วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ก้าวไกล” ตั้งวงคุยเรื่องคลื่นความร้อนในประเทศไทย คาดหลังจากนี้เกิดวิกฤตสภาพอากาศสุดขั้ว รัฐบาลต้องมีแผนรับมือที่ทำได้จริง สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ด้าน “พุทธิพัชร์” ยันร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวตั้งบนผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ขัด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

 


“ก้าวไกล” ตั้งวงคุยเรื่องคลื่นความร้อนในประเทศไทย คาดหลังจากนี้เกิดวิกฤตสภาพอากาศสุดขั้ว รัฐบาลต้องมีแผนรับมือที่ทำได้จริง สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ด้าน “พุทธิพัชร์” ยันร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวตั้งบนผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ขัด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 


วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ที่ SOL Bar & Bistro อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 2 มีกิจกรรม SOL Bar Talk ครั้งที่ 35 หัวข้อ “ประเทศไทยร้อนจะตาย (จริงๆ แล้ว)” พูดคุยเรื่องคลื่นความร้อนในประเทศไทย โดย ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล 


กัลยพัชร กล่าวว่า ความร้อนมีผลกระทบโดยตรงกับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องทำงานกลางแจ้ง รวมถึงกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ รอบหลายวันที่ผ่านมาถือว่าร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากนับย้อนไปหลายสิบปี คนไทยเสียชีวิตจากฮีทสโตรกเฉลี่ยปีละ 33 คน แต่เฉพาะเดือนมีนาคมกับเมษายนปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากความร้อนทั้งหมด 30 ราย ซึ่งมากกว่าปกติ 


ที่ผ่านมาแนวนโยบายด้านสาธารณสุขของไทยเน้นการตั้งรับมากเกินไป ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสมหาศาล ตนขอสนับสนุนให้ออกนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาล่วงหน้า มองสุขภาพอย่างครบวงจร เช่น การฉีดวัคซีน การเพิ่มสิทธิประโยชน์ หรือเรื่องพื้นที่สีเขียวกับ PM 2.5 ต้นไม้คือผู้ผลิตออกซิเจน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 มักมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ออกซิเจนเข้าปอดน้อย หากมีพื้นที่สีเขียว จะช่วยให้คนไข้อาการกำเริบน้อยลง ยืดอายุให้ยาวนานขึ้น 


นอกจากผลกระทบทางสุขภาพ กัลยพัชรยังแนะนำให้รัฐบาลมีมาตรการอื่นๆ เช่น การพิจารณาลดค่าไฟ เพราะปัจจุบันประชาชนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อแข่งกับความร้อน, มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงปรับปรุงฟังก์ชันสำหรับการแจ้งค่าฝุ่นและเพิ่มการบอกอุณหภูมิในแอปพลิเคชันของกรมควบคุมโรคเข้าไปด้วย 


ด้านพุทธิพัชร์ กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานครอยากเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่นนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุง หรือการปลูกต้นไม้ แต่ไม่ว่าทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลจึงยื่นร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวเข้าสู่สภา กทม. จุดประสงค์เพื่อให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นตามมาตรฐานสากล โดยให้ภาคเอกชนหรือประชาชนมีส่วนร่วม 


แม้บางฝ่ายมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนหรือไม่ แต่ถ้าเราดูตัวอย่างต่างประเทศ ก็มีการออกกฎหมายลักษณะนี้ เพื่อขอความร่วมมือว่าถ้ามีการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมบ้าน จะมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคารได้หรือไม่ โดยต้นไม้จะช่วยกรองแสง กรองฝุ่น และคายน้ำทำให้อุณหภูมิในเมืองลดลง นอกจากนี้ เราพยายามหาทางออกให้บ้านที่มีพื้นที่ไม่มาก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนหลังคาหรือบนผนังได้


“เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะที่ตั้งอยู่บนประโยชน์ของส่วนรวม แต่อาจทำให้บางคนเสียผลประโยชน์ เราอธิบายในสภาฯ แล้วว่าร่างไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพราะได้ขอคำเสนอแนะจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็บอกว่าไม่ขัด เป็นอำนาจของ กทม. ที่ทำได้” ส.ก.เขตยานนาวากล่าว


พุทธิพัชร์ กล่าวด้วยว่า ตามระเบียบของกรุงเทพฯ ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจะยื่นได้อีกครั้งในอีก 6 เดือน ดังนั้นยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่หยุด หลังจากนี้จะผลักดันเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด พลังงานทดแทนต่อไป เพราะเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมรายได้ลดรายจ่ายของประชาชน และการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง ล้วนเริ่มต้นจากการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี


ขณะที่ศนิวารกล่าวว่า มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นเวลาหลายร้อยปีที่สะสมบนชั้นบรรยากาศ ดังนั้นปีนี้จะไม่ใช่ปีสุดท้ายที่ประเทศไทยต้องเจอคลื่นความร้อน หลังจากนี้จะมีวิกฤตสภาพอากาศสุดขั้ว หากยังปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะมีเวลาอีกประมาณ 5-7 ปี โลกจะถึงจุดที่กลับคืนไม่ได้ ฟื้นฟูไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้น วางแผนรับมือ สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน และต้องเป็นมาตรการที่ทำได้จริง


โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งประเทศให้ได้ 55% ภายในปี 2580 ทุกวันนี้พื้นที่สีเขียวมีประมาณ 31% ซึ่งไม่แน่ว่ารัฐบาลจะเพิ่มที่ไหนอย่างไร จึงสงสัยว่าในเมื่อมีเป้าหมายนี้ แต่แนวทางยังดูคลุมเครือ แล้วจะทำตามเป้าหมายได้หรือไม่ 


ศนิวารกล่าวว่า สำหรับพรรคก้าวไกล มองว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับเดียวจัดการทุกเรื่องได้ เราจึงเสนอเป็นชุดร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้าสภาฯ ไปแล้วจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร, ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR), ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน


สิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน พรรคก้าวไกลขอเชิญชวนประชาชนร่วมรับฟังมหกรรมนโยบาย Policy Fest’ ครั้งที่ 1 “ก้าวไกล Big Bang” ในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ ที่ไบเทคบางนา ตั้งแต่ 8.00-18.00 น. ภายในงานจะมี 6 บูธ Big Bang ประกอบด้วย เศรษฐกิจปิดโอกาส, การศึกษาตกยุค, ภาคเกษตรแช่แข็ง, รัฐล้าหลัง, เผด็จการซ่อนรูป และที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงคือบูธ “คุณภาพชีวิตโลกที่สาม” ที่จะร่วมหาทางออกจากคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ด้วยชุดกฎหมายที่ก้าวไกลยื่นต่อสภาฯ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์  #ก้าวไกล