วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

“เพื่อไทย” แถลงภาพรวมอภิปราย ม.152 และเหมืองทองอัครา “จิราพร” เผย 6 พฤติกรรมนายกฯ ประเด็นเหมืองทองอัคราจะเป็นประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้

 


“เพื่อไทย” แถลงภาพรวมอภิปราย ม.152 และเหมืองทองอัครา “จิราพร” เผย 6 พฤติกรรมนายกฯ ประเด็นเหมืองทองอัคราจะเป็นประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้


วันนี้ (21 ก.พ. 65) เวลา 11.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ได้มีการแถลงข่าว “ภาพรวมอภิปราย ม.152 และเหมืองทองอัครา” โดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย และ น.ส. จิราพร สินธุไพร สงส.ร้อยเอ็ด กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย


น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า “ทั้ง ๆ ที่เรามีประสบการณ์ผ่านมาหลายครั้งหลายครา แต่วันนี้ปัญหากลับมาอยู่ที่พี่น้องประชาชนอีกแล้วที่จะต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง เงินกู้แต่ละครั้งที่กู้มา บอกว่าจะแก้ไขปัญหาด้านโควิด ดิฉันมั่นใจว่าไม่พอ และนี่ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่าเมื่อไม่มีเงินให้ใช้แล้วก็ขอไปเสียดีกว่า ก็อย่าขอให้เป็นอย่างนั้นเลยนะคะ ถ้าจะไปก็ขอให้ไปด้วยความสำนึกของตนเอง อย่าไปด้วยว่าไม่มีเงินให้ท่านใช้อีกแล้วท่านเลยจะไป”

 

“ดิฉันเรียนว่าวันนี้ทางพรรคเพื่อไทยอยากที่จะเห็นบ้านเมืองได้รับการดูแลจากผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ ถ้าหากท่านยอมรับสักนิดว่าท่านไม่มีความสามารถเพียงพอ ได้โปรดทำเพื่อประเทศชาติ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชนเถอะค่ะ” นี่คือสิ่งที่เราจะขอฝากไปถึงรัฐบาลและพี่น้องประชาชนได้ช่วยกันติดตาม” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

 

ต่อมา น.ส.จิราพร สินธุไพร กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการอภิปรายโดยที่ไม่มีการลงมติ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านต่อรัฐบาลในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติต่อฝ่ายบริหารตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านได้ซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และเป็นโอกาสที่พี่น้องประชาชนจะได้รับฟังคำชี้แจงเหตุผลของรัฐบาลในประเด็นที่ถูกอภิปราย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง #เหมืองทองอัครา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจและเคลือบแคลงสงสัยของคนไทยทั้งประเทศ


น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอประเด็นนี้มาไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง รวมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 แต่ปรากฏว่าการอภิปรายเรื่อง #เหมืองทองอัครา ทุกครั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมในการชี้แจงหรือตอบคำถามที่แทบจะเหมือนเดิมทุกครั้ง ซึ่งยิ่งจะสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในพี่น้องประชาชนต่อประเด็นนี้เพิ่มขึ้นไปอีก


น.ส.จิราพร กล่าวในรายละเอียดว่า พฤติกรรมแรกของพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ ตอบเหมือนเดิม ตั้งแต่ที่ ส.ส.สุทิน คลังแสง, ส.ส.ชลน่าน ศรีแก้ว รวมถึงตนเองได้หยิบยกเรื่อง #เหมืองทองอัครา มาอภิปราย ตัวพล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่ลุกขึ้นมาตอบคำถามแทน กลับใช้ข้อมูลชุดเดิมที่ฟังไม่ขึ้นมาชี้แจงซ้ำซาก เช่นกรณีที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการใช้ ม.44 ก็จะตอบแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า เพื่อจะปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ย้ำจุดยืนหลายครั้งว่าเห็นด้วยที่รัฐบาลจะเข้าไปดูแลปกป้องในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน แต่ต้องใช้กฎหมายปกติเข้าไปจัดการ พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการใช้ ม.44 เข้าไปจัดการ ซึ่งตอนนี้ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าการใช้ ม.44 นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว ชาวเหมืองก็ต้องตกงาน ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ กระทบการค้าการลงทุน สร้างความเสียหายให้กับประเทศเพิ่มขึ้น สุดท้ายต้องเปิดเหมืองคืนให้กับบริษัทอัคราฯ แล้วยังต้องให้พื้นที่สำรวจแร่ทองคำเพิ่มอีกมหาศาล


