วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.63 ตอน เปรียบเทียบขบวนการเยาวชนปัญญาชน 2516-2519 กับยุคปัจจุบัน

 แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.63

ตอน เปรียบเทียบขบวนการเยาวชนปัญญาชน 2516-2519 กับยุคปัจจุบัน


เนื่องในวาระของเดือนตุลา มันก็เป็นอะไรที่บังคับว่าเราควรจะต้องคุยเรื่องราวของเดือนตุลา ด้านหนึ่งก็คือเป็นการคารวะการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนปัญญาชนและผู้ที่เสียสละและเข้ามาร่วมในการต่อสู้ รวมทั้งอานิสงส์ของการต่อสู้ในช่วงของเดือนตุลา 2516-2519 เราจึงเรียกรวมกัน


หลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจ ก็จะเรียกว่าพวก 16ตุลา คือเอา 14ตุลา16 มาบวกกับ 6ตุลา19 ก็กลายเป็นพวก 16ตุลา ไปเลย อันนั้นก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่รู้เรื่องราวของการต่อสู้เดือนตุลา


6ตุลา เกิดทีหลัง 14ตุลา 3 ปี ถ้าเราจะพูดเรื่องราวของเดือนตุลา จริง ๆ เราก็ต้องเริ่มจาก 14ตุลา แต่ดิฉันจะไม่เล่ารายละเอียด เพราะว่าน่าจะมีคนพูดมากพอสมควร ด้านหนึ่งก็คือตัวดิฉันเองก็เคยพูดเรื่องเหล่านี้มามากแล้ว แต่หากว่าท่านผู้ชมอยากจะทราบเรื่องลึก ๆ ประเด็นไหนของ 14ตุลา กับ 6ตุลา ก็ส่งเข้ามาได้นะคะ ดิฉันยินดีจะตอบ เพราะคนวัยขนาดนี้มันต้องใช้ประสบการณ์และเรื่องเล่าให้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังให้มากที่สุดนะคะ


เพราะฉะนั้นวันนี้ดิฉันก็คิดว่าเรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องที่ท่านผู้ชมสนใจมากหรือเปล่า ดิฉันก็คิดจะเปรียบเทียบขบวนการเยาวชนปัญญาชนยุค 2516-2519 กับยุคปัจจุบัน


ถามว่าทำไมเราจะต้องมาพูดในเรื่องการเปรียบเทียบ เหตุผลก็คือว่าเราต้องเก็บรับบทเรียนแล้วเอาชุดความรู้กับประสบการณ์อันนี้ให้เป็นประโยชน์ในการที่จะพัฒนาให้การต่อสู้ของประชาชนนั้นยกระดับและได้รับความสำเร็จมากขึ้นไปเรื่อย ๆ 


ในการต่อสู้ทุกยุคทุกสมัยมีทั้งจุดแข็ง มีทั้งจุดอ่อน จะพูดด้านใดด้านหนึ่งทั้งหมดก็ไม่ได้ จะพูดว่าการต่อสู้ 14ตุลา2516 ดีเลิศจึงได้รับชัยชนะ แล้วก็พวก 6ตุลา2519 เป็นพวกซ้ายจัด จนกระทั่งถูกโดดเดี่ยวจากประชาชน แล้วก็ถูกปราบปราม และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พูดเช่นนี้ก็ไม่ได้ ดิฉันก็ไม่เห็นด้วย 14ตุลา16 จะดีหมด และก็ทำให้คนในรุ่นนั้นรู้สึกหยิ่งผยองว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แล้วคน 6ตุลา จะต้องก้มหน้าติดดิน มันก็ไม่ใช่!


