วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ประกาศฟ้อง !! ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับผู้นำนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้เพิกถอนประกาศจาก ผบ.สส. ที่อ้างอำนาจ #พรกฉุกเฉิน แต่ "ลักไก่" เพิ่มเงื่อนไข และเพิ่มโทษให้ผู้ชุมนุมโดยไม่มีอำนาจ

 


ประกาศฟ้อง !! ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับผู้นำนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้เพิกถอนประกาศจาก ผบ.สส. ที่อ้างอำนาจ #พรกฉุกเฉิน แต่ "ลักไก่" เพิ่มเงื่อนไข และเพิ่มโทษให้ผู้ชุมนุมโดยไม่มีอำนาจ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย อาทิเช่น เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พสิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สิรภพ อัตโตหิ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผบ.สส. เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว

 

สืบเนื่องจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม...”

 

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้งการจัดและการแจ้ง รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558  (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา

 

การออกประกาศดังกล่าว จึงถือเป็นการออกคำสั่งเพิ่มทั้ง "ข้อห้าม" และ "หน้าที่" สำหรับผู้ชุมนุม เกินไปกว่าอำนาจที่ ผบ.สส. มีตามข้อกำหนดฉบับที่ 47 และยังเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้สูงเท่ากับการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผบ.สส. ไม่มีอำนาจออกประกาศเช่นนี้

 

ผู้ฟ้องคดีนัดหมายที่จะแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สนามหลวง และยื่นฟ้องคดีในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค. เวลา 10.00 จากนั้นจะยื่นขอให้ศาลแพ่งไต่สวนเป็นการฉุกเฉินในวันเดียวกัน เพื่อออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองชั่วคราวให้ประกาศผบ.สส. ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ด้วย ซึ่งอาจมีการไต่สวนต่อ และออกคำสั่งในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

 

ดูประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 ได้ทาง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/177/T_0011.PDF?fbclid=IwAR0SNAsvRV191wl_KS7g0O5EmXjVO4v09HD7GdpAxwFP2A5OkyWiI6RvG98

 

ทำความเข้าใจเนื้อหา การควบคุมการชุมนุมภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อได้ทาง https://ilaw.or.th/node/6224

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรกฉุกเฉิน