“ชัยธวัช” ชี้ กมธ.นิรโทษกรรมสรุปแล้ว ยึดแนวทาง “ตั้ง คกก.กลั่นกรอง” แทนการกำหนดฐานความผิด-เหตุการณ์แบบเหมารวม ย้ำรัฐบาลควรส่งสัญญาณชัดไปถึงตำรวจ-อัยการ ไม่ดำเนินคดีการเมืองเพิ่มระหว่างรอกฎหมายนิรโทษกรรม
วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยกล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะใช้แนวทางการ “ตั้งคณะกรรมการ” ขึ้นมาเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม แทนการกำหนดฐานความผิดหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะหากทำเช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคดีความจำนวนมาก และมีลักษณะฐานความผิดที่หลากหลายและซับซ้อน
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ดังนั้นในทางปฏิบัติ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองจึงน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องคณะกรรมาธิการฯ เห็นพ้องต้องกันแล้ว โดยหลังจากนี้คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณากันต่อไปถึงเรื่องที่มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าควรจะเป็นอย่างไร เช่น ใครควรจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ รัฐบาลหรือสภาฯ องค์ประกอบของคณะกรรมการควรมาจากภาคส่วนใดบ้างจึงจะได้รับการยอมรับจากคนทั้งสังคม คณะกรรมการควรมีอำนาจในการออกคำสั่งนิรโทษกรรมได้ทันที หรือควรต้องดำเนินการผ่านตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ฐานความผิดประเภทใดบ้างที่ควรยกเว้นไม่นิรโทษกรรมหรือนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข รวมถึงจะมีการเปิดช่องให้ประชาชนที่ตกหล่นจากการนิรโทษกรรมสามารถยื่นเรื่องเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมได้โดยตรงหรือไม่ รายละเอียดเหล่านี้จะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของกระบวนการนิรโทษกรรมประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ชัยธวัชมองว่าสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก โดยระหว่างที่คณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีอีกหลายกลไกที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินสามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น ควรมีนโยบายที่ชัดเจนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าการปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองจะต้องยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช้อำนาจนอกกฎหมาย ไม่ตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือตึงเกินไปจนทำให้มีคดีความเพิ่มขึ้น รวมถึงไม่นำเหตุการณ์ในอดีตมาตั้งข้อหากับประชาชนเพิ่มเติมอีก
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีควรมีมติส่งความเห็นไปยังฝ่ายอัยการ ว่าคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองควรจะมีการกลั่นกรองและไม่สั่งฟ้อง ขึ้นไปสู่ชั้นศาล หากไม่ได้เป็นกรณีที่ไม่สมควรแก่เหตุหรือรุนแรงเกินไป ซึ่งมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการได้เปิดช่องไว้แล้วว่า อัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องคดีที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนได้ ดังนั้น หากรัฐบาลส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องการจะลดบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองก็จะทุเลาลงไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอกฎหมายนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว
“ผมเห็นช่องหรือกลไกที่อำนาจของฝ่ายบริหารสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งรัฐบาลควรจะพิจารณาเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนคาดหวัง หลังจากการมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่ได้มาจากคณะรัฐประหาร” ชัยธวัชกล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธ #นิรโทษกรรม