เพราะฉะนั้น เราผ่านมาจนถึงเวลานี้ดิฉันก็คิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการทบทวน แน่นอนมันไม่ได้ทั้งหมดเพราะเรื่องราวมันมีมาก ดิฉันก็จะพยายามหยิบยก ไม่ได้ทั้งหมดทุกส่วน แต่หยิบยกบางประเด็นที่เป็นข้อเปรียบเทียบ ดิฉันขอใช้คำว่าบางประเด็นนะคะ เพราะว่ามันจะไม่ใช่ข้อสรุปที่รอบด้านทั้งหมด เป็นมุมมองของดิฉันก็แล้วกัน ในวันนี้ซึ่งพูดได้ไม่ยาว เพราะเรามีเวลาไม่น่าจะเกินครึ่งชั่วโมง ไม่อย่างนั้นมันจะยาวเกินไป


ดิฉันจะขอเริ่มต้นว่า เมื่อเราใช้คำว่าเปรียบเทียบ เราก็เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกันคืออะไร ก็คือขบวนการเยาวชนปัญญาชนที่เกิดขึ้นในปี 2516-2519 กับขบวนการเยาวชนปัญญาชนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ก็คือ บรรยากาศที่มีการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารมายาวนาน ในยุคนั้นถ้าเรานับจาก จอมพลสฤษดิ์ มา จอมพลถนอม จาก 2500 มาถึง 2516 ก็เป็นเวลา 15-16 ปี อันนี้เหมือนกันเด๊ะ อันนี้ของเรา เรานับการทำรัฐประหาร 2549 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน 15 ปี มันก็เป็นเวลาของการที่อยู่ในระบอบเผด็จการทหารที่ยืดยาวเหมือนกัน


ประการที่สอง ก็คือ ขบวนการที่เกิดขึ้นในช่วง 14ตุลา16 ถึง 6ตุลา19 นำโดยปัญญาชนคนหนุ่มสาวเหมือนกัน ที่ลุกขึ้นมานำและเป็นขบวนการ เป็นระลอก 14ตุลา ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันที ก่อนหน้านั้นก็เป็นการลุกขึ้นมาเป็นระลอก ๆ ไม่ว่าจะที่รามคำแหง ที่จุฬาฯ หรือที่ธรรมศาสตร์ อันนี้เป็นระลอก ๆ แต่ว่าเป็นการนำของคนหนุ่มสาวที่เหมือนกัน 


อันที่สาม ก็คือ เกิดการสนับสนุนจากประชาชนเป็นขบวนการขนาดใหญ่ ตอน 14ตุลา16 มันเป็นขบวนการเรียกว่าผู้คนเป็นเรือนแสนเรือนล้าน สำหรับดิฉันจากปี 62 มาปี 63 จนกระทั่งปี 64 จำนวนคนอาจจะไม่เท่า 14ตุลา16 แต่อย่าลืมว่าบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังเรามีเรื่องปัญหาโควิด เรามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงนั้นไม่มีอะไรเลย ช่วง 14ตุลา16 ก็สามารถจัดม็อบได้สบาย ดังนั้นจำนวนคนอาจจะถือว่าไม่มาก แต่ถือว่าเป็นจำนวนขนาดใหญ่ที่เหมือนกัน


อันที่สี่ สิ่งที่เหมือนกันก็คือ แนวคิดอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในยุคนั้น กับในยุคนี้โดยหน่วยงานความมั่นคงก็เหมือนกัน มันจึงเป็นเหตุผลที่นำมาสู่การปราบปรามในช่วง 6ตุลา และโดยข้อหาประมาณกันก็คือ เป็นข้อหาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ 


