วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565

“สาวนุ้ย” ได้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 9 หมื่น จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกัน ให้รายงานตัวกับผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน

 


“สาวนุ้ย” ได้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 9 หมื่น จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกัน ให้รายงานตัวกับผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน

 

วานนี้ (1 ก.ย. 2565) จากกรณีที่ “สาวนุ้ย” หรือ วรัณยา แซ่ง้อ สื่ออิสระวัย 48 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยเป็นการจับกุมในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จากกรณีการไปร่วมร้องเพลงของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น

 

วันนี้ (2 ก.ย. 2565) เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานว่าในช่วงสายวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวไปขออนุญาตศาลอาญาในการฝากขังผู้ต้องหา โดยตำรวจอ้างเหตุว่ายังต้องรอสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษ เป็นเหตุในการขอฝากขัง

 

พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากได้รับการปล่อยตัว เกรงว่าจะหลบหนีและผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน และอยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญากรุงเทพใต้ เกรงว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หรือทำผิดเงื่อนไขของศาล

 

ต่อมา ศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเมื่อการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ทางทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

 

ก่อนที่เวลาประมาณ 17.15 น. ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใด ๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา หรือกระทำไปในทางที่ทำให้เสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวกับผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “สาวนุ้ย” ได้เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 มาก่อน ในคดีกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยเธอไปไลฟ์สดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ถูกดำเนินคดีไปด้วย

 

จากการจับกุมในคดีนี้ ทำให้สถิติคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกปี 2563 เป็นต้นมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 229 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 210 คน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #มาตรา112