วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565

ใครทำน้ำท่วม! “ปลอดประสพ” ชี้สถานการณ์น้ำ เป็นเพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองละเลยหลักการสำคัญ แนะมาตรการแก้ไขน้ำท่วม 6 ข้อ

 


ใครทำน้ำท่วม! “ปลอดประสพ” อัดสถานการณ์น้ำ เป็นเพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองละเลยหลักการสำคัญ แนะมาตรการแก้ไขน้ำท่วม 6 ข้อ

 

วันนี้ (12 ก.ย. 2565) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นเพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองละเลยในเรื่องหลักการสำคัญ 6 ข้อจนทำให้ปัญหาไม่คลี่คลาย พร้อมชี้ปัญหาที่พบ 5 ข้อ และแนะมาตรการแก้ไขน้ำท่วม 6 ข้อดังนี้

 

ปลอดประสพ กล่าวถึงหลักการสำคัญของน้ำ 6 ประการ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ละเลยดังนี้

 

1. เรื่องน้ำเป็นงานในระดับยุทธศาสตร์ หากผู้บริหารบ้านเมืองควบคุมน้ำได้ จะสามารถดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้

2. ดำเนินยุทธวิธีที่ผิดพลาด ไม่มีความสามารถบริหารจัดการน้ำให้มี ‘ที่อยู่ที่ไป’ น้ำจึงท่วม

3. การบริการจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องทำทุกลุ่มน้ำ และต้องทำทุกจุด ทุกลุ่มน้ำ

4. การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องในทางวิชาการหลายแขนงที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน เช่นอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา บริหารน้ำขึ้นน้ำลง ความรู้ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม จึงต้องเชื่อมโยงความรู้ทุกแขนงเข้าด้วยกัน

5. หน่วยงานที่ทำงานเรื่องน้ำ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ และป้องกัน มีถึง 26 หน่วยงานแต่ทำงานแบบต่างคนต่างทำ รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลและรับผิดชอบสั่งทุกหน่วยงานให้บูรณาการกัน

6. ประเทศไทยอยู่ในช่วงลานิญญา ที่ลมจากตะวันออก พัดมาทางภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับสภาวะโลกร้อนทำให้ฝนตกมาก แต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศเหมือนสภาวะปกติ

 

จากการละเลยปัญหาทั้ง 6 ข้อข้างต้น ก่อให้เกิดความผิดพลาด 5 ประการคือ

 

1. แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้จัดทำแผนน้ำอย่างดีไม่ได้ใช้งบประมาณและไม่ได้สุ่มเสี่ยงกฎหมาย รัฐบาลกลับไม่ทำ และเอาเงินกว่า 1 แสนล้านไปใช้ไม่เกิดประโยชน์

2. งบประมาณ 1 แสนล้านบาท รัฐบาลเอาไปให้ทหารขุดลอกคลองจนต้องมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยุติโครงการ เพราะขุดลอกคลองหน้าฝนขึ้นมา โคลนก็ไหลกลับลงไปในคลอง

3. รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีการสร้างเขื่อนล้ำเข้ามาในลำน้ำ ซึ่งเป็นคลองหลัก เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว น้ำจึงไม่มีที่ไป

4. แต่ละหน่วยงานไม่มีการบูรณาการทั้ง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน เช่น เครื่องสูบน้ำ 10 เครื่องถูกรื้อถอนออกจากประตูระบายน้ำคลองรังสิต

5. การบริหารงานไม่โปร่งใส และล่าช้า เช่นโครงการขุดแม่น้ำแห่งใหม่ที่รัฐนำไปทำ แต่ใช้งบมากกว่า 3 เท่า ใช้เวลาสร้างนานกว่าเดิมไปมาก และยังสร้างถนนประกบสองข้างแม่น้ำซึ่งผิดหลักการ

 

ความละเลยผิดพลาดสะท้อนถึงความไม่รู้เรื่องของการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ พรรคเพื่อไทยจึงขอเสนอแนะ 6 วิธีการจัดการน้ำท่วมตามหลักวิชาการ ไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจเพื่อให้การแก้ไขน้ำท่วมทำได้ดีกว่าเดิม ดังนี้

 

1. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการ นรม.ต้อง สั่งหน่วยราชการนำเครื่องสูบน้ำที่กระจายทั่วประเทศกลับมากรุงเทพมหานคร ส่วน กรุงเทพมหานครก็ไปเตรียมจุดตั้งเครื่องสูบน้ำใหญ่เพื่อสูบจากคลองหลักไปลงเจ้าพระยา ส่วนเครื่องเล็กส่งไปตามสำนักงานเขต สูบในจุดน้ำท่วมไปคลองใหญ่เพื่อส่งต่อไปเจ้าพระยา

2. ควรประกาศให้ กทม.เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก ถือว่าเป็นพื้นที่ภายใต้สภาวะพิเศษ สามารถจัดซื้อเครื่องสูบน้ำจากต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ที่สิงคโปร์ สามารถขนส่งผ่านเครื่องบินมาได้ทันที

3. ใครที่สั่งให้ปล่อยน้ำลงมาทุ่งรังสิต ขอให้หยุดทำทันที และควรกระจายน้ำจากคลองรังสิตออกไปให้ครบ 3 ทิศทาง คือตะวันออก ตะวันตก และผ่านกรุงเทพไปลงเจ้าพระยา

4. น้ำระบายที่ไม่สามารถระบายได้ นอกเหนือจากปริมาณฝนที่ควบคุมไม่ได้ ต้องใช้เครื่องมือช่วย โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำ เป็นอุปกรณ์กลุ่มครุภัณฑ์สามารถเก็บไว้ใช้ในระยะยาวได้

5. ปัจจุบันนี้มีคอนโดมีเนียมจำนวนมาก ทุกคอนโดต้องยกระดับบั๊มเปอร์ให้สูงขึ้น และทำให้ใหญ่ขึ้น

6. กรุงเทพมหานครควรใช้ประโยชน์จากประตูระบายน้ำพระโขนง ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำในฝั่งตะวันออกของ กทม.และใกล้กับทางออกของน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #น้ำท่วมกรุงเทพ #เพื่อไทย