วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565

“เพื่อไทย” ออกแถลงการณ์ กรณีศาลรธน.มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกฯของ “ประยุทธ์” ยังไม่สิ้นสุด ชี้! การตีความน่าจะมีปัญหาและไม่มีกลไกตรวจสอบคำวินิจฉัย

 


“เพื่อไทย” ออกแถลงการณ์ กรณีศาลรธน.มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกฯของ “ประยุทธ์” ยังไม่สิ้นสุด ชี้! การตีความน่าจะมีปัญหาและไม่มีกลไกตรวจสอบคำวินิจฉัย

 

วันที่ 30 ก.ย. 2565 หลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุด โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และให้ พลเอกประยุทธ์ กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปนั้น พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความว่า

 

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยตามคําร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือไม่ กรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า…

 

ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา #ยังไม่สิ้นสุดลง โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับนั้น

 

จะเห็นได้ว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยดังกล่าว เชื่อได้ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและประชาชนในวงกว้างที่ไม่เห็นด้วยกับคําวินิจฉัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลผูกพันแห่งคําวินิจฉัย แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเหตุผลแห่งคําวินิจฉัย

 

เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การตีความต้องยึดตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 บัญญัติห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

 

ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แต่เมื่อถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็ยังคงมีผลใช้อยู่ต่อเนื่องมา ภายหลังวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การตัดตอนเอาวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา #ไม่อาจหาตรรกะใดมาอธิบายได้

 

อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดในบันทึกของคณะกรรมการร่าง รัฐธรรมนูญว่า ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับรวมด้วย อันถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

 

พรรคจึงเห็นว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความที่นักวิชาการกฎหมาย และสังคมต้องร่วมกันคิดว่าหลักคิดและเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีเหตุผล ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

รวมถึงช่วยกันทบทวนถึงบทบาท การทําหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะมีการทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร

 

พรรคเพื่อไทยมิได้กังวลว่าคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปจนถึงครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีกหลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

 

แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร และที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้อง ของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหาแต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป

 

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน พรรคเพื่อไทย

 

30 กันยายน 2565

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ศาลรัฐธรรมนูญ #8ปีประยุทธ์