ภาคีSaveบางกลอย
ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการอิสระฯ
เพื่อทวงถามความคืบหน้าและขอให้ยุติอัยการสั่งฟ้องชาวบางกลอย ชี้
หากแก้ปัญหาทางคดีไม่ได้ ก็ยากจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่น ๆ
วันนี้
(20 ก.ย. 2565) เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล
ประตู 5 #ภาคีSAVEบางกลอย เข้ายื่นหนังสือถึงนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย
ภายหลังไม่ได้รับความชัดเจนต่อคดีฟ้องชาวบางกลอยทั้ง 29 คน ซึ่งกรณีบางกลอยเป็นเพียงหนึ่งใน
34,692 คดี หลังคสช. มีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยมีนายพชร
คำชำนาญ เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ
ภายหลังยื่นหนังสือแล้วเสร็จ
นายพชร ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า มายื่นหนังสือถึงนายอนุชา นาคาศัย
ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหาบางกลอย โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ คนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือแทน
เพื่อทวงถามความคืบหน้าและขอให้ยุติอัยการสั่งฟ้องชาวบางกลอย
โดยการเจรจาวันนี้ผ่านไปได้ด้วยดี
สำหรับเนื้อความในจดหมายที่ยื่น
มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่
สมาชิกชาวบางกลอย 29
ราย
ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวและแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก
แผ้วถาง ยึดถือ ครอบครองอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ในขณะที่ชาวบางกลอยกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินเดิม
ก่อนถูกอพยพในปี 2554 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งก่อนนำตัวชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบน
เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวบ้านว่า
หากยอมลงมากับเจ้าหน้าที่จะมีการจัดการพื้นที่ทำกินให้กับทุกครอบครัว
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาชาวบ้านมาถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติ
ชาวบ้านกลับถูกควบคุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีส่งไปฝากขังยัง
ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำและในเวลาต่อมาศาลได้ปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบนอันเป็นถิ่นฐานเดิม
และปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่ชาวบ้านตามที่ได้รับปากไว้แต่อย่างใด
ภาคีsaveบางกลอย
ได้ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ
อย่างต่อเนื่องพบว่าแม้จะมีความเห็นว่าอัยการไม่ควรสั่งฟ้อง
แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีผลอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านอื่น ๆ
ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามกรอบเวลาของคณะกรรมการฯ
และหากอัยการจังหวัดเพชรบุรีมีการดำเนินการทางคดีความต่อเนื่องจนศาลรับฟ้องก็จะเป็นการสร้างภาระในการต่อสู้คดีในศาล
ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร
และที่สำคัญชาวบ้านอาจต้องสูญเสียอิสรภาพในท้ายที่สุด เท่ากับเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิตให้กับชาวบ้านและครอบครัวซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางปลอยก็ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากอย่างแสนสาหัสอยู่แล้ว
ดังนั้นพวกเรา
ภาคีsaveบางกลอย จึงขอให้คณะกรรมการฯ
พิจารณาหาแนวทางให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อชาวบ้านบางกลอยทั้ง 29 ราย ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น
เนื่องจากเราเห็นว่าการสั่งฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอยซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาก่อนปัจจุบันชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างยากไร้เพราะขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ดินทำกินที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด
ๆ ต่อสาธารณะ
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยให้ได้รับความเป็นธรรมและให้เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเปิดทางสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่น
ๆ ต่อไปและขอให้ท่านชี้แจงผลการดำเนินการดังกล่าวแจ้งกลับมายัง ภาคีsaveบางกลอยเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่อยู่ข้างต้น
ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านได้ดี
ขอแสดงความนับถือ
นายพชร คำชำนาญ
ภาคีsaveบางกลอย
เบื้องต้นนายพชร
กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระฯ
ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทำการส่งหนังสือแจ้งไปถึงอัยการแล้ว
ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอัยการ โดย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ ได้แจ้งความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอิสระฯ
มีหนังสือไปยังอธิบดีอัยการภาค 7 เจ้าของสำนวน
เพื่อแจ้งมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย
หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน
จังหวัดเพชรบุรี เพื่อความช่วยเหลือทางคดี โดยทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แล้ว
2.
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ
(กองทุนยุติธรรม) ในกรณีหากอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 29 คน
3.
คณะกรรมการอิสระฯ ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช ในการดำเนินการตามกรอบช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา
ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของชาวบางกลอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
โดยตามกรอบการดำเนินงาน
3 ข้อนี้ พนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจได้ ด้วยความเคารพดุลยพินิจของพนักงานอัยการ
ทั้งนี้นายพชร
ยังระบุว่า หากยังมีการเดินหน้ากระบวนการทางคดีกับชาวบ้านบางกลอย
ไม่เพียงหมายถึงชาวบางกลอยอาจสูญเสียอิสรภาพ หากศาลรับฟ้องและเห็นว่าผิด
แต่อาจหมายถึง “ที่ดิน” ที่ชาวบ้านกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบนที่ติดคดี ก็จะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านกลับไปทำไร่หมุนเวียนตามเจตนารมณ์ได้
หากแก้ปัญหาทางคดีไม่ได้
ก็ยากจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ให้กับกลุ่ม บางกลอยคืนถิ่น
นอกจากนี้
นายพชร ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือว่าการเจรจาในวันนี้เป็นไปด้วยดี
และคณะกรรมการชุดนี้ทำงานอย่างมีความหวังมากกว่าคณะกรรมการชุดที่แล้ว
อย่างไรก็ตามขอให้สังคมจับตาประเด็นชาติพันธุ์ ทั้งเรื่อง พ.ร.บ. ปัญหาที่ดินทำกิน
ปัญหาผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่ยังค้างอยู่
ให้สำเร็จแล้วเสร็จก่อนสภาจะหมดอายุในเดือนมีนาคมนี้
เพื่อไม่ให้ทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มใหม่
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #ชาติพันธุ์ก็คือคน