พฤติกรรมที่สองของพล.อ.ประยุทธ์ คือเลือกตอบบางคำถาม แต่เป็นการตอบที่ไม่ตรงคำถาม โดยตนได้ซักถามว่าเหตุใดจึงมีการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดไปหลายครั้ง ได้รับคำตอบโดยอ้างว่าเพราะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ การไต่สวนและสืบพยานหลักฐานของคดี #เหมืองทองอัครา เสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 63 และคณะอนุญาโตตุลาการพร้อมอ่านคำชี้ขาดนานแล้ว แต่เพราะมีการขอเลื่อนการอ่านคำชี้ขาด จึงยังไม่มีการตัดสิน และในเอกสารที่ตนได้แสดงต่อสภานั้น ชัดเจนว่าบริษัท คิงส์เกตฯ ได้แถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย วันที่ 23 ก.ย. 64 ว่าไทยกับคิงส์เกตฯ ขอเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทกัน แล้วยังระบุด้วยว่ามีการเจรจาต่อรองในทั้งหมด 11 ประเด็น


น.ส.จิราพร สรุปว่า ที่เลื่อนไปไม่ใช่โควิด19 แต่เพราะว่ามีการเจรจาต่อรองกัน และเป็นหลักฐานชัดเจน จะเห็นว่าทั้ง ๆ ที่มีเอกสารหลักฐานแสดงต่อสภา แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่ชี้แจงแทน ก็ยังปฏิเสธเสียงแข็ง จึงตั้งคำถามต่อว่า นี่คือการพูดเท็จกลางสภาหรือไม่?


พฤติกรรมที่สามของพล.อ.ประยุทธ์ คือไม่ตอบคำถาม สิ่งที่คนไทยอยากรู้มากที่สุดก็คือไทยถูกฟ้องร้องในประเด็นใดบ้าง และถูกเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ สำคัญที่สุดคือถ้าประเทศไทยแพ้คดีขึ้นมา คนที่ต้องรับผิดชอบคือ “ประยุทธ์” หรือ “ประเทศ” ปรากฏว่าเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่กล้าที่จะชี้แจงให้กับประชาชนให้รับทราบ เราอยากได้ยินจากปากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากได้ยินจากคิงส์เกตฯ เหตุที่ปิดเพราะว่าพล.อ.ประยุทธ์ละอายต่อสิ่งที่ตัวเองทำผิดมหันต์ใช่หรือไม่? แต่ถึงจะละอายต่อความผิดพลาด แต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้เกรงกลัวต่อบาป ยังมีพฤติการณ์เอาสมบัติของประเทศไปแลกเพื่อให้มีการถอนฟ้อง ซึ่งเดิมพื้นที่ที่พิพาทกันมีเพียงแค่ 3 พันกว่าไร่ แต่พอเกิดคดีพิพาทและคดียังไม่จบ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กลับรีบอนุมัติคืนพื้นที่ดังกล่าวคืนให้บริษัทอัคราฯ นอกจากนี้ยังได้พื้นที่สำรวจเพิ่มอีกกว่า 4 แสนไร่ และจ่อจะอนุญาตเพิ่มอีก 6 แสนไร่ น.ส.จิราพร กล่าว


ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตรวจสอบแล้วว่าบริษัทอัคราฯ เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตให้สำรวจแร่ในพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย พฤติกรรมเช่นนี้ยิ่งทำให้สงสัยว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอาสมบัติชาติไปแลกกับการถอนฟ้อง นอกจากนี้ตนยังตั้งคำถามถึงคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่และการขอสำรวจแร่ในพื้นที่จำนวนเกือบ 6 แสนไร่ที่ค้างอยู่ของบริษัทอัคราฯ ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย จ.พิษณุโลก ตนถามว่าทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้บริษัทอัคราเข้าทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การไม่ตอบคำถามยิ่งทำให้พี่น้องประชาชนไม่สบายใจในประเด็นดังกล่าว น.ส.จิราพร กล่าว


