วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565

อ่านคำให้สัมภาษณ์ “นิว จตุพร” ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา 12 ก.ย. นี้


อ่านคำให้สัมภาษณ์ “นิว จตุพร” ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา 12 ก.ย. นี้

 

นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมทางการเมืองจากจังหวัดบุรีรัมย์วัย 24 ปี เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมในทุกครั้งเท่าที่จะสามารถ และกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในการชุมนุม #ภาษีกู ที่ วัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563

 

คดีของนิว ศาลอาญากรุงเทพใต้ทำการสืบพยานต่อเนื่องจนเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ในช่วงเวลาระหว่างการสืบพยาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีโอกาสได้พูดคุยกับนิวถึงทิศทางของการต่อสู้คดีและความรู้สึกต่อสถาบันกษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังถูกดำเนินคดี

 

เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว

 

เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว” คือคำตอบในทันทีทันใดของนิวเมื่อถูกถามถึงการประเมินผลของคดี

นิวบอกว่าการติดตามอ่านข่าวคดีของคนอื่นๆ ทำให้พอจะมองเห็นว่าคดีของตนเองอาจถูกตัดสินให้มีความผิด โดยเฉพาะคำพิพากษาในคดีโพสต์กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ของสมบัติ ทองย้อย ที่ไม่น่าจะเป็นความผิด ก็ถูกศาลเห็นว่ามีความผิด ดังนั้นแล้วนิวจึงเลือกที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ว่าอาจต้องสูญเสียเสรีภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นการสืบพยาน

 

แต่ถึงอย่างนั้น นิวก็ยังคงพูดติดตลกตามสไตล์ของตนเองว่า “อีกอย่างที่เตรียมไว้ก็คือ ถ้าได้เข้าไปจริงๆ แล้วจะไม่อดอาหาร แต่จะกินให้เยอะ กินอย่างมีความสุข จะกินให้ราชทัณฑ์งงไปเลย”

 

แค่แต่งชุดไทย เอาอะไรมาผิด?

 

เอาจริงมั้ยพี่ รู้สึกภูมิใจนิดนึงเหมือนกันนะที่โดนคดีนี้ เพราะมันทำให้เห็นเลยว่าประเทศนี้มีปัญหาเรื่องความอยุติธรรม คือแค่แต่งชุดไทยอ่ะ มันไม่ควรเป็นความผิด”

 

นิวพูดถึงความรู้สึกของตัวเองในฐานะที่กลายเป็นถูกกล่าวหาในคดี 112 ก่อนที่จะขยายความต่อไปถึงผลกระทบหลายอย่างที่เนื่องมาจากการถูกดำเนินคดี

 

พอโดนคดีแล้วชีวิตมันสะดุดนะ อย่างเช่นตอนช่วงที่มีนัดอัยการก็ต้องเดินทางไป-กลับระหว่างกรุงเทพฯ และบ้านอยู่บ่อยๆ เราไม่สามารถวางแผนชีวิตไปทำอย่างอื่นได้เลย เพราะต้องสแตนบายรอการเดินทาง ซึ่งบางครั้งก็ต้องเดินทางกว่า 800 กิโลเมตร มาเพื่อเซ็น 1 ลายเซ็น หรือไม่ก็มาเพื่อฟังคำว่า “เลื่อน’”

 

ในอีกทางหนึ่ง การถูกคดียังมีผลกระทบต่อการหางานด้วย เพราะการต้องมาตามนัดทุกครั้งจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถทำงานให้นายจ้างได้อย่างเต็มเวลา นิวเล่าว่า “พอเราโดนคดีแบบนี้ เราก็ทำงานได้ไม่เต็มเวลา แต่นายจ้างเขาต้องการคนทำงานแบบเต็มเวลา ซึ่งเราทำให้ไม่ได้เพราะติดพันอยู่กับคดี อันนี้ก็เข้าใจเขานะ นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ตอนนี้ว่างงาน”

 

นอกเหนือจากนี้ นิวยังบอกด้วยว่า 112 ได้พรากเอาความฝันของตนไปภายใต้คำว่า “เงื่อนไขของศาล”

