วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565

จดหมายเปิดผนึกถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี

 


จดหมายเปิดผนึกถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี

 

เรียน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ราษฎรปรารถนาที่จะเคารพ

 

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นวันที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรัฐประหาร อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้ากลุ่มกบฎปล้นอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ สถาปนาตนขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารด้วยอำนาจจากยุทโธปกรณ์ที่ราษฎรใช้เงินภาษีออกค่าใช้จ่ายซื้อให้ และจ้างให้พวกมันดูแลทำนุบำรุง จากผู้บัญชาการทหารบกในวัยใกล้เกษียณ ได้ลอกคราบเปลี่ยนสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กษัตริย์รัชการที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี

 

บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาจนบรรจบครบรอบ ๘ ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง" ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง ความว่า "นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ด้วย" เมื่อพิจารณามาตรา ๒๖๔ อันเป็นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญถาวรฉบับปัจจุบัน ได้รับรองคณะรัฐมนตรีชุดเผด็จการ คสช. ที่แต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ร่างด้วยเขม่าควันปืนไว้ว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ...” นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ อย่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถือเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ต่อเนื่องยาวนานมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ และในมาตราเดียวกันนี้เองก็ไม่ได้ระบุถึงการยกเว้นไม่ให้ใช้มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และ ๑๗๐ วรรคสองแต่อย่างใด เหมือนเช่นมาตราอื่น ที่ผู้ร่างต้องการยกเว้นการบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลจะถูกระบุไว้ในวรรคสองของมาตรา ๒๖๔ อย่างชัดเจนว่า "รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๐ ยกเว้น (๖) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และต้องพันจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น (๓) และ (๔) แต่ในกรณีตาม (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และยกเว้นมาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑)"

 

ในเอกสารชื่อ "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐" เขียนโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้อธิบาย มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ไว้ว่า "นอกจากนี้ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา ๘ ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน ๘ ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ...การกำหนดระยะเวลา ๘ ปีไว้ ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจใหม่ทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้" และ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้ให้ความเห็นส่วนตนไว้ในการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า "บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๔ บัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๖๓ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี" และไม่มีคณะกรรมการในที่ประชุมท่านอื่นเห็นแย้งในแนวทางดังกล่าวที่ได้รับการบันทึกไว้แต่ประการใด

 

ด้วยปรากฎแนวทางการตีความรัฐธรรมนูญอันมีน้ำหนักอย่างยิ่ง การคันหาเจตนารมณ์ของตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่ได้ซับซ้อน ตั้งแต่วิธีการเขียนในรัฐธรรมนูญที่ใช้ภาษาในระดับที่ผู้อ่านภาษาไทยออกสามารถเข้าใจได้อย่างง่าย ได้ประกอบกับหลักฐานที่เป็นความเห็นที่บ่งชี้ถึงเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ร่างเอง

 

การตีความตัวบทกฎหมายจึงไม่สามารถจะพลิกแพลงตลบตะแลงไปเป็นอย่างอื่นได้ วาระของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสิ้นสุดในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ อันเป็นที่ต้องจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่า วันดังกล่าวผู้นำคณะรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีที่ปล้นอำนาจประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย รัฐธรรมนูญที่เหล่าคณะรัฐประหารทำคลอดมามาด้วยมือตนเอง เหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์และความทรงจำอันแสนอัปยศไว้ให้ดูเป็นของต่างหน้า

 

ตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจตีความรัฐธรรมนูญไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรักษาความเป็นนิติรัฐด้วยการวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้อย่างเรียบง่ายต่อการเข้าใจอย่างยิ่ง ต่อให้เป็นนักกฎหมายผู้จัดเจนในความรู้ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนผู้ที่ไม่เคยเข้าเรียนนิติศาสตร์แม้แต่ชั้นเรียนเดียวก็สามารถเข้าใจตัวบทในมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่วิญญูชนย่อมรู้ได้เข้าใจได้ด้วยตนเอง โปรดอย่านำเอาตำรานิติศาสตร์ที่ร่ำเรียนและตุลาการบางท่านเองก็เป็นครูบาอาจารย์อยู่ทิ้งลงบ่อปฏิกูล เพื่ออุ้มชูเผด็จการผู้น่าขยะแขยงและเป็นที่รังเกียจของสาธารณะชนอีกเลย ความน่าเชื่อถือของวงการนิติศาสตร์ในประเทศไทยอันมีประวัติศาสตร์ยาวนานก่อนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยที่ต่ำเตี้ยเรียดินอยู่แต่เดิมแล้ว จะต้องแหลกสลายคามือของผู้ทรงคุณวุฒิด้านธรรมศาสตร์และการเมืองอย่างพวกท่านกระนั้นหรือ อนาคตของรัฐบาลเผด็จการชุดหนึ่งไม่คุ้มค่าให้แลกกับอนาคตของวงการนิติศาสตร์ที่พวกท่านเองเป็นส่วนสำคัญในนั้นดอก

 

ครั้งนี้ราษฎรไม่เรียกไม่ขอเรียกร้องจากท่านมากกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายที่พวกท่านก็บรรจงร่างด้วยมาด้วยมือ โปรดอย่าใช้เท้าอันโสโครกลบมันไปด้วยเห็นแก่อำนาจวาสนาที่จะได้รับเลย เพราะเกียรติยศทางนิติศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนซากปรักหักพังของหลักการคงไม่เหลือเกียรติภูมิอันควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูอีกต่อไปแต่อย่างใด

 

ขอตุลาการจงทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เพื่อรักษาความน่าเคารพนับถือของพวกท่านที่มีเหลืออยู่น้อยเต็มที ให้เหลือพอที่จะทำให้กฎหมายในบ้านนี้เมืองนี้ยังควรค่าแก่การเคารพเชื่อถืออยู่ต่อไป และโปรดแสดงความกล้าหาญของตุลาการดังภาษิตละตินที่ ว่า "Fiat justitia ruat caelum" "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" บัดนี้สิ่งที่ท่านต้องโค่นมันลงหาใช่ฟ้าอันสูงส่งไม่ หากแต่เป็นเพียงเนื้อร้ายเน่าเหม็นที่คอยกัดกินราชอาณาจักรไทยมาเกินกึ่งทศวรรษ เพื่อแสดงให้ราษฎรทั้งหลายได้เห็นว่าอำนาจจตุลาการอันเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำ และทรงไว้ซึ่งความเด็ดขาด ยุดิธรรม และสง่างาม

 

ด้วยความต้องการจะนับถือพวกท่านอย่างยิ่ง

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #8ปีประยุทธ์