วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ประมวลบรรยากาศกิจกรรมภาคเช้า #45ปี6ตุลา รำลึก 6 ตุลา 19 เพื่อนำเหตุการณ์ในอดีตเป็นบทเรียนสำคัญ ด้านพรรคการเมือง นักเคลื่อนไหวหลากรุ่นวัย เข้าร่วมพรึบ

 


ประมวลบรรยากาศกิจกรรมภาคเช้า #45ปี6ตุลา รำลึก 6 ตุลา 19 เพื่อนำเหตุการณ์ในอดีตเป็นบทเรียนสำคัญ ด้านพรรคการเมือง นักเคลื่อนไหวหลากรุ่นหลายวัย เข้าร่วมพรึบ


วันนี้ ( 6 ต.ค. 64) ที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา ร่วมจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมด้วยตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิต นักวิชาการ และนิสิต นักศึกษาร่วมพิธีทำบุญในช่วงเช้า 


โดยมีพิธีสงฆ์ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา กล่าวเปิดงานเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัย กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ พร้อมทั้งมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ร่วมพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลาคม 2519 โดยมีนางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้


ต่อมา 08.00 น. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้ขึ้นเวทีอ่านบทกวีของ "แซม" ผู้ถูกคุมขังในคดี ม.112 ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อสดุดีวีรชน 6 ตุลาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และวีรชนคนรุ่นใหม่ที่สานต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยในวันนี้ ทั้งยังอ่านบทกวีของวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยคดี ม.112 โดยกล่าวถึงพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ผู้ซึ่งได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ในปีนี้


จากนั้น สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ขึ้นรับมอบรางวัลแทนบุตรชาย และอ่านข้อความจากบุตรชายที่เขียนผ่านกรงขังฝากถึงพี่น้องประชาชนด้านนอก จากนั้นได้เชิญบิดาของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และมารดาของกมลเกด อัคฮาด วีรชนปี53 มาร่วมยืนบนเวที


จากนั้น 8.50น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นำพวงหรีดรในนามกลุ่ม"ราษฎรยกเลิก112"  พร้อมราดสีแดงใส่พวงหรีดและตนเอง โดยกล่าวว่า ม.112 เป็นมรดกของเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมทั้งแจ้งว่าจะมีการชุมนุมรณรงค์ ยกเลิก ม.112 ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร


นอกจากนี้ยังมีพวงหรีดจากพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า พรรคเพื่อไทย และกลุ่มแคร์ (คิดเคลื่อนไทย) พรรคไทยสร้างไทย และหลากหลายกลุ่มมาร่วมไว้รำลึกและสดุดีวีรชน อาทิ กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ  รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ที่นำมาโดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนพ.เหวง โตจิราการ


จากนั้น เป็นพิธีมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ประจำปี 2564 ให้แก่ พริษฐ์ โดยมีสุรีรัตน์ มารดาขึ้นรับมอบแทน


สุรีรัตน์ กล่าวว่า บุตรชายดีใจและซาบซึ้งใจที่ได้รับรางวัลนี้ แต่ไม่สามารถมากล่าวแสดงความยินดีหรือขึ้นรับรางวัลด้วยตนเองได้เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 60 วันแล้ว ตนซึ่งเป็นมารดา จึงขอเป็นตัวแทนอ่านสุนทรพจน์รับรางวัลที่บุตรชายฝากมาจากเรือนจำแทน


กระทั่งเวลา 11.00 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง  ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 2519 กล่าวเปิดนิทรรศการ "หนี้เลือด 6 ตุลาคม 2519 ถึงเวลาชำระ"


จาตุรนต์ ฝากแง่คิดว่าสิ่งที่สังคมไทยจะต้องคิดต่อไปก็คือคิดถึงการให้มีการชำระหนี้เลือดทางกฎหมายโดยหลักนิติธรรม และหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม อุดมการณ์ ความคิด ค่านิยม ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศ และการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งหลายมีเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อสร้างสังคมอย่างที่เขาปรารถนาและอย่างที่เขาต้องการ 


จากนั้นนายจาตุรนต์ ได้เดินไปเปิดนิทรรศการซึ่งอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ โดยได้จัดแสดง เรียบเรียงลำดับเรื่องราวเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมทั้งภาพประกอบเรื่องราว ซึ่งเป็นการจบกิจกรรมในภาคเช้า และในเวลา 16.00 น. เป็นการเริ่มต้นในกิจกรรมภาคบ่าย โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทะลุฟ้า และแนวร่วมราษฎร 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์


ประมวลภาพ