วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2565

"แอมเนสตี้" ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ รอบ 2 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,400 ราย ซัด เอื้อรัฐใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด สร้างภาระให้กับประชาชน

 


"แอมเนสตี้" ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ รอบ 2 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,400 ราย ซัด เอื้อรัฐใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด สร้างภาระให้กับประชาชน

 

วันนี้ (23 ก.ย. 2565) เวลา 10.00 น. ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (Amnesty International Thailand) พร้อมด้วยนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมตัวกันเพื่อเข้ายื่นหนังสือประกอบด้วย 6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง

 

สำหรับข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุด อย่างน้อย 1,467 คนที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าว โดยมีนายสมภาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือ

 

ด้านน.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1,467 คน 647 คดี โดยมีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีด้วยจำนวน 241 คน สำหรับการมายื่นหนังสือของพวกเราครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลนำกฎหมายมาปิดปากประชาชนเพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมือง โดยข้อเรียกร้องของเราประกอบด้วย

 

1. ขอให้ยุติการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิ์ที่ได้รับรองในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง

2. ขอให้อนุญาตและคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใด ๆ สามารถแสดงความเห็นของตัวเองและสามารถชุมนุมประท้วงโดยสงบได้ในพื้นที่อย่างปลอดภัย

3. ขอให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดๆอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่พึงมีและได้รับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและตามรัฐธรรมนูญ

4. ขอให้ดำเนินการให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ปฏิบัติตามยุทธวิธีและกฎหมาย

5. ขอให้มีการรับประกันว่ามาตรการต่างๆที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความถูกต้องและจำเป็น รวมถึงมีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระ เพื่อติดตามการนำมาใช้ได้

6. ขอให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ 2558 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ เพื่อนำมาใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะที่ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะ 1 ในประชาชนไม่น้อยกว่า 1,400 กว่าคนที่ถูกดำเนินคดี เป็นผู้ต้องหาตาม พ.ร.กฉุกเฉินนี้ และคิดว่าวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกับแอมเนสตี้ มาเรียกร้องต่อรัฐบาล ในการยกเลิกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. นี้ทันที และยุติกระบวนการการดำเนินคดีกับประชาชนผู้แสดงออกทางการเมืองที่โดนข้อหานี้ พร้อมทั้งอยากบอกว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรต่อประชาชนเลย ไม่มีผลต่อการช่วยป้องกันหรือควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของคนที่ถืออำนาจรัฐอยู่ในการกีดกันการแสดงออกของประชาชน เอื้อต่อการใช้อำนาจของรัฐอย่างไม่มีขีดจำกัด

 

ด้าน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่าตนโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาหลายสมัย ครั้งแรกเมื่อปี 2563 โดยตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแกนนำของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ก็ถูกจับไปขังในค่ายทหาร 30 วัน สุดท้ายไม่ส่งฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ แต่ไม่สามารถทวงคืนความยุติธรรมจากการสูญเสียอิสระภาพ เสรีภาพจากการที่ถูกคุมขังได้เลย เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ยกเว้นความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการกดขี่ประชาชนของรัฐบาล จริง ๆ ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เลย ดังนั้นจึงไม่สามารถเรียกว่าฉุกเฉินได้

 

ขณะที่นายสมพาศกล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลเรื่องโควิด ก็ขอรับข้อเสนอทั้งหมดไปดำเนินการ และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรกฉุกเฉิน #ยกเลิกพรกฉุกเฉิน