 

ที่จริงนิวมีความฝันนะ ฝันว่าอยากจะไปเป็นเชฟ อยากไปทำอาหารไทยขายที่อเมริกา ซึ่งมันก็พอมีทางเป็นไปได้ แต่เพราะติดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศของศาล ความฝันมันก็เลยต้องหยุดไว้ก่อน”

 

ความเปลี่ยนแปลงของรอยสักเลข “๙”

 

สำหรับนิว จตุพร นอกจากภาพจำที่ชัดเจนนอกจากการแต่งชุดไทยสีชมพูที่แพร่หลายไปทั่วสังคมออนไลน์ และได้กลายมาเป็นเหตุแห่งคดีแล้ว ยังมีรอยสักหมายเลข “เก้า” ไทยเป็นเครื่องหมายประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง

 

นิวได้พูดถึงรอยสักนี้ไว้ว่า “ตอนนั้นสักช่วงที่ท่านเพิ่งเสียใหม่ๆ แล้วตอนนั้นก็พูดออกมาเลยว่า ขอให้ท่านอยู่ในผิวหนังลูกตลอดไป”

 

นิวเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองคือคนหนึ่งที่รักในหลวงมาก โดยเฉพาะ ร.9 เพราะได้รับการปลูกฝังจากทั้งที่บ้านและโรงเรียน “เคยรักมากถึงขึ้นที่มาเที่ยวตลาดสำเพ็ง เจอร้านขายเสื้อเหลืองแล้วก็วิ่งเข้าใส่เลย”

 

แต่มาครั้งนี้ นิวบอกว่ารอยสักเลขเก้าได้มีเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ซึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงก็เนื่องมาจากการถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม ม.112 นั่นเอง

 

ก็ไปเติมเส้นสีแดง 3 เส้นนี้มา เพิ่งไปเติมมาหลังจากถูกคดีนี้แหละ”

 

ทั้งนี้ นิวยังได้พูดถึงเรื่องความรักและไม่รักต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยว่า “จะเอาอะไรมาตัดสินว่าใครรักหรือไม่รักสถาบัน สำหรับตัวเองแล้วคิดว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าสถาบันไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ก็คือการถูกดำเนินคดีนี้ อยากให้สถาบันลองนึกดูดีๆ ว่าการที่ผู้คนเรียกร้องให้สถาบันปฏิรูป กับผู้คนที่ถือรูปแล้วไล่ตีคนอื่น แบบไหนที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสียมากกว่ากัน”

 

ความรู้สึกต่อกระบวนการสืบพยานในคดี

 

สำหรับคดี 112 ของนิว นับเป็นอีกหนึ่งคดีที่มีพยานบุคคลฝ่ายโจทก์เป็นจำนวนมาก แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ตรวจพยานบุคคลใหม่แล้ว ก็ยังมีพยานฝ่ายโจทก์ขึ้นเบิกความเป็นจำนวนกว่า 13 ปาก ทำให้การสืบพยานกินเวลาติดต่อกันหลายวัน

 

ตลอดเวลาหลายวันนั้น นิวบอกถึงความรู้สึกว่า “รู้สึกว่ากระบวนไม่ค่อยยุติธรรม ไม่เลย เท่าที่ฟังมาตลอดก็เห็นมีการจดบ้าง ไม่จดบ้าง เอาจริงก็อยากให้มีการบันทึกอะไรๆ ที่พอจะเป็นประโยชน์กับคดีของตัวเองบ้างเหมือน”

 

นอกจากนี้ ตลอดเวลาที่มีการสืบพยาน นิวมีสิ่งที่อยากสื่อสารกับคู่ความของตนเองด้วย นั่นก็คือว่า “ที่แต่งตัวแบบนั้นเพราะมันเป็นงานแฟชั่น และในชีวิตไม่มีโอกาสใส่ชุดไทยที่เป็นชุดประจำชาติ ก็เลยอยากใส่ ไม่ได้อยากจะเป็นใคร แค่อยากเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นชุดไทยก็แค่นั้น”

 

ที่มา : เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112