วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ทะลุฟ้า” จัดเสวนา Free​ our​ friend​s Free​ our​ Future​ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ร้องคืนอิสรภาพ​นักกิจกรรม จี้รัฐปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112

 


“ทะลุฟ้า” จัดเสวนา Free​ our​ friend​s Free​ our​ Future​ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ร้องคืนอิสรภาพ​นักกิจกรรม จี้รัฐปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112


วันนี้ (23 ต.ค. 64)  ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ติดถนนงามวงศ์วาน กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมเสวนา "Free our friends  Free our Future" เพื่อเรียกร้องคืนอิสรภาพผู้ต้องหาทางการเมือง และปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม


บรรยากาศในงานได้มีการตั้งเวทีด้านหน้าประตูโดยมีฉากหลังเขียนข้อความ 112 พร้อมขึงป้ายผ้าข้อความ "Free our friends Free our Future" และติดภาพวาดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกคุมขังตามแนวรั้วเรือนจำ อาทิ ภาพของ นายอานนท์ นำพา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง, น.ส.เบนจา อะปัญ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กลุ่มทะลุฟ้า, นายทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ, นายนวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่ ทะลุฟ้า และสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้ารายอื่นๆ


รวมถึงติดป้ายผ้าข้อความระบุข้อความ อาทิ "คืนอิสรภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" บริเวณเกาะกลางถนนงามวงศ์วานหน้าเรือนจำพิเศษฯ ป้ายยกเลิก112 ตามแนวรั้วเรือนจำ เป็นต้น


โดยนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน, นางยุพิน มณีวงษ์ มารดา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง, นางมาลัย นำภา มารดาของนายอานนท์ เดินทางมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย


ด้านกลุ่มทะลุฟ้าได้เตรียมจัดกิจกรรม "พับดาวแห่งศรัทธา" โดยผู้มาร่วมกิจกรรมร่วมกันพับและหย่อนใส่ขวดโหล เพื่อเตรียมนำไปมอบให้แก่นักกิจกรรมในเรือนจำ


โดยได้มีการเปิดฟรีไมค์ ให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็น จากนั้นเวลา 16.55 น. "เอ้ The Voice"  ขึ้นเวที เพื่อร้องเพลงที่มีความหมาย สื่อถึงการต่อสู้ และให้กำลังใจ นักกิจกรรมที่อยู่ในเรือนจำ และที่กำลังต่อสู้ทางการเมืองอยู่ด้านนอก


จากนั้น 17.20 น. เข้าสู่ช่วงเสวนา Free our friend Free our Future ดำเนินรายการโดย นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือ แว่น iLaw


ด้าน น.ส.ณัฎฐิดา มีวังปลา หรือ แหวน หัวหน้าหน่วยพยาบาลอาสา First aid Volunteer 53 กล่าวว่า เหตุการณ์จากปี 53 ถึงปัจจุบัน กฎหมายที่นำมาใช้กับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มาจากทุกองคาพยพเท่าที่คิดได้ และอยากจะยัดเยียดความผิดให้กับประชาชน ด้วยข้อหาที่มีโทษหนัก เหนือสิ่งอื่นใดการจับผู้ต้องสงสัย ยากที่สุดคือการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างการประกันตัว อดีตถึงปัจจุบัน ค่อนข้างยากมาก เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง


น.ส.ณัฎฐิดา ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า 27 ตุลาคม นี้ ตนจะถูกส่งฟ้อง ม.112 อีกครั้ง พร้อมยืนยันต่อสู้ถึงที่สุด ด้วยทั้งหมดทั้งมวลเกิดมาจากปัญหาด้านโครงสร้างประเทศ 


ขณะที่นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม หรือ ทนายรอน จาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เริ่มต้นกล่าวรายชื่อ 24 นักกิจกรรม และจำนวนวันที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนที่จะเข้าประเด็นหัวข้อในการเสวนา


จากนั้นนายนรเศรษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในยุค คสช. จนถึงยุคคนอยากเลือกตั้ง ปี 2561 มีการตั้งเงื่อนไข "ห้ามกระทำผิดซ้ำ" ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งประมวลกฎหมาย ป. วิอาญา มาตรา 108 วรรคท้าย ตั้งเงื่อนไขได้ แต่เกินจำเป็น ซึ่งขัดกับ ป.วิ อาญา ม.112


การกำหนดเงื่อนไข เป็นการส่งเสริมให้รัฐใช้กฎหมายปิดปากประชาชนในทางอ้อม ทำให้เกิดภาระต่อประชาชนที่จะออกไปชุมนุม หวาดกลัวที่จะออกไปเรียกร้องเสรีภาพ แต่คนล้มการเลือกตั้ง กลับได้รับประกัน โดยไม่มีเงื่อนไขเช่นนั้น


