วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทะลุฟ้า" จัดเสวนากระบวนการยุติธรรม กับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง จี้ปล่อยราษฎร ชี้ เป็น"นักสู้" ไม่ใช่ "นักโทษ"

 


"ทะลุฟ้า" จัดเสวนากระบวนการยุติธรรม กับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง จี้ปล่อยราษฎร ชี้ เป็น"นักสู้" ไม่ใช่ "นักโทษ"


วันนี้ (13 ต.ค. 64) ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถนนงามวงศ์วาน กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรม "เสวนากระบวนการยุติธรรม กับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง"  เพื่อยืนยันใน 4 ข้อเรียกร้อง คือประยุทธ์ออกไป เขียนรัฐธรรมนูญใหม่, ปฏิรูปสถาบัน, ปฏิรูปตุลาการ และคืนสิทธิการประกันตัว


เวลา 15.45 น. ทีมงานกลุ่มทะลุฟ้า เริ่มจัดตั้งเวทีเสวนาบริเวณหน้าหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมขึงป้ายผ้าข้อความ "พวกเขาคือนักสู้ไม่ใช่นักโทษ" เป็นฉากหลังของเวที และติดภาพวาดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำ


ขณะที่เจ้าหน้าที่มีการขึงลวดหนามหีบเพลงตลอดแนวรั้วเรือนจำ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีรถน้ำแรงดันสูงจำนวน 2 คัน และรถคุมผู้ต้องหาจำนวน 2 คัน จอดอยู่ภายในสถานบำบัดพิเศษกลาง ใกล้กับเรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วย


เวลา 16.00 น. ทะลุฟ้ากล่าวเปิดเวที และเชิญชวนผู้ร่วมกิจกรรมร่วมเขียนข้อความส่งกำลังใจให้เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น


17.20 น. art performance กิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใช้สีแดงราดรดไปที่ตัวผู้แสดง จากนั้นคลานบนพื้นเกาะกรงรั้วประตู เพื่อสื่อถึงการที่ถูกรัฐริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนรวมถึงสื่อต่อการที่นักกิจกรรมถูกรัฐจับขังคุกพรากอิสรภาพไปอยู่ภายในกรงขังเรือนจำและยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจนถึงขณะนี้


ขณะที่สมาชิกทะลุฟ้าโปรยกระดาษ ที่เขียนข้อความ อาทิ  หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชน, ปล่อยเพื่อนเรา, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น


จากนั้นเข้าสู่กิจกรรมไฮไลท์ในวันนี้ คือวงเสวนาพูดคุยถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมโดย น.ส.พริม มณีโชติ หรือเอ๋ย เป็นผู้ดำเนินรายการ


โดยนายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือปูน ทะลุฟ้า กล่าวตอนหนึ่งว่า ปูนได้มีโอกาสอ่านนวนิยาย "ปีศาจ" สาย สีมา เป็นลูกคนยากจน แต่พัฒนาตัวเองจนได้เป็นทนายความ ไปหลงรักรัชนี ลูกท่านเจ้าคุณ ซึ่งรับไม่ได้กับการเอาลูกชนชั้นสูง กับชนชั้นล่างมาเรียนร่วมกัน มองว่าจะทำให้ประเทศตกต่ำ ผ่านมา 70 กว่าปี ยังมีคนแนวคิดแบบนี้อยู่ คิดว่าคนไม่เท่ากัน ถ้าไม่เริ่มวันนี้ เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลง


สิ่งที่ทำให้ปูนไม่หยุดเคลื่อนไหว เพราะเรายังมีครอบครัว มีน้องเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องการให้มาเจออะไรแบบนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องละทิ้งชีวิตวัยรุ่น มาทำเพื่อใครหลาย ๆ คน และตัวเองในอนาคต


ปูนยังได้กล่าวว่า พี่ ๆ เพื่อน ๆ ในเรือนจำ เขายังมีหวังที่จะได้ออกมาเจอหน้าพ่อแม่ และได้ออกมาสู้ เราที่อยู่ข้างนอกทำไมไม่หวัง ความหวังคือแรงแรงใจสำคัญ ที่จะทำให้ทุกคน มีพลังในการลุกขึ้น


สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดพามาที่ประเทศเราแล้ว พี่อานนท์บอกว่า ถ้าประชาชนยังหลังเหยียดตรง จะไม่สามารถมีใครทำนาบนหลังเราได้


จากนั้น ได้ฝากบทกวี "จงอาจหาญ กล้าที่จะฝัน จงศรัทธาตั้งมั่นในฝั่นใฝ่ เราจะเติบใหญ่เป็นไม้งาม เพื่อประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในประเทศ" ปูน ทะลุฟ้า กล่าวทิ้งท้าย


ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ "ทนายแจม" ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วในตอนที่ยังเป็นนักศึกษา และกล่าวถึงทนายอานนท์ที่เสียสละออกมาต่อสู้กับเยาวชนในปัจจุบัน


ทนายแจมกล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่ามันเป็นยุคที่คนทั่วไปน่าจะรู้ถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการได้ชัดที่สุด เมื่อ 10 ปีก่อนแจมเองก็เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่ได้ร่วมเคลื่อนไหว ซึ่ง 10 ปีก่อนแทบจะไม่มีนักศึกษาเลย เราเป็นแค่นักศึกษากลุ่มเล็กมาก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว พอ 10 ปีผ่านมาสิ่งที่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นคือ ในปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่มาเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น คนก็จะเริ่มมากหน้าหลายตามากขึ้น


ต้องบอกว่าตลอด 10 ปีที่เรียนกฎหมายมาและเป็นทนายความ คนที่อยู่ข้างในไม่ใช่แค่นักกิจกรรมทางการเมือง ไม่ใช่แค่คนที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เขาคือคนที่มีคุณค่าทางจิตใจเราด้วย พี่อานนท์เป็นพี่เลี้ยงทนายความของแจม เป็นคนที่สอนแจมหลาย ๆ อย่าง ปีที่แล้วที่แจมตัดสินใจลงมาต่อสู้เต็มที่ แกเสียสละมากๆ ไม่อยากให้น้องๆ นักศึกษาต่อสู้อย่างเดียวดาย


แกก็ออกมาต่อสู้ในปีที่แล้ว การจำคุกในครั้งนี้พี่อานนท์เองก็พอจะรู้อยู่แล้วว่ามันต้องมีระยะเวลาที่ยาวนาน แต่แกก็ยังยืนยันที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราพอจะรู้ว่าขั้นตอนต่างๆ สิทธิในการประกันตัว ขนาดคดีความฆ่าคนตาย หรือคดีที่มันน่ากลัวกว่าที่พี่อานนท์ทำยังได้ประกันตัว หรืออย่างคดีผู้กำกับโจ้ เป็นคดีที่สะเทือนกระบวนการยุติธรรมมาก เพราะตำรวจถือว่าเป็นต้นสายของกระบวนการยุติธรรม เห็นได้ชัดว่าเราไม่อาจเชื่อถือหรือเชื่อมั่นอะไรในต้นสายธารแม่น้ำนี้ได้อีก ทนายแจม กล่าว


ในช่วงท้ายทนายแจมกล่าวอีกว่า หลังปี 2557 เกิดรัฐประหาร จับพลัดจับผลู มาทำศูนย์ทนายจนทุกวันนี้ คิดว่าการเป็นทนายมีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า เมื่อเทียบกับการต้องอยู่ใต้เบ้าหลอม ถ้าวันหนึ่งใครตกเป็นผู้ต้องหา เรามีสิทธิได้รับประกันตัว ถ้ามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เจ้าหน้าที่ก็ระวังไว้ วันหนึ่งอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาเหมือนกัน


ขณะที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่าย People Go Network กล่าวถึงการทำกิจกรรมตั้งแต่การเดินทะลุฟ้า 247.5 กม. ว่า เราคิดกันไว้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่การเดินมิตรภาพที่เดินจากกรุงเทพฯ ไป ขอนแก่น คิดอยู่เสมอว่า ต้องหาทางเดินเข้ากรุงเทพฯ ให้ได้ เผอิญเป็นช่วงที่ "ไผ่ ดาวดิน" ออกจากเรือนจำ ขบวนการราษฎรเกิดขึ้น และมีนัดรายงานตัว ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้รับประกันตัว จึงมีความจำเป็นที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อรณรงค์ โดยเริ่มเดินทะลุฟ้า


