24 มิถุนาพร้อมแนวร่วม ร้อง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบ"นายกฯ-ตำรวจ" ใช้พรก.ฉุกเฉินโดยสุจริตหรือไม่ หลังถูกหมายเรียกวันสิทธิมนุษยชนสากล "ก้าวไกล"จ่อเชิญ "ประยุทธ์-ประวิตร" เข้าแจง - ชี้ ประเทศจะไปต่อได้ต้องปฏิรูปกฎหมาย-ตุลาการ
วันนี้ (25 ก.พ. 65) เวลา 11.20 น. ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนกลุ่มกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อม น.ส.เพลง ทัพมาลัย นายกองค์การบริหารนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยื่นหนังสือต่อนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในวันที่ 10 ธ.ค. 2564
ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ทางกลุ่มได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ปรากฏว่าผู้ร่วมกิจกรรม 5 คนถูกออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สน.นางเลิ้ง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะไปยื่นหนังสือ และทำกิจกรรมในวันสิทธิมนุษยชนรวม 25 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน หลังไปร่วมกิจกรรม countdown ในวันส่งท้ายปีใหม่ เพื่อเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองที่หน้าเรือนจำคลองเปรมทั้งที่ขออนุญาตแล้ว แต่ขณะเดียวกันสถานที่อื่น ๆ ก็จัดงาน Countdown กลับไม่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงผ่อนปรนให้กับกลุ่มทุนที่จัดงาน countdown แต่ดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุและคุกคามประชาชนหรือไม่
โดย น.ส.เพลง กล่าวว่า พวกเราเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาฐานร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 64 เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลที่พวกเราได้ไปเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนใน 7 ประเด็น เช่น การใช้มาตรา 112 กับประชาชน ซึ่งตลอดเวลาของการทำกิจกรรมในวันนั้น พวกเราสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างตามมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นได้มีการส่งหมายเรียกจาก สน.นางเลิ้ง มายังพวกเรา โดยระบุว่าพวกเรากระทำผิด ย้อนถามกลับไปว่าพวกเราไปเรียกร้องสิทธิซึ่งเป็นสิทธิของพวกเราอยู่แล้วเป็นความผิดหรือไม่ และการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการกล่าวอ้างว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำมาเพื่อป้องกันโควิด แต่ 2 ปีที่ผ่านมาก็ยังมีคนเสียชีวิต ซึ่งไม่ได้เป็นการป้องกันโควิดเลยแต่เป็นการนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
"ฉะนั้น วันนี้จึงมายื่นหนังสือถึง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ให้ตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ว่าใช้อำนาจโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย และขอให้ยับยั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร" น.ส.เพลง กล่าว
ด้านนายณัฐชา ประธานกมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของกมธ. และจะเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและดูแลด้านความมั่นคงมาชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุกับกลุ่มผู้ชุมนุมและเลือกปฏิบัติหรือไม่ ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกลจะผลักดันร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมรัฐบาลในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการออกประกาศแต่ละครั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน จากนั้นคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก็จะต้องรายงานให้สภาฯ ทราบหลังจากที่ประกาศใช้
ขณะที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะทำงาน กมธ. กล่าวว่า สถานการณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาปราบปรามประชาชน ซึ่งเป็น พ.ร.ก. ที่ถูกออกแบบไว้ใช้เพื่อสถานการณ์ความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรียกว่าเป็นการนำกฎหมายมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัว และยังมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงมาใช้กับคดีความทางการเมืองมากถึง 1,767 คดี และเป็นการใช้ พ.ร.ก. มากถึง 1,428 คดี เห็นได้ชัดว่านอกจากใช้กฎหมายผิดฝาผิดตัวแล้วยังนำมาใช้อย่างสองมาตรฐาน จะเห็นได้จากการชุมนุมในบางครั้ง เช่น ที่สนามหลวงมีผู้ชุมนุมอยู่สองฝั่ง คนละสีเสื้อ คนละจุดยืน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับอยู่ฝั่งเดียว เราจะเห็นได้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมถึงสถาบันตุลาการ ไม่เช่นนั้นประเทศเราไปต่อไม่ได้
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์