ถ้าทุกคนจำได้ที่ดิฉันเคยแชร์ค่านิยม 12 ประการของหน่วยงานความมั่นคงที่ออกมาอยู่ในชุดนโยบาย อันนั้นเป็นค่านิยมซึ่งถ้าไปดูแล้วมันเป็นจารีตนิยมอย่างสุดขั้ว เหมือนกับเราอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประมาณนั้น ดังนั้นความคิดของหน่วยงานความมั่นคงในยุค 14ตุลา16, 6ตุลา19 โดยเฉพาะ 6ตุลา19 ด้วย ความคิดของหน่วยงานความมั่นคงยังยึดมั่นแบบจารีตกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขบวนการใดก็ตามที่เขาเห็นด้วยก็ไม่ถูกขัดขวาง แต่ถ้าขบวนการใดที่จะทำให้ฝ่ายจารีตนิยมซึ่งอยู่ในหน่วยงานความมั่นคงมองว่ามีปัญหากระทบกระเทือนเขาก็จะมีปฏิบัติการทันที อันนี้มันยังเหมือนกัน ยังเกี่ยวข้องกับการที่จารีตนิยมยังยึดมั่นในปัญหาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 14ตุลา, 6ตุลา นั้น โดยเฉพาะในช่วง 6ตุลา ซึ่งเดี๋ยวเราค่อยพูดกันต่อไป หรือจะเจาะเฉพาะ 6ตุลา ก็ได้ เพราะว่า 6ตุลา ก็จะต่างกับ 14ตุลา อันนี้ดิฉันพูดในเรื่องความเหมือนกัน


ความเหมือนกันอีกอันก็คือ ความรุนแรงในการปราบปราม อันนี้หมายถึงในยุค 6ตุลา ถ้าเราเทียบ 14ตุลา, 6ตุลา อยู่ในเวลาเดียวกัน จาก 14ตุลา แบบหนึ่ง พอ 6ตุลา มาอีกแบบหนึ่งเลย แต่ขบวนการจัดการปราบปรามนักศึกษาประชาชนนั้น หลังจาก 14ตุลา16 ก็เตรียมขึ้นมาทันทีในการปราบปราม โดยถืออุดมการณ์ที่ว่าอันใดก็ตามที่กระทบกระเทือนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามแบบวิธีคิดของเขา อันนั้นคือหน่วยงานความมั่นคงจะต้องมาจัดการทันที ดังนั้นในการปราบปรามจึงมาโยงเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาสถาบันแล้วก็การใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงโดยการใช้ทั้งกฎหมาย การจับกุมคุมขัง และการปราบปรามอย่างรุนแรง 


พูดง่าย ๆ ว่าใช้หลักคิดความรุนแรงในการกำจัด โดยไม่ได้นำพาว่าคนเหล่านั้นเป็นเยาวชน ปัญญาชน โดยไม่ได้นำพาว่าเขาไม่ได้มีอาวุธอะไร สามารถสร้างเรื่องขึ้นมาได้ในการที่มาจัดการไม่ว่าจะใช้ลูกเสือชาวบ้าน ไม่ว่าจะใช้นวพล กระทิงแดง คือเป็นการจัดตั้งของหน่วยงานความมั่นคงเลย ในการแยกนักศึกษา อาชีวะ แล้วก็จัดม็อบมวลชนเพื่อมาปะทะกับนักศึกษา นั่นก็คือปัญหาการใช้ความรุนแรงแบบเดียวกันกับที่ทุกวันนี้


ความต่าง ดิฉันพูดตรงนี้มันอาจจะเร็วไป เพราะว่ามันมีความลึกซึ้งของเรื่องราว แต่ว่าเพื่อให้กระชับ ความแตกต่างก็คือ 14ตุลา แม้จะนำโดยนักศึกษาปัญญาชน แต่ว่าอิทธิพลและการครอบงำความคิดของฝ่ายนักวิชาการหรือฝ่ายเครือข่ายของระบอบศักดินาได้เข้ามาครอบงำเต็มที่ ขบวนนี้เป็นขบวนที่พูดตรง ๆ ว่าขับไล่เผด็จการทหารที่ไม่ขึ้นต่อระบอบอำมาตย์ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ว่างั้นเถอะ หรือว่าถ้าเราใช้ศัพท์แบบเรียกว่าระบอบเครือข่าย ระบอบอำมาตย์ที่อาจารย์เคยพูด ก็คือ Network monarchy ก็ได้ เป็นคนดำเนินการ ถ้าจะใช้ตัวนี้ ก็คือใช้ Network monarchy หรือว่าเครือข่ายระบอบอำมาตย์ที่อาจารย์หมายถึงนั่นแหละ เป็นคนดำเนินการ


เราจะเห็นว่านักวิชาการฝ่ายจารีต รวมทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ล้วนมาออกหน้าออกตา และรวมทั้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกมาแสดงบทบาทเต็มที่ในการที่จะขับเคลื่อน 14ตุลา ดังนั้น พูดตรง ๆ จะบอกว่าเป็นเครือข่ายนี้วางแผน 


แล้วตอน 6ตุลา ก็เครือข่ายแบบนี้แหละที่วางแผน คำถามก็คือว่าถ้าจะให้จัดการปราบม็อบ ตอนนั้นมันไม่ต้องมีอะไรปราบ จะปราบยังไงเพราะเขาก็ไม่ต้องมีม็อบ เขาก็จัดรายการในมหาวิทยาลัย จัดให้ความรู้ ขายหนังสือ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ความที่ต้องการปราบ เพราะฉะนั้นจึงเอาจอมพลประภาสมาก่อน จากนั้นก็เอาจอมพลถนอมมา เพราะว่าเป็นการวางแผนของฝ่ายศักดินา ในการที่จะปราบปราม นี่ก็คือความแตกต่าง 


ถ้าปัจจุบัน การมีม็อบ อันนี้เป็นการเกิดขึ้นของนักศึกษาเองที่เขาต้องการลุกขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ในทัศนะของดิฉันเอง ไม่ได้มีการครอบงำ มันเป็นการที่ตื่นรู้จากการที่มีการสะสมองค์ความรู้มามาก จนกระทั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยใหม่ องค์ความรู้สามารถหาได้ง่าย ไม่เหมือนในสมัยก่อนหน้านี้ 


เพราะฉะนั้นที่มาของการลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นม็อบเมื่อ 14ตุลา นั่นก็คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมเข้ามาร่วมและวางแผนด้วย พอตอน 6ตุลา ก็วางแผนเพื่อปราบ นี่จึงเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือที่มาของขบวนการนิสิตนักศึกษาปัญญาชน แม้นจะเป็นพลังบริสุทธิ์ทั้งสองรอบ แต่ว่าการร่วมด้วยช่วยกันหรือการวางแผนของฝ่ายในระบอบศักดินามีบทบาทสูงในยุคก่อน 


ซึ่งในยุคหลังในทัศนะของดิฉันมองว่า อันนี้เป็นการตื่นรู้ เพราะว่าเรามีนักวิชาการปัญญาชนและงานเขียนเป็นจำนวนมากที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเรื่องราวในอดีตจาก 6ตุลา และปัญหาทางการเมือง การครอบงำทางแนวคิด อุดมการณ์ วัฒนธรรม การศึกษา มาเป็นลำดับ สิ่งเหล่านี้มันบ่มเพาะจนกระทั่งทำให้เยาวชนปัจจุบันต้องลุกขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาผิดหวังด้วยซ้ำว่าระบอบในวิถีทางรัฐสภานั้นแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุบพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือว่าการยุบพรรคซ้ำแล้วซ้ำอีก การทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงเป็นที่มา อันนี้จึงมีความแตกต่างกัน


ความแตกต่างประการที่สองก็คือ ในขบวนการในยุค 14ตุลา, 6ตุลา มันอยู่ในบรรยากาศของฝ่ายการที่ ในต่างประเทศมีการรุกเข้ามาของการปฏิวัติแบบสังคมนิยม ความสำเร็จของประเทศจีน การรุกเข้ามาของการปฏิวัติในเวียดนาม ในกัมพูชา และในลาว สร้างความตื่นตระหนกให้กับฝ่ายจารีตนิยมและอำนาจนิยมในประเทศไทย อันนั้นสร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัว


แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งเยาวชนก็มีความตื่นรู้ อยากจะรู้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ปรีดี ไม่ว่าจะเป็นศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ไม่ว่าจะเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เท่ากับได้เกิดขึ้นมาใหม่ หลัง 14ตุลา สิ่งที่เป็นความก้าวหน้า สิ่งที่เป็นเรื่องราวของประชาชน เรื่องราวของคณะราษฎรถูกฟื้นขึ้นมาหมด จึงทำให้เกิดความหวาดกลัวในฝั่งจารีตนิยมเป็นอันมาก ก็ต้องยอมรับว่านักศึกษาจำนวนหนึ่งเขาต้องการเป็นนักปฏิวัติ เขาไม่ได้ต้องการเป็นนักปฏิรูป นี่ส่วนหนึ่งนะ แต่ว่าข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าที่ยังเหมือนกันอยู่ ซึ่งเมื่อกี้ดิฉันพูดแล้วยังไม่หมด ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าที่เหมือนกันก็คือขับไล่เผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจมายาวนาน 15-16 ปี ขับไล่เหมือนกัน 


อันที่สองก็คือ ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน อันนี้ 14ตุลา ชัด ๆ เลย แต่ปรากฏว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอาชัยชนะ ปล้นชัยชนะนี้ไป ในส่วน 6ตุลา เขาจำเป็นต้องรักษาเจตนารมณ์ของ 14ตุลา ไว้ เพราะว่าถนอมมา ประภาสมา เขาไม่ลุกขึ้นสู้ แล้วหมายความว่าไง? 14ตุลา ที่ทำไปล้มเหลวเช่นนั้นหรือ? ถนอม กิตติขจร สามารถเข้ามาได้ มันจึงไฟล์ทบังคับ มันจึงเป็นการวางแผนของฝ่ายจารีตนิยมชัด ๆ ว่า มันจะต้องมีม็อบแน่นอน แล้วเมื่อมีม็อบจะได้หาเหตุปราบ แล้วก็หาเหตุว่าเป็นผลสะเทือนจากเวียดนาม พวกนี้เป็นพวกเวียดนาม กินสุนัข พูดไทยไม่ได้ ต้องเอารองเท้ายัดปาก ตีมันให้ตาย อะไรประมาณนี้ เอาผลพวงจากการปฏิวัติของประเทศข้างเคียงเข้ามาใส่ไคล้ใส่ความ 


เพราะฉะนั้นมันจึงมีทั้งความเหมือนและความต่าง ดิฉันเองไม่มีเวลาที่จะพูดได้ทุกอย่างทั้งหมด ข้อแตกต่าง คือปัญหาเฉพาะหน้าในการเรียกร้องขับไล่เผด็จการทหารที่เข้ามายึดอำนาจสืบทอดอำนาจเหมือนกัน ต้องการรัฐธรรมนูญของประชาชนเหมือนกัน หลัง 14ตุลา เราได้ระดับหนึ่ง ก็คือรัฐธรรมนูญ 17 ก็ไม่ได้ดีเด่มากนะ วุฒิสมาชิกก็ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สู้รัฐธรรมนูญของอาจารย์ปรีดี 2489 ยังไม่ได้เลย แต่มันก็ยังดีกว่าฉบับของพวกทหารที่ทำรัฐประหารทั้งหลาย ดังนั้นมีเฉพาะหน้าเหมือนกัน


