วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.66 ตอน : ขบวนการ 14ตุลา มีทั้งชัยชนะและสร้างปัจจัยความพ่ายแพ้ของประชาชน

 

แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.66 

ตอน : ขบวนการ 14ตุลา มีทั้งชัยชนะและสร้างปัจจัยความพ่ายแพ้ของประชาชน


เรามาพบกันเนื่องในวันรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ตอนนี้ก็เป็นเวลา 48 ปี เมื่อย้อนไปถึงปี 2516 ถ้าย้อนรำลึกในขณะนั้นตัวดิฉันเองก็ยังอายุไม่มากค่ะ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นอาจารย์ คือเพิ่งจบปริญญาโทใหม่ ๆ ดังนั้นภาพของความทรงจำในเรื่อง 14ตุลา จากเหตุการณ์ที่ตรงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า หน้าโรงแรมรอยัล ซึ่งเกิดเหตุการณ์คุณจีระ บุญมาก เกิดเหตุการณ์ “ก้านยาว” และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นลำดับนั้น มันยังอยู่ในความทรงจำ!


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีเด็กอาชีวะที่วิ่งออกไปเพื่อที่จะปะทะกับทางทหารและบอกว่า “ถ้าไม่มีการสูญเสีย ประชาชนจะไม่ได้รับชัยชนะ” ดิฉันนึกถึงคำพูดเหล่านี้และมาได้ยินคำพูดที่สะเทือนใจอีกทีเรื่องทะลุแก๊ส ที่เด็กตัวเล็ก ๆ บอกว่า “คนเราเกิดมายังไงก็ต้องตาย ไม่ตายวันนี้ก็ต้องตายตอนแก่”


อันนี้เป็นวาทะกรรมที่ห่างกันมาในระยะ 48 ปี แต่มันก็เป็นวาทะกรรมของเยาวชนที่ยินดีจะพลีชีพเพื่อให้การต่อสู้ของประชาชนบรรลุผล ซึ่งในความคิดของเขาเหล่านั้นก็ไม่มีอะไร ก็คือเผด็จการทหารให้คืนอำนาจให้กับประชาชนเท่านั้นเอง เขายังไม่มีประเด็นอะไรที่ลึกซึ้งมากมาย แต่ในความเป็นจริง การคืนอำนาจให้กับประชาชน การขับไล่เผด็จการทหารนั้น มันมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยมาก 


วันนี้ดิฉันจึงอยากจะคุยเรื่อง ขบวนการ 14 ตุลาคม มีทั้งชัยชนะ คือสร้างชัยชนะให้กับประชาชน และสร้างปัจจัยของความพ่ายแพ้ คือมันมีเหรียญทั้งสองด้าน เราไม่ใช่มองว่า 


14ตุลา คือชัยชนะประชาชน 

6ตุลา คือความพ่ายแพ้

พฤษภา35 คือชัยชนะ

พฤษภา53 คือความพ่ายแพ้ 

อะไรอย่างนี้เป็นต้น 


ในทุกครั้ง ในทุกการต่อสู้ มันมีลักษณะสองด้าน ด้านไหนเป็นด้านหลัก ด้านไหนเป็นด้านรอง เราใช้คำว่ามีทั้งชัยชนะ คือชัยชนะเป็นด้านหลัก และปัจจัยของความพ่ายแพ้ เพราะถ้าขบวนการ 14ตุลา มีชัยชนะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ต้องสมบูรณ์ทั้งหมด เพียงเอาว่าค่อนข้างสมบูรณ์ 6ตุลาก็จะไม่ควรเกิดขึ้น


ดังนั้น ชัยชนะอันสั้นเพียงแค่ 3 ปี ของ 14ตุลา นำมาสู่การปราบปรามเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ แล้วกดประชาชนลงไปอีกยาวนาน จาก 14ตุลา16 มา 6ตุลา19 จาก 6ตุลา19 ลองคิดดูซิว่ามันมายาวนาน มากระทั่งถึง พฤษภา35 ก็ต้องมาสู้กับการทำรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง


ซึ่งอันที่จริงในทัศนะของดิฉัน รัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 อันหมายถึงความพ่ายแพ้ของฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร จากนั้นมามันก็เป็นความต่อเนื่องของการทำรัฐประหารและความพยายามจะยกระดับ ก็คือรัฐประหารปี 2500 ก็ต้องทำให้ยิ่งกว่าปี 2490 จนไล่มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมารัฐประหารครั้งสุดท้ายที่เกิดใน พ.ศ. 2557 ถ้าว่าไปมันก็ยิ่งกดทับประชาชนหนัก เพราะฉะนั้นมันเป็นวงจรอุบาทว์ที่มีความเกี่ยวเนื่องคือมีระลอกคลื่น ดังนั้น ที่ดิฉันพูดก็คือว่าขบวนการ 14 ตุลาคม จะเรียกว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่ามันได้สร้างปัจจัยความพ่ายแพ้เกิดขึ้น


ดิฉันได้เขียนสรุป เราได้เขียนมาตั้งแต่ปี 2558 การเกิดขึ้นของขบวนการ 14ตุลา ปัจจัยทางสังคม ทางสิ่งแวดล้อม อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ และผลที่เกิดขึ้น ซึ่งไปดูได้ที่เพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ หรือ เพจยูดีดีนิวส์ แต่ในวันนี้ดิฉันจะพูดในสิ่งที่แตกต่าง ก็คือว่า ที่ว่าชนะของ 14ตุลา มันชนะยังไง? และสร้างปัจจัยพ่ายแพ้ยังไง? มันอาจจะมีการเหลื่อมกันบ้าง แต่ว่าดิฉันจะพยายามพูดในสิ่งที่แตกต่างออกไป ก็คือ


ถ้าเรามองในด้านชัยชนะ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่มากนั้นก็คือ การร่วมมือของการเกิดประชาชนที่เข้ามาร่วมขบวนในการแสดงแสนยานุภาพของประชาชนนับแสนนับล้าน อันนี้ต้องถือว่ามันปลุกให้ประชาชนมีความสำนึกว่าถ้าประชาชนลุกขึ้นสู้ อะไรก็ต้านทานไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะว่าอย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นนับมาตั้งแต่ปี 2500 ที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร จนกระทั่งมาถึงปี 2516 เป็นเวลายาวนานมากที่เราถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ


แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แต่เพียงประชาชนทั่วไปที่ไม่พึงพอใจ เพราะว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่พึงพอใจที่เผด็จการทหารไม่ได้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของฝ่ายจารีตนิยม ก็คือมีลักษณะไม่ขึ้นต่อ มีลักษณะมีอำนาจมากเกินไป ไม่เข้ามาอยู่ภายใต้ network monarchy ไม่ได้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของฝ่ายจารีตนิยม ควบคุมไม่ได้ 


ดังนั้น การเกิดขึ้นของ 14ตุลา ดิฉันพูดมานานและยังต้องพูดอีก แน่นอนมีรูปการจิตสำนึกของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร มีคนหลากหลาย แต่ว่าปัจจัยสำคัญก็คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมต้องการร่วมส่วนล้มเผด็จการทหาร แล้วทำการวางแผนในการที่จะนำเอาขบวนการนิสิตนักศึกษามาปะทะกับกองทัพตรง ๆ เลย 


ทีนี้คนอาจจะมองด้านบวกด้านเดียว คืออะไร? ก็คือมองด้านบวกแต่เฉพาะว่าประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหาร แต่ว่าลึก ๆ แล้ว ถ้าอยู่ร่วมส่วนในตอนนั้น ดิฉันอยากจะเรียนว่า ฝ่ายจารีตนิยมแล้วก็จะเป็นเรียกว่า network monarchy อะไรก็ตาม หรือเครือข่ายระบอบอำมาตย์ที่คิดว่าทหารไม่ขึ้นต่อ ได้มาร่วมสนับสนุนสำคัญ ร่วมวางแผน เรียกว่าเพื่อที่กระทำการอันยิ่งใหญ่ แต่มันลงตัวไงคะ ฝ่ายซ้ายเอย ฝ่ายกลาง ๆ เอย คือความที่ว่าจอมพลถนอม, จอมพลประภาส ปกครองและอยู่ต่อมายาวนาน แล้วมาเกิดเหตุเรียกว่าลูกชายและลูกเขย คือ ณรงค์ กิตติขจร อาจจะเรียกว่ากร่างมาก ที่ว่าเอาดาราขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปล่าสัตว์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรับไม่ได้ ประชาชนทั่วไปก็รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดมันสะสม 


