกรรมดังกล่าวจัดในวันที่ 7 ส.ค. 2565 นี้


คิมเล่าอย่างภูมิใจว่า เธอ “เก่งที่เอามันรอด” แม้เธอจะทำกิจกรรมทางการเมือง แต่เธอสามารถประคองการเรียนมาได้ตลอดสองปีนี้ ความจริงเทอมนี้คิมตั้งใจทำเกรดให้เฉลี่ยขึ้นถึง 3


เหลืออีกเพียงนิดเดียว ไม่อยากต้องดรอป แต่พอมาเจอแบบนี้ ก็เลยเฟลมาก” เธอสรุป


หลังจากเยี่ยมทั้งสองคน จึงได้ทราบว่าศาลอาญายังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัวคิมต่อไป แม้จะยื่นมาแล้ว 3 ครั้ง และคำร้องขอประกันตัวได้อ้างอิงเพิ่มเติมถึงความจำเป็นด้านการศึกษาของเธอ รวมทั้งระบุถึงการยินยอมรับเงื่อนไขการประกันตัวต่าง ๆ ของศาล รวมทั้งการติด EM แล้ว แต่ศาลยังคงเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และไม่ทราบได้ว่าอะไรจะทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR

#ปล่อยเพื่อนเรา #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน