วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : พปชร.แพ้ขาด ประยุทธ์บนเส้นทางอำนาจ ชะตาขาดหรือไม่? : หัวใจไม่หยุดเต้น EP.53


พปชร.แพ้ขาด ประยุทธ์บนเส้นทางอำนาจ ชะตาขาดหรือไม่? : หัวใจไม่หยุดเต้น EP.53

 

ผลการเลือกตั้งซ่อมเขตจตุจักร-หลักสี่ออกมาไม่เหนือความคาดหมายนะครับ เพราะ “สุรชาติ เทียนทอง” จากพรรคเพื่อไทยเป็นเต็งหนึ่งมาตลอด ถึงที่สุดก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ตัวเลขคะแนนที่ออกมาคิดว่ามีหลายแง่มุมจะสนทนากัน

 

คะแนนของผู้ชนะเป็นการบวกกันระหว่างกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทย และตัวตนของคุณสุรชาติเองซึ่งเกาะติดพื้นที่ตั้งแต่วันแรกที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง จนมาถึงวันที่ได้รับโอกาสใหม่อีกครั้ง เป็นปัจจัย ++ ที่ทำให้ทิ้งห่างคู่แข่งขันค่อนข้างจะขาดลอย

 

ส่วนคะแนนของฝ่ายแชมป์เก่า คุณสิระ เจนจาคะ คราวนี้ต้องพูดกันชัด ๆ ว่ากระแสความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระแสความนิยมของพรรคพลังประชารัฐ รูดตกเหวลงไปพร้อม ๆ

 

ความเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถนำมาโฆษณาขายได้เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส่วน “พลังประชารัฐ” จากความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ความแตกแยกภายใน ทำท่าว่าพรรคจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็ทำให้ประชาชนที่เคยให้ความเชื่อมั่น ถอนใจ ถอนตัวออกมา เหตุการณ์แบบนี้เกิดเป็นคำถามด้วยซ้ำไปว่า เลือกตั้งใหญ่คราวหน้าจะยังมีพลังประชารัฐเป็นพรรคหลักพรรคหนึ่งในสนามหรือไม่?

 

มองในเชิงเปรียบเทียบก็มีภาพที่น่าสนใจนะครับ ระหว่างวัตรปฏิบัติของ “สุรชาติ เทียนทอง” ในวันที่ไม่ได้เป็นส.ส. กับวัตรปฏิบัติของ “สิระ เจนจาคะ” วันที่ได้เป็นส.ส. ชัยชนะของ “สุรชาติ เทียนทอง” เป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าถ้านักการเมืองไม่ว่าจะมีหรือไม่มีตำแหน่ง หากยังเกาะติดพื้นที่ทำงานเพื่อประชาชน แม้ยังไม่ได้เข้าไปนั่งในสภา แต่จะได้เข้าไปนั่งในที่ที่อบอุ่นปลอดภัยยิ่งกว่า คือในหัวใจประชาชน ส่วนคนที่ได้เข้าไปนั่งในสภาแล้ว ถ้าหากบทบาทหรือแม้กระทั่งความประพฤติเป็นที่ขัดหูขัดตาประชาชน คะแนนแบบเขตหลักสี่ก็จะปรากฏออกมา

 

ผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง “เพชร กรุณพล” จากพรรคก้าวไกล ก็ถือว่ามีก้าวย่างที่น่าสนใจทางการเมือง และอนาคตมีเส้นทางที่จะไปต่อได้ คะแนนที่ได้มาแม้ไม่มากพอจะเป็นผู้ชนะ แต่มากพอสำหรับการเริ่มต้น และพรรคก้าวไกลก็ได้ประกาศตัวว่าไม่ใช่พรรคที่ใครจะมองข้ามได้ง่าย ๆ ในการเลือกตั้งสนามใหญ่ครั้งต่อไป

 

ส่วนพรรคกล้า ถึงแม้ว่าคุณอรรถวิชช์ เลขาธิการพรรค ในฐานะผู้สมัครจะประกาศพึงพอใจกับผลคะแนนที่ได้รับ แต่ก็ยังมีคำถามข้อใหญ่ว่าหากประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครลงด้วยในเขตนี้ ผลคะแนนของพรรคกล้าจะเป็นอย่างไร? คงเป็นเรื่องที่คุณกรณ์ คุณอรรถวิชช์ และชาวคณะจะต้องทำงานและพิสูจน์ตัวเองกันต่อไป

 

โดยสรุปคือผลการเลือกตั้งคราวนี้เป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตย เมื่ออำนาจมาถึงมือประชาชน ก็พร้อมที่จะตัดสินใจใหม่ตลอดเวลา ผู้ชนะเมื่อวานไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ชนะวันนี้ และผู้ชนะวันนี้อาจจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในวันต่อไป สำคัญก็คือว่า ใครจะช่วงชิงความยอมรับ ใครจะเข้าไปนั่งในหัวใจประชาชนได้มากกว่ากันเท่านั้นเอง

 

การเลือกตั้งคราวนี้แม้จะไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงกับการเมืองในภาพใหญ่ แต่รหัสสัญญาณที่ปรากฏออกมา ก็พอจะหยิบยกมาวิเคราะห์ความเป็นไปทางการเมืองได้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงตรงนี้ฟันธงว่าอยู่ยาก ไม่ใช่ยากธรรมดานะครับ โคตรยาก!