แล้วก็ความยิ่งใหญ่ด้านบวกก็คือ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาชนมีอำนาจที่จะสามารถต่อกรกับเผด็จการทหารได้ เพราะว่าภาพประชาชนที่ออกมาดิฉันคิดว่าเป็นจำนวนมากที่สุด นี่คือด้านบวก คือแสดงพลัง อันนี้เป็นด้านบวก


อันที่สองที่สำคัญก็คือ การเติบใหญ่ของขบวนการประชาชนทางด้านความคิด ขณะนั้นเหมือนคณะราษฎรและอาจารย์ปรีดีได้กลับมาใหม่ มีการฟื้นความคิดก้าวหน้า ซึ่งพอดีมันผนวกเข้ากับฝ่ายซ้ายก็เติบโต ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เอเชียได้รับผลสะเทือนจากการปฏิวัติในประเทศจีน, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว 


เพราะฉะนั้น ขบวนการสังคมนิยม ความคิดและความก้าวหน้าที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนมันเติบโตมาก กระทั่งอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่ง หัวหน้าสายเอ็นจีโอหลักของประเทศไทยในที่คนรุ่นแก่ ๆ รุ่นแก่กว่าอาจารย์อีก ตั้งแต่ในช่วงนั้น มันก็ได้อิทธิพลความคิด ฉะนั้นความคิดที่ทำเพื่อประชาชนและประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินมันก็เติบโตขึ้น ความคิดทางก้าวหน้า วรรณกรรม แนวคิดที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนมันเติบโต การศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ มันก็กลับมา 


แต่ในขณะเดียวกันก็ซ่อนปัญหาที่จะทำให้เกิดขึ้นก็คือ ฝ่ายขวาเกิดความกลัว เพราะว่ามันมีหนังสือซ้ายออกมาเยอะมาก ซึ่งเขากลัวมาก เพราะว่าในช่วงนั้นดูเหมือนสังคมนิยมจะรุ่งโรจน์ การปฏิวัติสังคมนิยมจะประสบความสำเร็จ


นี่คือด้านบวกที่ว่า เติบโตทั้งขบวนการ เติบโตความคิด เติบโตทางการจัดตั้ง มันก็เกิดขบวนการกรรมกร เกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ฝ่ายประชาชนก็มีการจัดตั้ง มีกลุ่มต่าง ๆ มากมาย แต่ตอนนั้นก็เหมือนทั่วไป บางกลุ่มก็มีอยู่ไม่กี่คน เวลามีเรียกร้องอะไรก็ไปเซ็นชื่อกับเขาด้วย แต่ยังไงก็เป็นข้อดี การจัดตั้งกี่คนก็ไม่เป็นไร มีการจัดตั้งกรรมกร ชาวนา แล้วก็ยกระดับการต่อสู้ของกรรมกร ชาวนา และรวมทั้งการจัดตั้งของนิสิตนักศึกษา เติบโตทั้งความคิด เติบโตทั้งการลงไปทำงานร่วมกับประชาชน เติบโตทั้งการจัดตั้ง นี่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นด้านบวก


ด้านบวกที่สองอีกอันหนึ่งก็คือ การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม แต่วุฒิสมาชิก คือเขาอยากได้สภาเดียว แต่ว่าในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ ก็กลายเป็นว่าก็ยังมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งอยู่เหมือนเดิม เพราะเรื่องปัญหาวุฒิสมาชิกนี่ เป็นเรื่องเป็นตายร้ายดียังไงก็สู้กันไม่ได้ เรายังเหลือมรดกอยู่ปัจจุบันที่นั่งโด่เด่อยู่ 250 คน คือสู้กันมาตั้งแต่ 2475 สู้มาตอน 14ตุลา เขาก็ไม่อยากได้วุฒิสมาชิกแล้ว ถ้าจะต้องมาจากการแต่งตั้ง ก็ให้มันเหลือสภาเดียวผู้แทนราษฎร ก็ทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า คนที่มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี คนที่ไปสมัครรับเลือกตั้งให้อายุน้อยกว่าเดิมอะไรต่าง ๆ ดูเหมือน 23 ปี ในข้อเรียกร้อง อันนี้ก็คือด้านบวกที่ได้รัฐธรรมนูญดีขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ได้ดีมากนะ ดังที่บอกแล้วว่าวุฒิสมาชิกก็ยังไม่สามารถมาจากการเลือกตั้งได้ แล้วก็มีสภาสนามม้า ดูเหมือนดูดี แต่มันก็เป็นการแสดงมากกว่า


