งานรำลึก #45ปี6ตุลา ช่วงบ่าย ฝนกระหน่ำ มวลชนไม่ถอย ดนตรี-กวี-ปราศรัย เผาศพ (จำลอง) เผด็จการ จุดเทียนรำลึกวีรชน "รุ้ง" ย้ำสักวันหนึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องชดใช้กับสิ่งที่ทำ
วันนี้ (6 ต.ค. 64) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจากที่มีการจัดกิจกรรมรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงเช้า ที่แล้วเสร็จในเวลา 12.00 น.
บรรยากาศในช่วงบ่าย ของกิจกรรมรำลึก 45 ปี "6 ตุลา19" โดยกลุ่มทะลุฟ้า หนึ่งในกลุ่มที่ร่วมจัดกิจกรรมวันนี้ ได้โปรยกระดาษที่มีข้อความรูปภาพและหุ่นศพจำลอง เชิงสัญลักษณ์คล้ายผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เต็มพื้นที่สนามฟุตบอล เพื่อสื่อรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลาและตอกย้ำว่าสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ มีนักศึกษาถูกรัฐเข่นฆ่าอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่เดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก
โดยเวลา 15.00 น. เริ่มมีการจัดตั้งเวทีปราศรัยจาก นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า และ กลุ่มราษฎร ในหัวข้อความรุนแรงทางเพศต่อนักศึกษาหญิงที่กระทำโดยรัฐ, หนี้เลือดยังไม่ชำระ และมาตรา 112 มรดกตกทอดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา
เปิดเวทีปราศรัย ด้วย ธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย กล่าวย้ำนี่ไม่ใช่เฉพาะการสานต่อเจตนารมณ์วีรชน แต่คือการชำระประวัติศาสตร์นำคนผิดมาลงโทษให้ได้ รวมถึงประเด็น 112 มรดก 6 ตุลา
จากนั้นเป็นการแสดงดนตรี โดย นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ลูกนัท ซึ่งมีเนื้อหาทำนองขับไล่นายกรัฐมนตรีและยกเลิกมาตรา 112 โดยมีเยาวรุ่นทะลุแก๊ส มาช่วยโบกธง สร้างความคึกคัก นอกจากนั้น นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues ร้องเพลงพิราบขาว ของ จิ้น กรรมาชน และ 12345 i ... ซึ่งขณะที่แอมมี่ขึ้นร้องเพลงอยู่นั้น ฝนก็ได้ตกลง ทำให้ผู้ร่วมงานรำลึกต่างพากันหลบฝน แต่บางส่วนยังคงนั่งร่วมร้องเพลงกับแอมมี่ท่ามกลางสายฝน
17.20 น.ฝนตกหนักขึ้นไม่ยอมหยุดทางผู้จัดจึงย้ายสถานที่จัดไปยังใต้อาคารกิจกรรมนักศึกษา จนเมื่อฝนซาจึงมีการย้ายออกมาจัดกิจกรรมบริเวณหน้าอาคารกิจกรรมนักศึกษาตามเดิม โดยเป็นการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยสลับกับดนตรีและการอ่านกวี โดย สมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์, สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่มทะลุฟ้า
โดยนางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ปราศรัยในหัวข้อ "แด่ผู้หญิงเหล่านั้นที่ไม่มีตัวตน" มีเนื้อหาเกี่ยวกับ แรงงานสตรีที่สไตรค์หยุดงานจนเกิดเป็นยุครุ่งเรืองของสิทธิสตรี ช่วงหลังปี 2516 ร่วมทั้งได้กล่าวถึงเรื่องของนักศึกษาหญิงหลายคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
จากนั้นนางสาวเบนจา อะปัญ ขึ้นอ่านบทกวี “ตราบ” จาก วัฒน์ วรรลยางกูร ต่อด้วย นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอม อ่านบทกวี “เถ้าถ่าน” จาก มาลัย อิสรา
ต่อมานายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ บิ๊ก สมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวปราศรัย ประเด็น มาตรา112 คือมรดก 6 ตุลา อีกทั้งยังกล่าวถึงการที่ตำราเรียนมีเพียงประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 16ไม่มีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 19
จากนั้นนายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูนทะลุฟ้า อ่านแถลงการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยไล่อ่านรายชื่อของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ก่อนชวนประชาชนร่วมส่งเสียง คืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย
และทิ้งท้ายก่อนลงเวทีว่า โปรดรู้ว่า เหตุการณ์สังหาร 6 ตุลา จะไม่สูญเปล่า คนทำผิดต้องรับการลงโทษ นายธนพัฒน์กล่าว
ตามด้วยการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “โศกนาฎกรรมเดือนตุลา” ด้วยการเผา 6 หุ่นศพจำลอง ที่แทนถึงเผด็จการ และผู้สั่งฆ่าประชาชน ขณะเดียวกันวงสามัญชนร่วมร้องเพลง “จากภูพานถึงลานโพธิ์” ที่แต่งโดย วัฒน์ วรรลยางกูร โดยมีคนเดือนตุลา ร่วมขับขานบทเพลงด้วย และต่อด้วย “เพลงสหาย” ของ จิ้น กรรมาชน โดยเชิญแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเพื่อนไผ่ ร่วมเปล่งเสียงรวมทั้งผู้ชุมนุมได้ร่วมร้องสร้างความรู้สึกร่วมในบรรยากาศ
ต่อด้วยน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ขึ้นอ่านบทกวี จากรุ่นน้องถึงรุ่นพี่ โดยวรรคสุดท้ายความว่า “6 ตุลา ใครฆ่าเพื่อนตาย ต้องจ่ายหักกลบ ลบหนี้กัน”
จากนั้นจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา และร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เปิดแฟลชมือถือ รวมทั้ง มีการฉายเลเซอร์สีเขียวขึ้นฟ้า เป็นตัวแทนแห่งดวงดาว
เวลา 19.40 น. ประกาศยุติการกิจกรรม โดยวงสามัญชนทิ้งท้ายด้วยบทเพลง "เราคือเพื่อนกัน" จากนั้นช่วยกันเก็บขยะก่อนแยกย้าย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบ6ตุลา