แต่สิ่งที่เป็นข้อแง่คิดก็คือว่า ในปัจจุบันนอกจากเฉพาะหน้าแล้ว ในหัวข้อปัญหาปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มันยังอยู่ในกรอบของข้อเรียกร้องและข้อต้องการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร 2475 ดังนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า ด้านหนึ่ง 14ตุลา, 6ตุลา อาจจะไม่ได้พูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสองข้อเป็นนหลัก แต่ในขณะเดียวกันในยุค 14ตุลา, 6ตุลา คนส่วนหนึ่งซึมทราบความคิดของนักปฏิวัติ ซึ่งในการปฏิวัติอันนั้นก็คือไม่เอา เขาวิเคราะห์ประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา กึ่งเมืองขึ้นก็ต้องโค่นจักรวรรดินิยม สอดคล้องกับประเทศข้างเคียง กึ่งศักดินาก็ต้องโค่นระบอบศักดินา ยังไม่ได้พูดเรื่องทุนนิยมด้วยซ้ำ อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นนามธรรม รูปธรรมก็มีแต่ไล่เผด็จการทหารกับเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย 


แต่ถามว่า ส่วนน้อยส่วนหนึ่งมีแนวคิดแบบนี้ ใช่! แต่ว่าก็เป็นแนวคิด ในทัศนะดิฉัน การแทรกแซงของพรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่สามารถที่จะเข้ามาจัดตั้งนักศึกษาได้ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ดิฉันเข้าป่าไปหลัง 6ตุลา แต่ว่าก่อนหน้านั้นดิฉันก็ไม่ได้อยู่ในการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ปัญญาชนได้รับอิทธิพลความคิดสังคมนิยมจากโลกภายนอกมากกว่าได้จากพคท. แต่ว่าด้วยความหวาดกลัว มีการปราบปราม ก็เป็นการผลัก ทำให้เยาวชนปัญญาชนเหล่านี้ต้องเข้าไปร่วมกับพคท. อันนั้นคือตอนจบของ 6ตุลา และสุดท้ายก็มีการนิรโทษกรรม 6ตุลา ก็เลยออกมาจากคุกจริง แต่ว่าก็ไม่มีคนผิด คือประเทศไทยก็เป็นเช่นนี้ คนที่ปราบปรามประชาชนไม่เคยต้องรับโทษ เพราะอะไร? เพราะมันยังไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะว่ามันยังไม่บรรลุในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันยังไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน แต่มันยังเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่างหาก


เพราะฉะนั้นเรื่องราวยังมีมากนะคะ ดิฉันคิดว่าดิฉันยังตอบได้ทั้งหมดไม่หมดในส่วนที่รู้ แต่ว่าด้วยเวลาที่จำกัด วันนี้เอาแค่นี้ก่อนว่า ในส่วนของปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ถูกนำเสนอในยุคนั้น ส่วนหนึ่งจารีตนิยมยังครอบงำในยุค 14ตุลา และต้องไม่แปลกใจที่คนรุ่น 14ตุลา ผู้นำกลายเป็นพวกจารีตนิยม เพราะเขาเป็นจารีตนิยมตั้งแต่ต้นแล้ว


แต่ส่วนคน 6ตุลา นั้น ผู้นำจะก้าวหน้ากว่า และเป็นฝ่ายถูกกระทำ ดังนั้นจึงไม่มีอนุสรณ์สถานของ 6ตุลา มีแต่ของ 14ตุลา และวีรชน 14ตุลา ได้รับการพระราชทานเพลิงศพที่สนามหลวงนะ แต่ 6ตุลา ปีนี้ก็ยังจะจัดไม่ได้ ไม่มี เหมือนกับปี 53 แต่ปี 35 มีอนุสรณ์สถาน เพราะฉะนั้นดูอนุสรณ์สถานก็ได้ ถ้ามันสามารถเกิดขึ้นได้ ก็แปลว่าฝ่ายจารีตนิยมเห็นด้วย แต่ถ้าฝ่ายจารีตนิยมไม่เห็นด้วย ไม่มีหรอกค่ะอนุสรณ์สถาน ต้องไปเที่ยวเร่หาที่ทำพิธีรำลึก


และแม้กระทั่ง 6ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่ยอมให้จัดเลยค่ะ!