ด้านบวกที่สามก็คือ เกิดพรรคการเมืองฝ่ายต่าง ๆ มีทั้งพรรคการเมืองฝ่ายขวา พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย อย่างพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมก็เกิดขึ้นมากมาย นี่ก็คือด้านบวก มีแนวร่วมสังคมนิยม สังคมนิยมแห่งประเทศไทย 


นี่คือด้านบวกที่เกิดขึ้น คือมีความตื่นตัวของประชาชน มีการจัดตั้ง แล้วได้รัฐธรรมนูญที่ดีขึ้น ได้พรรคการเมืองหลายสาย แต่ว่าในขณะเดียวกันมันได้สร้างปัจจัยของการพ่ายแพ้ เพราะอะไร?


14ตุลา ดิฉันอยากจะบอกเลยว่า มันเป็นการวางแผนสำคัญของฝ่ายจารีตนิยม อำมาตย์ที่มีปัญหากับขุนศึก เมื่อได้สมประสงค์ ความคิดในการจัดการปราบปรามก็เกิดขึ้นทันที มันเหมือนกับสงครามโลก (ครั้งที่ 2) คือมีการจับมือกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับฝ่ายพันธมิตร แต่ในวันที่กำลังจะได้รับชัยชนะก็เตรียมรบต่อทันที 


อันนี้ก็เหมือนกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พอพบว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนโรงพัก คือตำรวจไม่กล้าอยู่ ทหารก็ไม่กล้าใส่เครื่องแบบ ตำรวจไม่มี เพราะว่าประชาชนเกลียด แล้วพอมีคดีความแล้วจะทำไง ศนท. ก็เอาคนไปนั่งบนโรงพัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ด่าเลย ให้ออกมา 


เพราะฉะนั้น หมายความว่าทันทีที่ได้ความสำเร็จของ 14ตุลา คือขับไล่ขุนทหารไป ก็จัดการเตรียมตัวในการที่ยึดและปล้นเอาชัยชนะมาอยู่กับตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม วีรชน 14ตุลาที่มีการตายในช่วงรัฐบาลถนอม-ประภาสอยู่ตรงนั้น ก็เลยเป็นวีรชนซึ่งฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยมที่สืบทอดอำนาจต่อมายอมรับ เพราะฉะนั้นคุณต้องไม่แปลกใจ ทำไม 14ตุลา ได้รับพระราชทานเพลิงศพกลางสนามหลวง ทำไมจึงสามารถมีอนุสรณ์สถานได้ ทำไมแบบวันนี้ มีตัวแทนฝั่งรัฐบาลไปวางพวงมาลา พรรคการเมืองฝ่ายอะไรต่าง ๆ ก็ไป ก่อนหน้านี้มีมากกว่านี้อีก เพราะดูประหนึ่งว่า 14ตุลา ในความจริงคือการวางแผนร่วมกันและเป็นชัยชนะร่วมกันของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการขับไล่ทหารไปจำนวนหนึ่ง หมายถึงขุนศึกจำนวนหนึ่ง


แต่ในที่สุดศัตรูที่เขากลัวมากกว่าก็คือนักศึกษา ซึ่งทำท่าว่าดูเหมือนได้รับอิทธิพลฝ่ายซ้ายมากเกินไป ก็ไปเรียกขุนทหารสองคนนั้นมา เพื่อจะให้ขบวนการนักศึกษามาขับไล่แล้วก็จะได้ปราบ


ดังนั้นถ้าว่าไปฝ่ายจารีตมันก็ดูเหมือนกับใช้ขบวนการนักศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อขับไล่อำนาจของขุนศึกที่มีมายาวนาน แล้วในขณะเดียวกันก็ใช้ขุนศึกนี่แหละมาเป็นตัวล่อเพื่อปราบ เพราะฉะนั้นการสร้างปัจจัยความพ่ายแพ้ก็คือว่า มันดีตรงที่ว่าร่วมกันมาก แต่ว่ามันไม่เป็นการร่วมของพลังก้าวหน้าทั้งหมด มันเป็นการร่วมของพลังล้าหลัง และพลังล้าหลังอยู่ในลักษณะครอบงำ 


การอัญเชิญพระบรมราโชวาท (พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ) ของในหลวงรัชกาลที่ 7 ความว่า 


“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”


โดยความหมายไม่ได้มีอะไรที่ไม่ดี เป็นเรื่องที่ดี แต่เนื่องจากอันนี้เป็นเรื่องที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีการปะทะกันระหว่างคณะราษฎรกับในหลวงรัชกาลที่ 7 เมื่อมีปัญหา ดังนั้นการหยิบพระบรมราโชวาท (พระราชหัตถเลขา) อันนี้ขึ้นมา มันก็แสดงให้เห็นชัด ๆ ว่าการต่อสู้ของ 14ตุลานั้น อยู่ภายใต้ร่มธงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในการช่วงชิงอำนาจมา และในขณะเดียวกัน เมื่อตัวนี้เป็นปัจจัยหลัก ก็คือว่า 14ตุลาไม่ได้เกิดจากความก้าวหน้าทั้งหมด มันก็เลยกลายเป็นปัจจัยของความเสียหายและพ่ายแพ้จนต้องเกิด 6ตุลา 


เพราะว่าเมื่อถูกครอบงำ ถูกสั่งการโดยขบวนการจารีตนิยม นั่นหมายถึงว่าแกนนำก็จะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ฝ่ายก้าวหน้า ก็จะเป็นแกนนำที่ดูเหมือนกับว่าก้าวหน้าเพราะ 14ตุลา รบกับเผด็จการ แต่จริง ๆ เป็นแกนนำแบบเป็นจารีตนิยม เอาง่าย ๆ วันนี้ 14ตุลาวันนี้ ที่มีการไปโวยวายโดยคณะกรรมการมูลนิธิออกมาโวยวายว่าเยาวชนไปแขวนป้ายอะไรซึ่งเขาไม่พึงประสงค์ นี่อยู่ในทีม 13 ขบถรัฐธรรมนูญ มันดูเหมือนควรจะก้าวหน้า แล้วเป็นยังไง สนับสนุนรัฐประหารต่อมา แปลว่า 14ตุลา เป็นเหตุเฉพาะกิจ


การที่จารีตนิยมครอบงำทางความคิด และครอบงำแกนนำนักศึกษาจำนวนหนึ่ง นี่คือปัจจัยของความพ่ายแพ้ที่สำคัญมาก!


แล้วหลังจากนั้นก็คือมีการจัดตั้ง 14ตุลา มันแสดงให้เห็นว่ามวลชนมีพลัง จึงเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จัดตั้งมวลชนมาประกบ เป็นมวลชนขวาพิฆาตซ้าย ก็เกิดกระทิงแดง เกิดนวพล เกิดชมรมแม่บ้าน เกิดอะไรต่าง ๆ ก็คือ 14ตุลา เป็นต้นแบบของการใช้พลังมวลชนสามารถมาจัดการกับทหารได้ แล้ว 14ตุลา ก็สะสมปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิดว่าก็ควรจะต้องสร้างมวลชนของตัวเองมาจัดการกับมวลชนฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายที่ก้าวหน้า มันจึงเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดปัจจัยที่มีการปะทะกันระหว่างมวลชนสองขั้วความคิด


อันที่สามถัดมาก็เป็นการสร้างความแตกแยกในฝ่ายแกนนำ คือไม่ใช่แตกแยกมีมวลชนอย่างเดียว ก็คือแกนนำก็แตก ดังนั้น ศนท.ก็แยกเป็นปีกขวา ปีกซ้าย แล้วก็มีการจัดตั้งองค์การนักศึกษาต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ก็มีความแตกแยกในหมู่ขบวนการนักศึกษา แตกต่างระหว่างนักศึกษากันเอง แตกแยกระหว่างนักศึกษากับอาชีวะ อย่างนี้เป็นต้น