ขอให้ทุกคน มีความกล้าหาญ และซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวเอง ทำให้สิ่งที่คิดว่าถูกต้องที่สุด ระดับปฏิบัติการเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่มีอำนาจ ขอเรียกร้องให้ซื่อสัตย์กับวิชาชีพของตัวเอง นึกถึงวันแรกที่เรียนกฎหมาย ตัดสินไปตามหลักวิชา และเมื่อนั้น องค์กรใดก็ตามที่ยืนข้างความถูกต้อง ข้างประชาชน ผมเชื่อว่าประชาชนจะยืนข้างองค์กรเหล่านั้นเช่นกัน นายนรเศรษฐ์กล่าว


พร้อมกันนี้นายนรเศรษฐ์ ได้เสนอแนะ 2 ข้อเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤตกระบวนการยุติธรรม 1. คืนสิทธิการประกันตัว 2. กระบวนการโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยการทำวิดีโอบันทึกคดี


ขณะที่น.ส.ปนัดดา สิริมาสกุล หรือ "ต๋ง ทะลุฟ้า" กล่าวว่า ปีที่แล้ว 23 ตุลา 2563 เรามาทำม็อบเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อน วันนี้ครบ 1 ปีแล้ว ยังต้องมาเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนอยู่


เราได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อนรอบตัวหายไปทีละคนสองคน ถ้าหายไปตามกระบวนการ ตามหลักการ เราจะไม่รู้สึกโกรธขนาดนี้ แต่นี่มันไม่ไหวแล้วจริง ๆ 


เราไม่ต้องการให้ใครเข้าไปอยู่ในนั้นอีกแล้ว เราจึงพยายามทำทุกทาง ให้จบในรุ่นเรา ไม่ควรมีใครต้องไปประสบชะตากรรมแบบนั้น ทุกครั้งที่เพื่อนส่งข้อความมา จะบอกตลอดว่า "สู้ต่อไปนะ" อยากชวนให้สู้ต่อ เราอาจเหนื่อยล้า แต่หยุดไม่ได้ เพราะเรากลับไปใช้ชีวิตปกติไม่ได้อีกต่อไป สู้เพื่อไปให้ถึงตรงนั้นจริง ๆ ขอให้มีความหวังไปจนสุดทางร่วมกัน น.ส.ปนัดดากล่าว


ด้านนายอริย์ธัช หรือ อริ ผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนด้านกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ถ้าเราไม่มีสภาผู้แทน จะไม่มีปากเสียง ยังมีสภาผู้แทนเอาเรื่องราวต่างๆ เข้าไปพูด แต่ไม่ใช่ทุกคน ทุกพรรค


กรณีดินแดง รถตำรวจขับชนผู้มาชุมนุม ไม่น่าใช่อุบัติเหตุ ถ้าไม่มีสภาฯ คงไม่สามารถชี้หน้าว่าลูกน้องของคนสั่งการได้ การกระทำเหล่านี้จะต้องถูกนำมาย้อนเช็กบิล อย่างน้อยยังมีคนที่เราเลือก เข้าไปพูดเรื่องเหล่านี้ แม้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม แม้บางคนจะว่าเป็นโรงละคร อย่างน้อยมีสภาเป็นพื้นที่นำเสียงของเราเข้าไปได้บ้าง


เวลามีเหตุการณ์อะไร ไม่ว่าภาคธุรกิจ หรือการเมือง ประชาชนสามารถยื่นเรื่องเข้ามาได้ จะมีคณะกรรมาธิการ รับเรื่องเหล่านั้น และเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น รายละเอียด ข้อเท็จจริง แต่มีเหตุการณ์หนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลเอาเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าจะเรียกร้องข้าราชการมาให้ความเห็นได้หรือไม่


จากนั้น กรรมาธิการก็ถูกลดบทบาทลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเจ้าหน้าที่มาให้ความเห็น อาจไม่ได้พูดอย่างที่เราอยากได้ยิน แต่อย่างน้อยก็เป็นกลไกหนึ่ง ให้คนเห็น จึงควรแก้ไข เรื่องการใช้กฎหมายอย่างได้สัดส่วน


ต่อมาเวลา 19.00 น. กลุ่มทะลุฟ้าได้มีการแจกภาพนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง  โดยมี ชูเวช จากวงสามัญชน ร่วมร้องเพลง "ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ", "บทเพลงของสามัญชน", "แสงดาวแห่งศรัทธา" และเพลง "เราคือเพื่อนกัน" โดย นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ร่วมชูภาพนายพริษฐ์  หรือ เพนกวิน บุตรชาย ท่ามกลางเสียงเพลงด้วย


จากนั้น 19.15 น. นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ "ปูน ทะลุฟ้า" ขึ้นอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการ ซึ่งแต่งโดยนายอานนท์ นำพา ตั้งแต่ 6 พ.ย.53 


ทั้งนี้ได้มีการจุดพลุ ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 19.25 น. ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังโดยรอบตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม


#ม็อบ23ตุลา #ทะลุฟ้า #UDDnews #ยูดีดีนิวส์