วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

‘ก้าวไกล’ สานต่อภารกิจอนาคตใหม่ ยื่นรอบ 2 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 10 ฉบับ ยกระดับคุณภาพชีวิต คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้คนเท่าเทียมกัน

 


‘ก้าวไกล’ สานต่อภารกิจอนาคตใหม่ ยื่นรอบ 2 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 10 ฉบับ ยกระดับคุณภาพชีวิต คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้คนเท่าเทียมกัน


วันนี้ (18 ก.พ. 65) ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายสุเทพ อู่อ้น, น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเเรงงาน และ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 6 เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับคุ้มครองแรงงาน จำนวน 10 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เป็นผู้รับเรื่อง


นายพิธา กล่าวว่า การยื่น ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของพรรคก้าวไกล ครั้งแรกเคยยื่นในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ เเต่มีการให้เหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนส่งเข้าสู่สภาจากนั้นก็ถูกปัดตกไป


ในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของ ส.ส.ปีกแรงงานและคณะทำงานของพรรคก้าวไกล โดยได้แยกกฎหมายออกเป็น 10 ฉบับ ก่อนยื่นครั้งที่ 2 สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 10 ฉบับ มีสาระสำคัญมุ่งพัฒนาชีวิตผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าประสงค์ว่า หาก ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 10 ฉบับ ผ่าน จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ที่ดี แรงงานได้รับความคุ้มครองการทำงานมากขึ้น


ขณะที่ นายสุเทพ กล่าวว่า ในครั้งเเรกยื่นไป 7 ฉบับ เเต่โดนนายกฯ ปัดตกไป ครั้งนี้พรรคก้าวไกลมาสานงานต่อจากอดีตพรรคอนาคตใหม่เพื่อทำให้สำเร็จ โดยมีการแก้ไขรายมาตรา ทั้ง 10 ฉบับ


โดยฉบับที่ 1 เเก้ไขในมาตรา 4 ว่าด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในหน่วยงานราชการ ราชการภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายฉบับนี้ เราต้องการให้มีการคุ้มครองอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม

ฉบับที่ 2 มาตรา 5 เรื่องการจ้างแรงงาน

ฉบับที่ 3 มาตรา 15 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างเท่าเทียมเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติฉบับที่ 4 มาตรา 23 เเก้ไขในเรื่องชั่วโมงการทำงานต้องไม่เกิน 50 ชั่วโมง

ฉบับที่ 5 มาตรา 28 ให้ลูกจ้างมีวันหยุดใน 1 สัปดาห์ อย่างน้อย 2 วัน

ฉบับที่ 6 มาตรา 30 ในเรื่องใช้สิทธิวันลาหยุดพักผ่อน ปรับเป็นปีละ 10 วัน

ฉบับที่ 7 มาตรา 41 ในเรื่องสิทธิการลาคลอดบุตรเพิ่มเป็น 180 วัน โดย 90 วันเเรกเป็นของเเม่ และ 90 วันหลังเป็นของพ่อหรือเเม่ให้ตกลงกันเองในการเลี้ยงดูบุตร ฉบับที่ 8 มาตรา 53 เรื่องของการทำงานล่วงเวลาควรต้องเป็นอัตราที่เท่าเทียมกัน ฉบับที่ 9 มาตรา 57 ให้มีการปรับค่าจ้างประจำปีให้ล้อกับค่าครองชีพ

ฉบับที่ 10 มาตรา 23/1 เน้นในเรื่องของการจ้างงานในสถานประกอบการ ต้องมีการจ้างงานเป็นรายเดือนทั้งหมด


ด้านเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า มารับเรื่องเเทน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้เเทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ โดยจะนำไปเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่กระบวนการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อบรรจุเป็นวาระต่อไป รวมไปถึงขอเป็นกำลังใจให้แก่สมาชิกทุกท่านที่ร่วมกันเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน


#ก้าวไกล

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์