แต่สุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ การที่ชัยชนะของ 14ตุลา อาจจะสร้างเครดิตให้หมู่นักศึกษาปัญญาชนในการล้มระบอบเผด็จการ แต่ว่าปัจจัยของความพ่ายแพ้สำคัญก็คือ ทำให้ประชาชนเกลียดนักศึกษาด้วย มีการปลุกระดมให้เห็นว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์จะล้มสถาบันกษัตริย์ ไปเอาคนเวียดนามเข้ามา อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วโดดเดี่ยวนักศึกษาออกไป


จริง ๆ แล้ว การแตกแยกของประชาชน การแบ่งขั้ว มันมาจากพลังอนุรักษ์นิยมทั้งสิ้น ทำไมเขาทำ? ทำเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ทำด้วยความหวาดกลัว ดังนั้น ถ้า 14ตุลา ไม่ได้มีพลังอนุรักษ์นิยมมาครอบงำ อาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่เท่า แต่ถ้าเป็นการเติบโตในลักษณะที่ก้าวหน้าอย่างมั่นคง ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดที่สร้างความแตกแยกได้ทีหลัง การเติบโตของขบวนการประชาชนก็จะหนักแน่น ทำลายยาก 


ดังนั้น ดิฉันจึงบอกว่า 14ตุลา มันมีทั้งสิ่งด้านบวกมากมาย แต่ว่าในขณะเดียวกัน ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เพราะไปเอาพลังอนุรักษ์นิยมอยู่ในฐานะครอบงำและเข้ามาอยู่ร่วมส่วนแห่งชัยชนะ เห็นชัด ๆ คุณดูซิ จัดงาน 14ตุลา งานรำลึกวีรชน มาเป็นแถวเลย (ฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร ฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยม กระทั่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ) ถามว่า 6ตุลา มามั้ย? พฤษภา53 มีมั้ย? ไม่มี


วันที่ 31ตุลา ก็จะเป็นการรำลึก ดิฉันก็ขอพูด ณ ที่นี้เสียเลย งานเล็ก ๆ รำลึก “ลุงนวมทอง” ที่ได้เสียชีวิตไป ด้วยการที่ถูกสบประมาทว่าประชาชนไม่มีใครยอมตายด้วยการรักประชาธิปไตย แล้ว “ลุงนวมทอง” ก็เหมือนกับที่อยากจะบอกว่าเกิดเลือกไม่ได้ แต่ตายเลือกได้ เลือกวัน ต้องการอยู่ในเดือนตุลา แล้วก็ตายเพื่ออะไร? 


เพราะฉะนั้น วันที่ 31ตุลานี้ เราและคนจำนวนมากก็คงเป็นงานเล็ก ๆ คำว่าจำนวนมากของอาจารย์ก็ไม่ได้หมายความว่ามากมายอะไร แต่ว่าคนที่ยังคิดถึง “ลุงนวมทอง” คนเล็ก ๆ ที่กล้าต่อสู้กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังว่า คน ๆ เดียวก็ยืนหยัดในการที่จะต่อสู้ได้ แม้นจะไม่ได้รับชัยชนะ แม้นจะไม่สามารถทำลายได้ แต่มันคือสัญลักษณ์


เพราะฉะนั้น อาจารย์ธิดา หมู่นี้ไม่ค่อยได้ไปที่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน 14ตุลา ไม่ค่อยกล้าไป เพราะว่างาน 14ตุลานั้นเจ้าภาพจะมีเอ็นจีโอสายเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งลึก ๆ ก็ยังแบบที่เราเห็นอยู่ ก็คือ คนเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตยจะไม่เป็นที่ยินดี ดิฉันอาจจะพูดครั้งต่อไปว่าเป็นวีรชนประชาธิปไตย แต่ว่าไฉนจึงได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน ก็เพราะแต่ละครั้งแบบที่ดิฉันพูดวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 14ตุลา หลั่งเลือดไล่เผด็จการ แต่คนที่ได้รับชัยชนะไปจริง ๆ ก็คือระบอบอำมาตย์ค่ะ.


#48ปี14ตุลา #14ตุลา2516

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์