 

อายุรัฐบาลเหลือปีกว่า ๆ มีคำถามแล้วครับว่ารัฐบาลชุดนี้จะจบลงอย่างไร?

 

คำตอบตามวิถีการเมืองแบบสังคมไทยก็มองได้ 3 ประการด้วยกันล่ะครับ 1) นายกรัฐมนตรีลาออก เลือกนายกฯ กันใหม่ 2) เกิดการรัฐประหาร หรือ 3) ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

 

ตัวเลือกที่ 1 คือการลาออก ผมไม่เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจแบบนี้ เนื่องจากว่าถ้ามีการลาออก เป้าหมายสำคัญก็หวังต้องการจะกลับมาสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ลาออกคราวนี้ เผลอ ๆ จะกลับมาไม่ได้เอานะครับ เพราะขนาดอยู่ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มยังคุมสภาพไม่อยู่ พรรคตัวเอง ลูกน้องตัวเอง แตกกันเละ ซัดกันนัว คะแนนเลือกตั้งออกมาไม่ทันข้ามคืน ร.อ.ธรรมนัส โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับผู้ชนะ ประกาศว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตรแห่งตน” ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะเลือกใช้วิธีการลาออกให้ขาลอยแล้วโดนสอยไม่ได้กลับมา

 

เรื่องรัฐประหาร ส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าในสังคมไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ก็ตามนะครับ แต่การรัฐประหารคราวนี้ใช้ต้นทุนทางการเมืองของฝ่ายอำนาจนิยมสูงอย่างยิ่ง และคาดเดาผลลัพธ์ยากเหลือเกิน แม้ว่าจะทำสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะคุมสถานการณ์หรือปกครองได้ง่าย ๆ ที่สำคัญก็คือ ผมคิดว่าถ้าจะเป็นการรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ วันนี้สถานการณ์มันเลยจุดนั้นมาแล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังกลายเป็นสินค้าหมดสภาพ แล้วต้องสิ้นอายุขัยไปทางการเมืองแล้วหรือเปล่า?

 

วิธีคิดของฝ่ายอำนาจนิยมในประเทศนี้น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งนะครับ คือเขาจะเลือกใช้คนหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจนคนกลุ่มนั้นหมดสภาพ เลิกใช้ แล้วก็เปลี่ยนไปใช้คนกลุ่มใหม่ รัฐประหารปี 49 มีบันได 4 ขั้น คมช. ชัดเจนว่าจะให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เลือกตั้งแพ้ก็ล้มนายกฯ สมัคร, นายกฯ สมชาย เอาอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในค่ายทหารจนได้ แต่เมื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” บริหารประเทศล้มเหลว เลือกตั้งพ่ายแพ้ขาดลอยต่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกอีกต่อไป

 

ยึดอำนาจคราวหลังสุด รัฐธรรมนูญจึงเขียนเปิดทางให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และกำหนดเอาไว้เลยว่าต้องชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่วันนี้วันที่พล.อ.ประยุทธ์หมดสภาพขนาดนี้ ผมไม่เชื่อว่าฝ่ายกุมอำนาจจะทุ่มทุนสร้างขว้างทุนเสี่ยงเพียงเพื่อจะเอาประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อโดยขัดกับความต้องการของประชาชน ดังผลคะแนนเขตหลักสี่ออกมาแล้วชัดขนาดนี้

 

ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในทัศนะของผมก็คือ การยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

 

จริงอยู่ครับ ยุบสภาคราวนี้พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ได้รับคะแนนสูงสุดเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้ แม้ว่าจะมีส.ว. 250 คนค้ำอยู่ก็ตาม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าฝ่ายคุมอำนาจหาตัวแทนเข้ามาได้ เอาพล.อ.ประยุทธ์ไปเก็บไว้ในที่ใดที่หนึ่งที่รู้สึกว่าปลอดภัย เกมมันอาจจะเดินออกมาแบบนี้ จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จึงเป็นอำนาจของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่นี่แหละครับที่จะตัดสินใจในสนามเลือกตั้งกันอย่างไร?

 

ถ้ายังรักยังห่วงพล.อ.ประยุทธ์ ก็หลับหูหลับตาตามเลือกกันเข้าไปนะครับ แต่ถ้าไม่แล้วต้องคว่ำกระดานเทกระจาด พรรคไหนประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องไม่มีคะแนนจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตย หรือถ้าเขาจะเอาคนอื่นมาเป็นตัวแทน ก็ต้องจับให้ได้ไล่ให้ทัน แล้วก็เททิ้งไปด้วยกันนั่นแหละครับ

 

#ณัฐวุฒิใสยเกื้อ

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์