น.ส.จิราพร กล่าวถึงการตั้งคำถามต่อไปว่า หากไทยมั่นใจว่าจะชนะคดี ทำไมจึงมีการเจรจาประนอมยอมความระหว่างไทยกับคิงส์เกตฯ ได้รับคำตอบว่าไทยตามคำแนะนำคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย แต่อย่าลืมว่าคิงส์เกตฯ ฟ้องร้องประเทศไทยและเราตกเป็นจำเลย ถูกเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าไทยยืนยันว่า ม.44 เป็นสิ่งที่ถูกต้องและมั่นใจว่าจะชนะคดีแน่นอนเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เคยตอบคำถามสภาไว้ ก็ต้องยืนสู้คดีจนถึงที่สุด ถ้าไทยชนะก็ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียวและจะได้เงินชดเชยคืนกลับมาด้วย การไปเจรจาประนีประนอมยอมความทั้ง ๆ ที่เคยยืนยันว่าประเทศไทยจะชนะคดีแน่นอนนั้น จึงเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในตัวเอง


นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันหนักแน่นว่าการอนุมัติให้นำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัติไว้ออกขาย การอนุญาตให้สำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ 4 แสนไร่ และการต่อประทานบัติทำเหมืองชาตรี 4 แปลง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความ และถ้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความ แล้วไทยเอาอะไรไปเจรจากับเขา แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็บ่ายเบี่ยง ไม่ตอบคำถามในประเด็นนี้


พฤติกรรมที่สี่ของพล.อ.ประยุทธ์ คือให้คนอื่นตอบคำถามแทน ซึ่งตามหลักการนั้น การยื่นญัตติมาตรา 152 เป็นการยื่นญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่ออภิปรายซักถามและเสนอแนะปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ตามมารยาทต้องให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นชี้แจง ตอบคำถามด้วยตัวเอง ซึ่งวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ในสภาด้วยเหมือนกัน


พฤติกรรมที่ห้าของพล.อ.ประยุทธ์ คือกล่าวโทษทุกคนยกเว้นตัวเอง ทุกครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ลุกขึ้นชี้แจงจะโทษทุกคน โทษฝ่ายค้าน โทษประชาชน โทษรัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่เคยโทษตัวเอง ล่าสุดมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นชี้แจงโดยใช้วิธีเหมือนจะโยนความผิดเรื่องเหมืองทองอัครา ให้กับท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยเอาภาพตอนท่านทักษิณฯ ไปเปิดเหมืองทองอัคราในปี 2544 มาแสดงต่อสภา คล้าย ๆ จะบอกว่าจุดศูนย์กลางของปัญหาคดีเหมืองทองอัคราเริ่มต้นจากท่านทักษิณฯ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะแม้เหมืองทองอัคราจะได้สิทธิ์บีโอไอและได้เริ่มดำเนินการผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ในปี 2544 ตรงกับยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยพอดี แต่แท้จริงแล้วเหมืองทองอัคราจดทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536 และเริ่มสำรวจแร่ในประเทศไทยปี 2537 ต่อมาได้รับประทานบัตรทำเหมืองรวมเหมืองทองชาตรีใต้ในปี 2543 ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีรัฐบาลไทยรักไทยเสียอีก ท่านทักษิณฯ ไปทำพิธีเปิดเหมืองตามตำแหน่งหน้าที่ในตอนนั้น แต่จุดศูนย์กลางของปัญหาไม่ได้เกิดจากท่านทักษิณฯ มันเกิดจากการใช้ ม.44 ที่ลุแก่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร จึงทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ดิฉันของเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “อย่ามีพฤติกรรมที่นึกอะไรไม่ออกก็โทษตระกูลชินวัตรไว้ก่อน” ประชาชนเขาเอือมระอากับพฤติกรรมนี้เต็มทนแล้วน.ส.จิราพร กล่าว