นายเลิศศักดิ์ ได้กล่าวอีกว่า กฎหมายทำให้เราไม่สามารถชุมนุมได้ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปลดทอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คือเรื่องใหญ่ที่ภาคประชาสังคมกำลังเผชิญ


หลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง อย่างการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไปจนถึง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออนุมัติโครงการท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายยังไปจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอื่น ๆ ด้วย หน่วยงานต่าง ๆ กลับใช้โอกาสนี้ไปจัดเวทีปิด เชิญประชาชนส่วนหนึ่งไปนั่งให้เต็มเก้าอี้ พี่น้องที่โดนเกณฑ์มาไม่มีโอกาสแสดงความเห็น บรรยากาศแบบนี้ คือจังหวะผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เพราะประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นได้มากนัก


ทั้งนี้นายเลิศศักดิ์ได้ทิ้งท้ายถึง สิ่งที่พี่น้องพม่าที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยฝากมา ระบุว่า "มันฝังกระสุนเข้าไปในหัวเพื่อเด็ดชีพ แต่หารู้ไม่ว่า อุดมการณ์มันอยู่ในหัวใจเรา"


ขณะที่ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึง "กองทุนราษฎรประสงค์" คือกองทุนที่เกิดจากการระดมทุน เงินทุกบาท ทุกสตางค์มาจากการบริจาคของประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น ทุกบาทจะนำไปใช้กับ 2 ส่วน คือ 1. วางเงินประกันตัว และ 2. เสียค่าปรับของผู้แสดงออกทางการเมือง


โดยกล่าวถึงที่มากองทุนว่า เริ่มจากปี 2553 ที่มีการล้อมปราบ สังหารเสื้อแดง มีคนที่ตาย อีกทั้งถูกคดี ทนายอานนท์คือจุดเริ่มต้นว่าความให้พี่น้องเสื้อแดงและชาวบ้าน เวลานั้นยังไม่มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กองทุนเป็นรูปเป็นร่าง หลังรัฐประหาร ปี 2557 มีคนถูกดำเนินคดีเยอะมาก และต้องไปขึ้นศาลทหาร หลายคนในที่นี้ตกเป็นผู้ต้องหา ในคดีคนอยากเลือกตั้ง จึงมีการระดมทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง ในอีกชื่อหนึ่ง 


ดร.ชลิตากล่าวต่อไปว่า ปี 2563 มีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ถูกดำเนินคดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงใช้ชื่อ "กองทุนราษฎรประสงค์"


กองทุนนี้ไม่ใช่แค่เงินประกัน แต่มีความหมาย ชื่อกองทุนราษประสงค์ โยงไปถึงการล้อมปราบคนเสื้อแดง ที่ ราชประสงค์ และประสงค์ของประชาชน ที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของเพื่อน สืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร


นัยยะของกองทุน ไม่ใช่แค่การระดมเงินธรรมดา แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชน ที่จะบอกถึงความไม่พอใจระบบในประเทศ ท่ามกลางการลิดรอนสิทธิ คนอาจไม่สามาถออกมาร่วมชุมนุมได้ จึงใช้วิธีโอนเงินร่วมช่วยเหลือ


จากนั้น เวลา 19.00 น. แก้วใส วงสามัญชน ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าชวนผู้ร่วมชุมนุมหันหน้าไปทางเรือนจำพิเศษฯ ร้องเพลง "ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ" พร้อมชูภาพบุคคลที่อยู่ในเรือนจำ ต่อด้วยเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" และตะโกน ปล่อยเพื่อนเรา


โดนก่อนยุติกิจกรรมได้มีการนำเค้กวันเกิดจุดเทียนและร่วมร้องเพลงสุขสันต์วันเกิดให้นายนวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่ทะลุฟ้า ที่ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา  พร้อมกับมีการจุดพลุ สร้างความสนใจให้ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก 


#ม็อบ13ตุลา #ทะลุฟ้า #นักสู้ไม่ใช่นักโทษ #UDDnews #ยูดีดีนิวส์

ประมวลภาพ