พฤติกรรมที่หกของพล.อ.ประยุทธ์ คือข่มขู่ผู้อภิปราย เพราะนอกจากจะไม่ตอบคำถามหรือตอบแล้วไม่ตรงคำถาม ยังพยายามเบี่ยงเบนประเด็นโดยข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องฝ่ายค้าน การอภิปรายครั้งนี้ก็เช่นกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาข่มขู่ดิฉันว่าให้ระวังการนำเสนอข้อมูลให้ดี ซึ่งดิฉันขอตอบ ณ ตรงนี้ว่าดิฉันไม่กลัว เพราะเอกสารหลักฐานที่ดิฉันนำมาแสดงต่อสภา เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของบริษัทคิงส์เกตฯ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเข้าไปดูได้ หากจะบอกว่าเอกสารนั้นเป็นเท็จ ท่านต้องไปฟ้องร้องกับบริษัทคิงส์เกตฯ เอาเอง ถ้าไม่ฟ้องก็เท่ากับว่าข้อมูลตามเอกสารนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด น.ส.จิราพร กล่าว


น.ส.จิราพร กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คำพูดของชายชาติทหารที่ไร้สัจจะ ไม่ได้ทำให้ตนหวั่นไหวหรือเกรงกลัวในการทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเลยแม้แต่น้อย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ฯ ชายชาติทหารคนนี้ที่บอกว่ารักชาติรักแผ่นดินที่สุด และจะรับผิดชอบคดีเหมืองทองอัคราเอง วันนี้กลับมีพฤติกรรมกลับกลอกผิดคำพูดตัวเอง เอางบประมาณแผ่นดินกว่า 731 ล้านบาท ไปใช้ในการต่อสู้คดีเหมืองทองอัคราที่ต้องเองก่อขึ้น โยนความรับผิดชอบให้เป็นภาระของประชาชน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ฯ มีความเป็นสุภาพบุรุษชายชาติทหารที่พูดแล้วไม่คืนคำ ก็ขอให้คืนเงิน 731 ล้านบาทเข้าคลังแผ่นดินด้วย


สุดท้าย น.ส.จิราพร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องอภิปรายเรื่องเหมืองทองอัครามา 4 ครั้ง เพราะเราต้องการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาแล้วโยนบาป โยนความรับผิดมาให้พี่น้องประชาชนต้องมารับผิดชอบแทน สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและคนทั้งประเทศไม่อยากเห็นก็คือประเทศไทยต้องแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าโง่ที่เกิดจากความไม่ฉลาดและลุแก่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ สิ่งที่เราไม่อยากเห็นไปกว่านั้นก็คือการที่พล.อ.ประยุทธ์ฯ กำลังเอาทรัพย์สมบัติของประเทศไปชดใช้แทนความผิดของตัวเอง ซึ่งถ้าคำนวณออกมาแล้วมันอาจจะมากมายมหาศาลที่ไทยจะต้องชดใช้เป็นเงินในกรณีที่แพ้คดีเสียอีก เราไม่มีปัญหาหากบริษัทอัคราจะได้สิทธิ์การทำเหมืองคืนตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง แต่เราไม่เห็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศของรัฐบาลโดยการไปเจรจาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด


ดังนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะจับตาต่อไปก็คือ เราจะติดตามว่าข้อตกลงแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ในการเจรจาประนีประนอมยอมความนั้นถูกต้องสุจริตหรือไม่ โดยใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรทุกช่องทาง และร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนที่มีอยู่ในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น หากพบว่ามีความผิดปกติและส่อทุจริต แน่นอนว่าประเด็นเรื่องเหมืองทองอัคราจะเป็นประเด็นสำคัญที่ใช้ในการอภิปรายครั้งที่ 5 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ และจะมีการเอาผิดทางกฎหมายแน่นอน น.ส.จิราพร กล่าวในที่สุด


#เพื่อไทย #UDDnews #ยูดีดีนิวส์